Type to search

Lifestyle

เคล็ดลับปรับ “4 พื้นที่สำคัญ” ของบ้านเติมความปลอดภัยในการอยู่อาศัย by SCG

Share

SCG

“เอสซีจี เอลเดอร์แคร์ โซลูชั่น” แนะเคล็ดลับ ปรับ 4 พื้นที่สำคัญของบ้าน
เติมความปลอดภัยในการอยู่อาศัยเพื่อความสุขของผู้สูงอายุและทุกคนในบ้าน

จากสภาวะสังคมไทยที่กำลังก้าวสู่สังคมผู้สูงอายุโดยสมบูรณ์ในปี 2564 ทำให้ทั้งภาครัฐและเอกชน
หันมาให้ความสำคัญกับการเตรียมความพร้อมเพื่อก้าวสู่สังคมผู้สูงอายุกันมากขึ้น โดยเฉพาะด้านที่อยู่อาศัย เพราะผู้สูงอายุมักใช้ชีวิตประจำวันส่วนใหญ่อยู่ภายใน ”บ้าน” เนื่องจากสภาพร่างกายของผู้สูงอายุจะเปลี่ยนแปลงไป โดยมีความเสื่อมถอยของกล้ามเนื้อ กระดูก ระบบประสาทสัมผัส รวมถึงสภาพจิตใจ ดังนั้น “เอสซีจี เอลเดอร์แคร์ โซลูชั่น” ในฐานะผู้เชี่ยวชาญด้านการเตรียมที่อยู่อาศัยสำหรับผู้สูงอายุ จึงขอแนะเคล็ดลับปรับ 4 พื้นที่สำคัญของบ้าน ซึ่งเป็นพื้นที่ที่มักเกิดอุบัติเหตุกับผู้สูงอายุมากที่สุด เพื่อเติมเต็ม การอยู่อาศัยในบ้านของผู้สูงอายุให้สมบรูณ์ พร้อมมอบความปลอดภัย สะดวกสบาย และสุขภาวะที่ยืนยาว

นางสาวปวีร์มน ทองราช ผู้เชี่ยวชาญด้านการออกแบบที่อยู่อาศัยสำหรับผู้สูงอายุ (Design Consultant)
จากเอสซีจี เอลเดอร์แคร์
โซลูชั่น กล่าวว่า การออกแบบและปรับบ้านให้เหมาะกับการอยู่อาศัยของผู้สูงอายุ ต้องคำนึงถึง 5 องค์ประกอบหลัก ได้แก่ Safety ความปลอดภัยเพื่อลดความเสี่ยงต่อการเกิดอุบัติเหตุหกล้ม Ease of use อุปกรณ์ต่างๆ ควรใช้งานง่าย สะดวกและออกแรงน้อย Eligible ดีไซน์ให้เหมาะสมกับสภาพร่างกายและข้อจำกัดของแต่ละบุคคล Accessibility การจัดพื้นที่และอุปกรณ์ที่เอื้อต่อการเคลื่อนตัว หรือก้าวเดิน และ Stimulation การฟื้นฟูความมีชีวิตชีวาผ่านการจัดสภาพแวดล้อม

นอกจากนี้ยังพบว่าในแต่ละปี 1 ใน 3 ของผู้สูงอายุที่มีอายุ 65 ปีขึ้นไป มักประสบปัญหาการหกล้ม และแนวโน้มการเกิดอุบัติเหตุเพิ่มขึ้นตามอายุที่มากขึ้นด้วย ซึ่งบริเวณที่เกิดการหกล้มบ่อย ได้แก่ ห้องนอน ห้องน้ำ พื้นที่ขึ้นลงบันได และภูมิทัศน์รอบบ้าน ด้วยเหตุนี้ เอสซีจี เอลเดอร์แคร์ โซลูชั่น จึงแนะเคล็ดลับปรับพื้นที่สำคัญของบ้าน ด้วยแนวคิด เอจเลส ลีฟวิ่ง (Ageless Living) ที่มุ่งให้ผู้สูงอายุสามารถดำเนินชีวิตได้อย่างอิสระ ปลอดภัย ลดเส้นแบ่งทางอายุและขีดจำกัดของร่างกาย ให้สามารถทำกิจกรรมต่างๆ ภายในบ้านกับครอบครัวได้อย่างมีความสุข

