กำเนิดแบรนด์ดังสายสตรีท ที่คอแฟชั่นยุค 2019 ไม่ควรตกเทรนด์
Share
“สตรีทแฟชั่น หรือสตรีทแวร์ เป็นแฟชั่นที่หลากหลาย และสามารถสวมใส่ได้ในหลากหลายโอกาส”
- สตรีทแฟชั่นไม่มีรูปแบบตายตัว โดยส่วนใหญ่จะเน้นไปที่รองเท้า Sneakers เท่ๆ เป็นหลัก
- สตรีทแฟชั่นในไทย จะเน้นไปที่การแต่งตัวแบบสบายๆ เรียบ แต่เท่ แต่งได้ไม่ยาก และเหมาะกับอากาศของประเทศไทยเรา
กล่าวได้ว่าในช่วงหลายๆ ปีที่ผ่านมา หรือในปัจจุบันนี้เอง “สตรีทแบรนด์” ถือเป็นกลุ่มแบรนด์แฟชั่นที่ได้รับความนิยมเป็นอันดับต้นๆ ของโลก เพราะด้วยแฟชั่นแนวนี้จะให้ความรู้สึกถึงความเท่ ซึ่งสามารถใส่กันได้โดยไม่จำกัดเพศ โดยสตรีทแบรนด์ต่างๆ ก็มักจะเน้นเสื้อผ้าไปที่กึ่งสปอร์ตแวร์ หรือไม่ก็ออกแนวโอเวอร์ไซส์ไปเลย
แน่นอนว่าปัจจุบันมีสตรีทแบรนด์เกิดขึ้นมาเป็นจำนวนมาก แต่วันนี้ MOVER จะขอหยิบสตรีทแบรนด์อย่าง Supreme, Stussy, Anti social social club และ Off white ซึ่งเป็นสตรีทแบรนด์ที่ได้รับความนิยมมากๆ มาแนะนำให้รู้จักกัน พร้อมบอกเหตุผลถึงจุดเด่นของแต่ละแบรนด์แบบละเอียดยิบ !!
Supreme
Supreme เป็นหนึ่งในสตรีทแบรนด์ที่เคยฮอตฮิตมากๆ แค่ในวงการนักสเก็ตบอร์ด และสตรีทเเวร์ในฝั่งของนิวยอร์ค แต่ในปัจจุบัน Supreme มีอายุแล้วกว่า 20 ปี และเปลี่ยนตัวเองจนก้าวเป็นแนวหน้าด้านสตรีทแบรนด์ของโลกแฟชั่นในยุคปัจจุบัน โดยถ้าให้ย้อนเวลากลับไป Supreme เกิดขึ้นมาได้โดย James Jebbia ผู้ก่อตั้งแบรนด์ชาวอังกฤษ นั่นเอง
ประวัติการกำเนิดแบรนด์ Supreme
Jebbia เป็นชาวอเมริกา แต่มาใช้ชีวิตอยู่ในอังกฤษ ก่อนจะย้ายกลับไปอเมริกาอีกครั้งในวัย 20 ปี และเริ่มต้นเป็นพนักงาน ร้านเสื้อผ้า Parachute ย่าน SoHo พร้อมเปิดแผงขายเสื้อผ้าวินเทจ ที่ตลาดขายของเก่าในย่าน Manhattan ในปี 1983 และมีเพื่อนสนิทที่ทำงานด้วยกันคือ Eddie Cruz เจ้าของแบรนด์ Undefeated ในปัจจุบัน ต่อมาในปี 1989, Jebbia เปิดร้านขายเสื้อผ้าของตนเองบนถนน Spring Street จนปี 1991 เขาก็ได้ทำการขายกิจการ และไปร่วมงานกับ Stüssy
ในขณะนั้นแม้ว่า Jebbia จะไม่ใช่นักสเก็ตบอร์ด แต่เขาก็แทบจะอยู่ในวงการนี้ เพราะเขามีเพื่อน และสนิทกับนักสเก็ตบอร์ดหลายๆ คน จนเขาเกิดความคิดที่อยากจะเปิดร้านเสื้อผ้าสำหรับเหล่านักสเก็ตบอร์ดขึ้นโดยเฉพาะ เพราะในขณะนั้นอเมริกายังไม่มีแบรนด์เกี่ยวกับสเก็ตบอร์ดที่ดีออกมาเลย
