‘ไคเซ็น Kaizen’ ปรัชญาที่ว่าด้วยเรื่อง ‘ของการปรับปรุง’
Share
“ไคเซ็น คือปรัชญาการปรับปรุง และพัฒนาองค์กร”
- ไค (Kai) แปลว่าการเปลี่ยนแปลง
- เซ็น (Zen) แปลว่า ดี หรือ ดีขึ้น
“ไคเซ็น” หรือ “Kaizen” หรือ “カイゼン” คือแนวคิดที่ประกอบไปด้วยกระบวนการ 4 อย่าง คือ Plan-Do-Check-Act คือ การดูปัญหา การวางแผนหาวิธีแก้ไขปัญหา การลงมือทำหรือการทดลองทำ แล้วทำการตรวจสอบเพื่อดูว่าปัญหาที่ได้รับการแก้ไขไปนั้น เป็นไปตามที่ต้องการหรือไม่ ไคเซ็น จึงถือเป็นปรัชญาแนวคิดเกี่ยวกับการพัฒนาองค์กร หรือเปลี่ยนแปลงให้ดียิ่งขึ้น ตามชื่อคำแปลตรงๆ ของ ไคเซ็น ที่แปลว่า “การปรับปรุงให้ดีขึ้นกว่าเดิม”
หลัก “ไคเซ็น” ทั้ง 4
ตามที่บอกไปเบื้องต้น ไคเซ็น แบ่งออกเป็น 4 กระบวนการสำคัญที่ชื่อว่า PDCA ซึ่งประกอบไปด้วย
- P : Plan การวางแผน
- D : Do การปฏิบัติ
- C : Check การตรวจสอบ
- A : Action การดำเนินงานให้เหมาะสม
แน่นอนว่า ตามปกติแล้ว เรามักหยิบเอา ไคเซ็น ไปใช้เกี่ยวกับการบริหารจัดการองค์กรเป็นหลัก แต่ความจริง เราก็สามารถหยิบเอา ไคเซ็น มาใช้สำหรับเปลี่ยนแปลงชีวิตให้ดีขึ้นได้เช่นกัน….
การนำ “ไคเซ็น” ไปใช้ในชีวิต
หากใครมีธุรกิจ ไคเซ็น คือหลักการที่คนทั่วไปต่างนำไปใช้กันอยู่แล้ว แต่สำหรับการนำไปใช้ในชีวิต ไคเซ็น ถือเป็นหลักการที่ดีไม่แพ้กัน แต่การจะนำไปใช้ได้ เราจำเป็นจะต้องเข้าใจความหมาย และความสำคัญของแต่ละกระบวนการให้ถ่องแท้เสียก่อน
“Plan หรือการวางแผน”
ในกระบวนเกี่ยวกับการบริหารจัดการองค์กร นั่นคือกระบวนการที่ให้เราได้ศึกษาถึงปัญหา เรียงลำดับความสำคัญของปัญหา เป็นกระบวนการที่เราจะได้กำหนดกรอบหัวข้อที่เราต้องการจะเปลี่ยนแปลง หรือพัฒนาสิ่งใหม่ๆ ซึ่งหากเรานำกระบวนการนี้มาใช้ในชีวิตของเรา ก็เหมือนกับการที่เราตรวจสอบตัวเอง ว่าตัวเรานั้นยังขาดอะไร หรือมีปัญหาอะไร ควรปรับเปลี่ยนแก้ไขสิ่งใด และให้ความสำคัญกับสิ่งใดเป็นหลัก เพื่อปรับเปลี่ยนชีวิตของตนให้ดียิ่งขึ้น
“Do การปฏิบัติ”
หรือก็คือการลงมือทำ เมื่อมีแผน ก็เหมือนมีเป้าหมาย การลงมือทำตามแผน หรือตามเป้าหมายจึงอยู่ในกระบวนการนี้ เพียงแต่ว่าในการลงมือทำ เราจำเป็นต้องทำการตรวจสอบด้วยเสมอว่า การดำเนินงานของเราเปลี่ยนแปลงไปตามเป้าหมายที่ได้ทำไว้หรือไม่ ซึ่งสำหรับการนำไปใช้ในชีวิตของตัวเราเองนั้น กระบวนการนี้ก็เหมือนกับการเปลี่ยนแปลงวิถีชีวิตของตนเอง เช่น เมื่อคุณพบว่าตัวเองอ้วนขึ้น จึงทำการออกกำลังกายทุกวัน หรือตัวเองรู้สึกว่าใช้เวลาในการมาทำงานช้าเกินไป จึงทำการเปลี่ยนเส้นทางการเดินทางใหม่เป็นต้น
“Check การตรวจสอบ”
เมื่อเราดำเนินการแล้ว สิ่งที่เราควรทำต่อมาก็คือการตรวจสอบสิ่งที่เราทำ ว่าดีขึ้นกว่าแต่ก่อนหรือเปล่า อาจจะเป็นการเปรียบเทียบ และถ้าหากแนวทางใหม่ไม่สามารถบรรลุผลได้ตามที่ต้องการ เราก็ยังสามารถย้อนกลับไปดำเนินการแนวทางก่อนหน้าได้ เช่นเดียวกับการนำไปใช้ในชีวิต หากเราพบว่าการเปลี่ยนแปลงของเรา ไม่ได้ช่วยแก้ไขให้ชีวิตของเรานั้นดีขึ้น เราก็ควรเปลี่ยนแปลงวิธีการนั้นๆ หรือปรับปรุงแก้ไขกระบวนการนั้นๆ ใหม่ให้ดีขึ้น เช่น หากเราเปลี่ยนเส้นทางมาทำงานใหม่ แล้วพบว่าใช้เวลานานขึ้น เพราะต้องเจอกับรถที่ติดเป็นจำนวนมาก เราก็อาจต้องเปลี่ยนเส้นทางใหม่อีกครั้ง หรือไม่ก็กลับไปใช้เส้นทางเดิมก็คงจะดีกว่า
“Action การดำเนินงานให้เหมาะสม”
เมื่อมีการเปลี่ยนแปลงวิธีการดำเนินการใหม่ๆ ย่อมส่งผลต่อกระบวนการดำเนินการส่วนอื่นๆ และเราก็ควรปรับการเปลี่ยนแปลงนั้นๆ ให้กลับมาสมบูรณ์ถูกต้อง Action การดำเนินงานให้เหมาะสม คือกระบวนการให้เราได้ดำเนินการที่เปลี่ยนไปได้อย่างเหมาะสม ถ้วนถี่ ไม่ใช่ไปฝืนใช้มัน แล้วสิ่งอื่นๆ แย่ลง หรือใช้ไม่ได้นาน เพราะมีข้อจำกัดเกิดขึ้นมากมาย
โดยการนำมาใช้ชีวิตของเราเองก็เช่นกัน การปรับเปลี่ยนวิธีการดำเนินชีวิตใหม่ๆ ย่อมส่งผลต่อภาพรวมหลายๆ ส่วน ซึ่งเราควรปรับให้เหมาะสมกับการใช้ชีวิต เช่น เมื่อเปลี่ยนเส้นทางการมาทำงาน เราอาจจะพบว่าเราเจอผู้คนน้อยลง และพบว่าตนเองพลาดที่จะได้เจอคนที่รู้จัก การปรับเวลาให้เหมาะสม หรือวิถีชีวิตให้เข้ากับสิ่งที่เปลี่ยนไป จึงถือเป็นสิ่งจำเป็น