ห้องนอน ห้องนอนสำหรับผู้สูงอายุควรอยู่ชั้นล่างเพื่อลดการขึ้นลงบันได อยู่ในบริเวณที่มีความสงบ เป็นส่วนตัว
และมีอากาศถ่ายเทได้สะดวก

  • พื้น ควรปูด้วยวัสดุลดแรงกระแทกและไม่ควรมีพื้นที่ต่างระดับ เพื้อป้องกันการสะดุด หกล้ม
  • เตียงนอน เลือกขนาดให้เหมาะสมกับผู้สูงอายุ ปรับระดับความสูงได้ มีราวจับข้างเตียง ฟูกที่นอนไม่แข็ง หรือนิ่มเกินไป พร้อมแนะให้มีพื้นที่บริเวณข้างเตียง 90-100 ซม. เพื่อให้สามารถเข้าไปดูแลได้และรองรับการใช้งานรถเข็น

  • ภายในห้องนอน ติดตั้งราวจับบริเวณที่มีการลุกนั่ง มีไฟส่องสว่างอัจฉริยะที่สามารถเปิดปิดอัตโนมัติ
    ด้วยการตรวจจับความเคลื่อนไหวอย่างแม่นยำ เพื่อนำทางเดินจากเตียงนอนไปกลับห้องน้ำในยามค่ำคืน
  • เฟอร์นิเจอร์ แนะนำให้มีโต๊ะข้างเตียงที่หยิบของได้สะดวก ตู้เสื้อผ้า ชั้นวางของควรมีระดับความสูงที่เหมาะสมกับผู้ใช้งาน
  • ประตู ไม่ควรมีธรณีประตูเพื่อป้องกันการสะดุด เลือกแบบบานเลื่อนเปิด-ปิด ที่มีระบบรางแขวนด้านบนตัวล็อค
    ใช้งานง่าย ใช้แรงน้อย

ห้องน้ำ เป็นพื้นที่ที่มีความเสี่ยงต่อการลื่นล้มสูง นอกจากการคำนึงถึงขนาดของห้องน้ำที่ควรกว้างอย่างน้อย 200 ซม. เพื่อรองรับการใช้รถเข็น ยังแนะนำให้มีการแบ่งพื้นที่โซนห้องน้ำเพื่อความปลอดภัยในการใช้งาน ดังนี้

  • พื้นที่โซนแห้ง เลือกใช้อ่างล้างหน้าแบบแขวนผนังที่สามารถรองรับน้ำหนักการเท้าแขนของผู้สูงอายุ หรือเลือกอ่างแบบฝังครึ่งเคาน์เตอร์ เพื่อให้มีพื้นที่ใต้อ่างสะดวกต่อการใช้งานของรถเข็น ก๊อกน้ำควรเป็นแบบก้านโยก หรือก้านปัด ส่วนโถสุขภัณฑ์ควรเป็นแบบนั่งราบ มีระดับความสูงให้เหมาะสม ให้ลุกนั่งง่าย เท้าไม่ลอย และติดตั้งราวจับบริเวณข้างโถสุขภัณฑ์

  • พื้นที่โซนเปียก แนะนำให้มีที่นั่งอาบน้ำที่มีความแข็งแรง ขนาดและความสูงเหมาะกับผู้สูงอายุ โดยฝักบัวควรติดตั้งอยู่บริเวณด้านข้างของที่นั่ง ก้านฝักบัวสามารถปรับระดับความสูงได้ เลือกใช้วาล์วเปิด-ปิดน้ำ
    ที่สามารถคุมอุณหภูมิได้ ติดตั้งราวจับบริเวณพื้นที่อาบน้ำ ที่สำคัญควรใช้กระเบื้องปูพื้นที่มีค่าความฝืด
    ตั้งแต่ R10 ขึ้นไป เพื่อป้องกันการลื่นล้ม รวมไปถึงการติดตั้งราวจับโดยเฉพาะพื้นที่อาบน้ำ