จนปี 1994 ความฝันเขาก็เป็นจริง Jebbia พบตึกแห่งหนึ่งแถวถนน Lafayette ซึ่งสมัยนั้นแถวนั้นยังค่อนข้างเงียบ ถือเป็นทำเลที่ดีสำหรับเหล่านักเสก็ตบอร์ด Jebbia จึงทำการลงทุนเช่าที่ รวมถึงสร้างแบรนด์ขึ้นมาเป็นจำนวนเงินมากถึง 12,000 เหรียญ และกำเนิดแบรนด์ Supreme มาได้ในที่สุด
Supreme ไม่ได้มีความหมายอะไรมากมาย Jebbia คิดว่ามันเป็นคำที่เท่ดี เลยตั้งมันขึ้นมาเท่านั้น โดยเริ่มแรกสินค้าของ Supreme มีเพียงเสื้อยืด 3 ลาย คือ Box Logo, Afro Skater และ Travis Bickle Box เท่านั้น โดยร้าน Supreme ถูกออกแบบมาให้สำหรับนักสเก็ตบอร์ดโดยเฉพาะ
ในร้านจะมีพื้นที่ให้ไถสเก็ตบอร์ดเข้ามาได้ รวมไปถึงพนักงานคนแรกของร้านเอง ก็ยังเป็นนักสเก็ตบอร์ดชื่อดังอย่าง Gio Estevez และ Aaron Bondaroff นอกจากนี้ Supreme ยังก่อตั้ง Supreme Skate Team ที่สนับสนุนนักสเก็ตบอร์ดในท้องถิ่นอีกด้วย
Supreme โด่งดังด้วยกระแสปากต่อปาก และรู้จักกันเป็นวงกว้าง เคยถูกฟ้องโดย Calvin Klein แต่ก็ถูกยกฟ้องไปในภายหลัง นอกจากนี้ความโด่งดังของ Supreme ยังเกิดมาจากการจับมือกับแบรนด์ชื่อดังต่างๆ ตั้งแต่แบรนด์รองเท้า เสื้อผ้า ไปจนถึงนาฬิกา และยังมีโอกาสได้ร่วมงานกับเหล่าศิลปินชื่อดังอีกมากมาย จนยิ่งเวลาผ่านไป Supreme ก็ยิ่งได้รับความนิยมมากยิ่งขึ้น
จุดเด่นของแบรนด์ Supreme
Supreme มักจะออกสินค้าค้าแบบที่ไม่ตามกระแสใคร แต่จะสร้างเทรนด์ หรือสไตล์อันโดดเด่นของตนเองขึ้นมา ซึ่งหลายๆ ผลงานของ Supreme ก็แหวกกฎของการออกแบบจนเราคาดไม่ถึง ทั้งนี้ Supreme จะเน้นนำเสนอเรื่องราวเกี่ยวกับ Street Culture และ Pop Culture พร้อมเชิดชู Art Culture รวมไปถึงการหยิบแบรนด์ต่างๆ มาล้อเลียนในสไตล์ Parody อยู่บ่อยๆ
Supreme จะเปิดตัวคอลเลคชั่นเพียงปีละ 2 ครั้ง คือ Spring/Summer และ Fall/Winter โดยทุกครั้งก่อนเปิดตัว จะมีการโชว์สินค้าผ่านทาง Facebook และ Instagram ซึ่งสินค้าในตอนนี้ของ Supreme ไม่ได้จำกัดอยู่แค่เพียงเสื้อผ้าอีกต่อไป แต่ยังรวมไปถึงเครื่องประดับ หรือของใช้อื่นๆ และแม้ว่าสินค้าทุกชิ้นของ Supreme จะมีราคาที่สูง แต่มันก็สมเหตุผลกับคุณภาพที่เราได้รับกลับมา