พื้นที่ขึ้นลงบันได หากห้องนอนผู้สูงอายุอยู่ชั้นบน อาจทำให้ปวดเข่าเวลาขึ้นลงบันได หรืออาจสะดุดพลัดตกจากบันได ดังนั้นควรให้ปรับมีความกว้างที่เหมาะสม ลูกตั้งบันไดสูงไม่เกิน 15 ซม. ลูกนอนกว้างอย่างน้อย 30 ซม. จมูกบันไดมีสีแตกต่างจากพื้นผิวของบันไดเพื่อให้สังเกตเห็นความแตกต่างของบันไดชัดเจน ควรมีราวบันไดทั้ง 2 ข้าง ในระยะ 80 ซม. จากพื้น และมีแสงสว่างให้เพียงพอ หรือแนะนำให้ติดตั้ง “ลิฟท์บันได” เพื่อช่วยอำนวยความสะดวกได้

ภูมิทัศน์รอบบ้าน ทางเข้าบ้านและบริเวณสวน พื้นทางเดินควรเรียบ มีที่นั่งสำหรับชมธรรมชาติเป็นระยะ ที่นั่งพักควรมีราวจับ หรือเท้าแขน เพื่อช่วยในการพยุงตัวลุกได้สะดวก ในกรณีที่มีทางลาดเข้าบ้าน ควรมีความชัน ไม่เกิน 1:12 มีพื้นที่ว่างหน้าทางลาดไม่น้อยกว่า 150 ซม. ใช้วัสดุพื้นผิวไม่ลื่น มีขอบกั้นและราวจับตลอดแนวทางลาด สำหรับความกว้างทางเดินควรกว้างอย่างน้อย 90 ซม. เพื่อรองรับการใช้รถเข็น นอกจากนี้หากผู้สูงอายุชอบการทำสวน ควรเลือกการปลูก ในกระบะ ที่ระยะความสูงประมาณ 60-80 ซม. หรือปลูกต้นไม้แบบสวนแนวตั้ง

เพราะบ้านคือพื้นที่สำคัญที่ควรใส่ใจในการปรับให้สมาชิกในครอบครัวทุกเพศทุกวัยสามารถใช้ชีวิตร่วมกันได้อย่างมีความสุข ทั้งนี้นอกจากข้อแนะนำข้างต้น การปรับบ้านยังต้องคำนึงถึงลักษณะทางกายภาพและสมรรถภาพทางร่างกายในการดำเนินกิจกรรมต่างๆ ของผู้สูงอายุ ดังนั้นจึงควรปรึกษาผู้เชี่ยวชาญ โดยผู้ที่สนใจสามารถเข้ารับคำปรึกษาจากผู้เชี่ยวชาญได้ฟรี พร้อมสัมผัสประสบการณ์จริงของการอยู่อาศัยภายใต้ Ageless Living ที่เอสซีจี เอ็กซพีเรียนซ์ และเอสซีจี โฮมโซลูชั่นทุกสาขา สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ เอสซีจี คอนแทค เซ็นเตอร์ โทร. 02-586-2222 หรือเว็บไซต์ www.scgbuildingmaterials.com

พิเศษ! เพื่อต้อนรับวันแม่ยังมีโปรโมชั่นดีๆ จากเอสซีจี เอลเดอร์แคร์ เพียงเพิ่มเพื่อน SCG ใน LINE official account สามารถกดรับคูปองส่วนลดเพื่อซื้อสินค้ากลุ่มเอลเดอร์แคร์ เพิ่ม 5% เมื่อซื้อสินค้ามูลค่าตั้งแต่ 30,000 บาทขึ้นไป (ส่วนลดสูงสุดไม่เกิน 5,000 บาท เฉพาะสาขาเอสซีจี เอ็กซพีเรียนซ์) หรือรับส่วนลดเพิ่ม 1,000 บาท เมื่อซื้อสินค้ามูลค่าตั้งแต่ 10,000 บาทขึ้นไป (เฉพาะสาขาเอสซีจี เอ็กซพีเรียนซ์ และ เอสซีจี โฮมโซลูชั่นทุกสาขา) ตั้งแต่ 2 ส.ค. – 30 ก.ย.2560


บทความนี้เรียบเรียงขึ้นโดย ทีมงาน MOVER

mover.in.th@gmail.com

 


บทความนี้เรียบเรียงขึ้นโดย ทีมงาน MOVER

mover.in.th@gmail.com
Tags