Supreme จะขายสินค้าใหม่ทุกวันพฤหัส และบนเว็บไซต์ออนไลน์ในอีกพฤหัสต่อไป ส่วนการประกาศสินค้าจะมีในวันพุธตอนกลางคืน เพราะไม่อยากให้เหล่าแฟนๆ มาปูเสื่อ หรือมานอนรอหน้าร้านก่อนหลายวัน โดยการจะได้สินค้าของ Supreme ไปครอบครอง จำเป็นต้องมาต่อคิวล่วงหน้า และต้องมีดวงได้เข้าร้านก่อนของจะหมด โดยเมื่อของหมด ทางร้าน Supreme จะทำการปิด และรอคอลเลคชั่นถัดไปถึงเปิดใหม่
เหตุที่ Supreme ผลิตสินค้าตนเองออกมาอย่างจำกัด ก็เพราะไม่อยากให้สินค้าของตนเองไร้ค่า และต้องวางทิ้งไว้เพราะไม่มีใครซื้อ จนต้องนำออกมาขายลดราคา เพื่อล้างสต๊อก ปัจจุบัน Supreme มีร้านทั้งหมด 10 สาขา คือ New York, LA, London, 6 สาขาในญี่ปุ่น โดยแบ่งเป็น 3 สาขาในโตเกียว ในเมืองนาโกย่า โอซาก้า และ ฟุกุโอกะ, และใน Paris
Stüssy
Stüssy เป็นสตรีทแบรนด์แนวหน้าอีกแบรนด์ที่มีประวัติอันยาวนาน (กว่า 30 ปี) โดย Stüssy เดินทางมาไกลจากฝั่งแคลิฟอร์เนีย และได้รับความนิยมมากๆ ในแถบเอเชีย โดยทางแบรนด์กำเนิดขึ้นมาจากไอเดีย และแรงบันดาลใจของ นักโต้คลื่นแคลิฟอร์เนียที่ชื่อว่า Shwn Stussy ทำให้เสื้อผ้าแบรนด์นี้มีไลฟ์สไตล์ความรู้สึกแบบการโต้คลื่น ที่ผสมผสานไปกับศิลปะ และดนตรี
ประวัติการกำเนิดแบรนด์ Stüssy
Shawn Stussy คือชายหนุ่มนักเซิร์ฟบอร์ดแห่งแคลิฟอร์เนีย ที่ให้กำเนิดแบรนด์ Stüssy ขึ้นมา เพราะความหลงไหลในสกี และเซิร์ฟบอร์ด ทำให้เขาออกแบบลายกระดานโต้คลื่นของตัวเองตั้งแต่อายุ 13 ปี และหลังเรียนจบ Shawn ทำงานเป็นครูสอนสกีอยู่บนเขา Mammoth Mountain และใช้ชีวิตอยู่ที่หาด Newport Beach ในช่วงหน้าร้อน เพื่อทำงานในบริษัทผลิตกระดานโต้คลื่นอย่าง Russell Surfboard นั่นทำให้เขาได้ทำงานที่เขารัก พร้อมได้เล่นเซิฟร์บอร์ดไปพร้อมๆ กัน
จน Shawn มีอายุถึงวัย 24 ปี เขาก็ตัดสินใจสร้างธุรกิจของตนเองขึ้นมาในปี 1979 ด้วยการออกแบบแผ่นกระดานโต้คลื่นของตนเองออกมา และปล่อยวางจำหน่ายแถวย่าน Laguna Beach ซึ่งเป็นแหล่งรวมตัวของเหล่าบรรดานักเล่นเซิร์ฟบอร์ดชั้นนำ โดยเอกลักษณ์ผลงานของ Shawn ก็คือลายเซ็นของตัวเขาเอง ที่ใช้เทคนิคการเขียนที่ไม่ได้ยกปากกาขึ้นเลย ทำให้ลายเส้นมีความคล้ายคลึงกับการเขียนแท็กของศิลปินกราฟิตี้ตามกำแพง หรือรถไฟใต้ดินในสมัยนั้น
โดยหลังจากนั้นไม่นาน Shawn มีโอกาสได้เปิดบูธของตนเองในงาน Action Sport Retailer ซึ่งเป็นมหกรรมสินค้าเกี่ยวกับเซิร์ฟบอร์ดที่ใหญ่ที่สุดในแคลิฟอร์เนีย ในงานเขาได้เอาเสื้อยืดเปล่าๆ ของ Hanes สีดำมาสกรีนลายเซ็นของตัวเอง และนำออกไปตั้งโชว์พร้อมกับแผ่นกระดานโต้คลื่นของตัวเขา แน่นอนว่าเขาไม่สนใจกำไรใดๆ จากสินค้าชิ้นนี้ แต่ในเวลาเพียง 3 วันที่เขามาเปิดบูธ กลับมีคนสนใจเป็นจำนวนมาก และต้องการเป็นเจ้าของเสื้อตัวนี้ จน Shawn สามารถขายเสื้อได้ตัวละ 8 ดอลลาร์ และได้กำไรจนเขาก็ยังไม่อยากเชื่อ
6 เดือนต่อมา Stüssy มาพร้อมกับเสื้อยืดลายใหม่อีก 2 แบบ และกางเกงสำหรับเล่นเซิร์ฟบอร์ด ที่ Shawn ทำการซื้อกางเกงทหารจากจากสงครามเวียดนามมาให้แม่ของเขาตัดขาให้ใหม่ เพื่อให้กลายเป็นกางเกงสำหรับเล่นกระดานโต้คลื่น ด้วยความแปลก ทำให้มันกลายเป็นที่ต้องตาต้องใจของเหล่าบรรดานักเล่นเซิร์ฟในยุคนั้นเป็นจำนวนมาก จนเขาต้องผลิตมันออกมาเพิ่มอีกร้อยตัว
แม้ว่าในปี 1980 แบรนด์ Stüssy จะประสบความสำเร็จทั้งในแง่รายได้ และชื่อเสียง แต่ Shawn กลับไม่คิดผลักดันแบรนด์ Stüssy ต่อแต่อย่างใด จนเพื่อนของเขา Frank Sinatra Jr. เสนอทุน 5,000 ดอลลาร์ และกลายเป็นหุ้นส่วนในธุรกิจนี้ จนในปี 1986 แบรนด์ Stüssy ก็ได้จดทะเบียนขึ้นเป็นบริษัทอย่างเป็นทางการ
ความโด่งดังของ Stüssy ในระดับโลก เริ่มจากการร่วมงานกับศิลปิน วงหรือดนตรีที่มีความเกี่ยวข้องกับวัฒนธรรมป๊อบคัลเจอร์ของโลกในช่วงเวลานั้น โดยการออกแบบหน้าปกอัลบั้มให้กับ Malcolm Mclaren แฟนหนุ่มของ Vivien Westwood ดีไซน์เนอร์ผู้ทรงอิทธิพลมากที่สุดในวงการพั้งค์
ในปี 1992 แบรนด์ Stüssy ได้เปิดร้าน Stüssy Union ขึ้น ที่ย่าน La Brea ในลอสแอนเจลิส โดยเป็นร้านขนาดใหญ่ที่แบ่งตัวร้านออกเป็น 2 ส่วน คือส่วนที่ขายสินค้าของ Stüssy โดยเฉพาะ และอีกส่วนสำหรับแบรนด์อื่นๆ ด้วยการเติบโตที่รวดเร็ว และอาจไม่พอใจในทิศทางของธุรกิจ รวมถึงอยากให้เวลากับครอบครัวมากกว่า ในปี 1996 ผู้ก่อตั้ง Shawn ก็ได้ทำการวางมือจากตัวแบรนด์ และทำการขายหุ้นทั้งหมดให้กับ Sinata
จุดเด่นของแบรนด์ Stüssy
สัญลักษณ์ของแบรนด์ Stüssy ก็คือลายเซ็นต์ของ Shanw ไม่ว่าจะอดีต หรือปัจจุบัน ก็ไม่เคยเปลี่ยนแปลงไปแต่อย่างใด นั้นทำให้กราฟฟิกของแบรนด์นี้ค่อนข้างมีเอกลักษณ์ และคงเดิมตลอดเวลา Stüssy ยังโด่งดังจากการหยิบสัญลักษณ์แบรนด์ของ Chanel มา Parody ใหม่จนเกิดเป็นลายกราฟิกของตนเองขึ้นมา ซึ่งเป็นสัญลักษณ์รูป Double S และ Stussy No.4 ที่เราต่างรู้จักกันเป็นอย่างดี
Stüssy เป็นแบรนด์ที่มีจุดยืน และอิทธิพลเป็นอย่างมากในดนตรีฮิปฮอป นอกจากนี้ Stüssy ยังมีชื่อเสียงในแง่ภาพที่นำมาใช้โปรโมท ซึ่งคัดช่างภาพจากคาแรคเตอร์ และฝีมือเป็นหลัก จึงสามารถสร้างสรรค์ภาพออกมาให้มีเอกลักษณ์ของตนเองได้
Stüssy ไม่ได้จำหน่ายแค่เสื้อผ้าเท่านั้น ในญี่ปุ่นแบรนด์นี้ได้เปิดร้านที่ชื่อว่า Stüssy Livin’ General Store ขึ้นมา และทำการจำหน่ายเครื่องใช้เกี่ยวข้องกับไลฟ์สไตล์ที่ใช้กันอยู่ในชีวิตประจำวัน ไม่ว่าจะเป็นชุดจานชาม โต๊ะ เก้าอี้ สินค้าพวกแคมป์ปิ้ง และอื่นๆ อีกมากมาย Stüssy ยังมีผลงานร่วมกับแบรนด์ดังๆ อีกหลายเจ้า โดยเฉพาะพวกรองเท้าชื่อดังจากค่ายต่างๆ
Anti Social Social Club
Anti Social Social Club ถือเป็นสตรีทแบรนด์สุดแปลก ที่อยู่ดีๆ ก็โด่งดังขึ้นมา ซึ่งแบรนด์นี้ไม่ได้มาจากฝั่งยุโรป เหมือน 2 แบรนด์ด้านบน แต่มาจากฝั่งของเอเชีย ประเทศเกาหลี ด้วยการสร้างตัวตนอย่างแข็งแรงบน E-Commerce
ประวัติการกำเนิดแบรนด์ Anti Social Social Club
Anti Social Social Club เกิดจากการที่ Neek Lurk หนุ่มเกาหลีผู้จัดการฝ่ายขายของแบรนด์ Stüssy (อีกแล้ว) ที่เริ่มเบื่อกับสังคมจอบปลอม ทำอะไรไม่ตรงไปตรงมา และชอบใส่หน้ากากเข้าหากัน เขาจึงได้สร้างพื้นที่บน E-Commerce สำหรับคนที่ไม่มีเพื่อนบนโลกโซเชียล หรือโดดเดี่ยว ได้มาพูดคุย และช้อปปิ้งด้วยกัน
เริ่มแรกทางแบรนด์ก็มีแค่ของทั่วๆ ไป ขาย เช่น หมวก เสื้อยืด ไม้เบสบอล ไปจนถึงรถยนต์ แต่ด้วยความเรียบง่าย ทันสมัย และความน่าสนใจของสตรีทแฟชั่น ทำให้ Anti Social Social Club ดังเป็นพลุแตกอย่างรวดเร็ว
จนมีเซเลบหลายๆ คนที่หยิบเสื้อของแบรนด์ไปใส่ และนั่นยิ่งทำให้ตัวแบรนด์โด่งดังแบบก้าวกระโดดยิ่งกว่าเดิม จนเริ่มออกคอลเลคชั่นต่อเนื่องอย่างจริงจังขึ้น และทุกคอลเลคชั่นจะขายหมดแทบจะทันทีที่เปิดขาย ทำให้มันมีราคาที่ถีบตัวสูงขึ้นกว่าเดิม เมื่อนำไปขายต่อ
จุดเด่นของแบรนด์ Anti Social Social Club
กล่าวได้ว่า Anti Social Social Club ใช้ไอเดีย และคอนเซ็ปต์ในการขายของก็ว่าได้ เพราะสินค้าที่ออกมาส่วนใหญ่จะเจาะตลาดไปยังกลุ่มวัยรุ่นเป็นหลัก โดยใช้สัญลักษณ์ Anti Social Social Club เป็นตัวแสดงออกถึงการเบื่อสังคมจอมปลอม ที่ชอบใส่หน้ากากเข้าหากัน
Off white
สำหรับสตรีทแบรนด์สุดท้ายที่ขอหยิบมาแนะนำในวันนี้ก็คือ Off-White สตรีทแบรนด์ที่นำสตรีทแวร์ เข้ามาผสมผสานกับสุนทรีย์ของงานศิลปะแบบแฟชั่นระดับสูง โดยถ่ายทอดผ่านทางวัฒนธรรมวัยรุ่นในยุคปัจจุบัน ซึ่ง Off-White ก็ไม่ใช่แบรนด์ที่มีอายุยาวนานเท่ากับ Supreme หรือ Stüssy แต่อย่างใด เพราะพึ่งก่อตั้งขึ้นเมื่อปี 2013 หรือเมื่อ 6 ปีที่แล้ว โดย Virgil Abloh อดีต Creative Director ที่คอยดูแลศิลปินชื่อดัง รวมไปถึง Fashion Icon ระดับโลกอย่าง Kanye West
ประวัติการกำเนิดแบรนด์ Off-White
อย่างที่กล่าวในข้างต้น Off-White เกิดขึ้นมาได้ด้วยฝีมือของ Virgil เมื่อเขาต้องการความท้าทายใหม่ๆ มากขึ้น เขาจึงก้าวออกจากเซฟโซนของเขา และก่อกำเนิดแบรนด์ของตนเองขึ้นมา โดย Virgil เรียนจบจากคณะวิศวกรรมศาสตร์ และศึกษาต่อในระดับปริญญาโทคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ในสถาบัน Illinois Institute of Technology เขาเรียนรู้ทั้งเรื่องของการออกแบบ ไปจนถึงการทำงานร่วมกับผู้อื่น และการวางแผนในการทำงาน
เริ่มแรก Virgil ต้องการสร้างผลงานในแนวสตรีทแวร์ ที่เขาเรียกมันว่า Pyrex Vision ออกมา เขาจึงทำการสร้างแบรนด์ Pyrex Vision ขึ้น ก่อนที่จะปิดตัวลง และเปิดตัวใหม่ในแบรนด์ที่ชื่อว่า Off-White ในเวลาต่อมา เพราะ Virgil มองว่า Pyrex Vision มันเป็นเพียงผลงานศิลปะของเขา และมันไม่ใช่แบรนด์ของแฟชั่นเลย เขาจึงมองแนวทางใหม่ที่จะสร้างแบรนด์ให้อยู่กึ่งกลางระหว่าง High-Fashion และสตรีทแวร์
หลังจากเปิดตัวผลงานชิ้นแรก Off-White ถูกคิดว่า เป็นเพียงแบรนด์ที่แยกตัวออกมาจาก Pyrex Vision เพราะด้วยการออกแบบและดีไซน์ที่ดูคล้ายกัน รวมถึง Box Logo สีขาวขนาดเล็กที่อยู่บนกางเกง และเสื้อยืดที่ดูแล้วแทบจะไม่แตกต่างกันเลย ซึ่งแค่เปลี่ยนจากคำว่า Pyrex มาเป็นคำว่า White นั่นจึงทำให้เกิดกระแสวิจารณ์ว่า มันดูไม่แตกต่างจากแบรนด์เดิมเลยสักนิด
โดยชื่อ Off-White เกิดขึ้นจากการเล่นคำของตัว Virgil ที่ต้องการใช้คำสั้นๆ เพื่อให้มันออกมาเป็นชื่อ และมีความหมายไปพร้อมๆ กัน โดย Off-White เกิดจากการเล่นคำของ Blank Canvas ที่แปลว่าผ้าใบที่ว่างเปล่า Virgil อยากได้ความหมายที่เหมือนกัน จึงใช้สีในการอธิบายความหมายของแบรนด์แทน
จุดเด่นของแบรนด์ Off-White
เอกลักษณ์ของ Off-White เป็นเหมือนดั่งผลงานที่แสดงตัวตนของ Virgil ออกมา โดยผลงานของเขาก็ได้รับแรงบันดาลใจมาจากงานสถาปัตยกรรมต่างๆ ที่เขาทำการออกแบบ และพบเห็นในชีวิตประจำวัน ทั้งนี้แม้ว่า Off-White จะมีราคาเทียบเท่าได้กับสินค้าระดับ Hi-End หรือ Luxury Brand แต่ด้วยวิธีการออกแบบ สไตล์ของเขา และวิธีการผลิต ถือว่าอยู่ในระดับเดียวกับผลงาน Hi-End หรือ Luxury Brand ของแบรนด์ชื่อดังหลายๆ เจ้า
นั่นทำให้ Off-White มีความแตกต่างจากผลงานสตรีทแวร์ของแบรนด์อื่นๆ ที่มีราคาถูก เปลี่ยนแปลงได้ง่าย และไม่เหมือนใคร แต่ Off-White กลับก้าวขึ้นไปอยู่สูงกว่าสตรีทแวร์อื่น เพราะ Virgil ต้องการแสดงถึงระดับสติปัญญาในการออกแบบที่เขามี โดยเขาคิดว่ามีวิธีที่จะยกระดับสตรีทแวร์ให้สูงขึ้นได้ ในขณะที่กระแสแฟชั่นแนวสตรีทยังคงดำเนินต่อไปเรื่อยๆ นั่นเอง
Off-White คือตัวตนของ Virgil ที่ต้องการสร้างสิ่งที่มันตรงข้ามกับตัวเขา และทำในสิ่งที่เขาชอบ กล่าวได้ว่าเขาเป็นคนชอบแฟชั่น แต่ก็ชอบแต่งตัวแบบเรียบๆ ทั้งนี้แนวทางในการออกแบบของ Virgil เรียกได้ว่าแหวกแนวไปจากสูตรของดีไซเนอร์ที่เรียนจบด้านแฟชั่นมาโดยตรง
เพราะการทำงานของเขาบางครั้งก็เรียบง่ายมากๆ แค่ เสิร์ชหาเสื้อยืดสีขาวเปล่าบน Google Image ลากลง Adobe Photoshop และเล่นกับเครื่องมือต่างๆ บนโปรแกรมจนได้ดีไซต์ที่คิดว่าใช่ ส่วนฟอนต์ของ Off-White ก็ใช้เหมือนกับ Pyrex Vision และร้าน RSVP Gallery ของเขาก็นำมาจากเว็บไซต์ 1001 Fonts ที่ให้โหลดได้ฟรี สิ่งเหล่านี้แสดงอิทธิพลต่อเยาวชนอย่างมหาศาล เพราะมันคือการบอก และให้แรงบันดาลใจกับทุกๆ คนว่า ใครๆ ก็สามารถเป็นดีไซเนอร์และประสบความสำเร็จได้เหมือนเช่นตัวเขา แค่คุณต้องมีกิมมิกที่เหนือกว่าคนอื่นเท่านั้นเอง