‘เสือร้องไห้’ ทีมโปรดักชั่นสายฮาของนักร้องฝีมือดีและนักดนตรีมากฝีมือ
Share
จากก่อนหน้านี้เราพาไปพูดคุยกับนักทำคลิปรุ่นจูเนียร์ JUSTCAM Company และโปรดักชั่นเบื้องหลัง Parody หนังดัง Buffet Channel คราวนี้ถึงตาโปรดักชั่นรุ่นพี่สายฮาอีกหนึ่งทีมกับ ‘เสือร้องไห้’
ก่อนจะพาไปอ่านบทสัมภาษณ์ฮา ๆ ที่เล่าถึงที่มาที่ไป การนำเสนอไอเดียตลก ๆ ของพวกเขา เราขอให้คนอ่านทำความรู้จักกับพวกเขากันซะก่อนคนแรกก็คือ คัตโตะ ลิปตาหรืออารมณ์ โพธิ์หาญรัตนกุล ตามมาติด ๆ ด้วยน้องชายแท้ ๆ โค้ดดี้-อรรถพล โพธิ์หาญรัตนกุล ตามด้วยมือกีตาร์วงลิปตาและวง No One Else แนตตี้-จิรุตถ์ ตันติวรอังกูร และคนสุดท้าย เอ็ดดี้-จุมภฏ จรรยหาญ หรือมือกลองวง Jetseter นั่นเอง
ที่มาและจุดเริ่มต้นของ “เสือร้องไห้” คืออะไร ทำไมถึงมารวมกัน ทำไมตั้งชื่อว่า “เสือร้องไห้”
เอ็ดดี้ : เริ่มต้นมาจากสมัยมหา’ลัยเลย คัตโตะ แน็ตตี้ แล้วก็พี่เรียนอยู่ที่เดียวกัน เล่นดนตรีด้วยกันที่ชมรมดนตรีของมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เนื่องจากว่าซี้กันมากเล่นเกมด้วยกันเกือบทุกคืน ก็เลยได้โค้ดดี้พ่วงมาด้วยเพราะว่าเป็นน้องชายคัตโตะ เล่นเกมด้วยกันมาตั้งนาน จนมาวันนึงรู้สึกว่า เอ๊ะ! เรามาหาอะไรทำกันดีกว่า แล้วพอดีช่วงนั้นเป็นช่วงที่ยูทูบเริ่มบูมพอดี เราก็เลยทำคลิปขึ้นมาตัวนึง ซึ่งก็คือเพลง “กังนัมสไตล์” ที่เอามาแปลงเป็น “กำนันสไตล์” แล้วทีนี้ด้วยความที่ว่าเราไปขอใช้สถานที่ของสนามบินโดยการเอื้อเฟื้อของพี่ดุ๋งนกแอร์ เพลงนั้นก็เลยมีภาพเครื่องบินติดมาด้วย คนก็เลยคิดว่า อ๋อ! นี่มันคือคลิปที่เป็นโปรดักชั่นจริงจังที่ทำร่วมกันกับสปอนเซอร์เลยนี่นา ก็กลายเป็นแบบนั้นไปครับ
เอ็ดดี้ & แน็ตตี้ : ส่วนเรื่องที่มาของชื่อ “เสือร้องไห้” เกิดมาจากว่าเราต้องการชื่อที่เข้าใจง่าย มีความเป็นไทย เหมือนจะเท่แต่ไม่เท่ ก็คือเป็นเสือที่ร้องไห้
ความเป็นทีมเวิร์คของเสือร้องไห้ ความคิด จุดร่วม แบ่งเวลามาเจอกันยังไงทั้งที่ตารางแต่ละคนแน่นมาก ๆ การงาน work-life balance ของแต่ละคน
แน็ตตี้ : เริ่มจากความสบายใจก่อนเลย
เอ็ดดี้ : ข้อหนึ่งเลยเรื่องทีมเวิร์ค อาจจะเพราะเป็นเพื่อนที่อยู่ด้วยกันมานาน มันจะทะเลาะกันมาหลายรอบแล้วครับ แล้วเราจะรู้ว่ามันจะมีขีดตรงนี้ที่ว่าห้ามเกินนะ มันจะรู้ว่าต้องอยู่ร่วมกันยังไง
คัตโตะ : จริง ๆ แล้วมีร่วมกันทุกอย่าง แต่มีอย่างเดียวที่ไม่เคยร่วมเลยคือร่วมเพศ (ฮา)
โค้ดดี้ : จริง ๆ คือลองแล้วมันไม่เวิร์ค
แน็ตตี้ : จุดร่วมของเสือร้องไห้ก็น่าจะเริ่มจากเกม เพราะเกมที่เราเล่นกันเนี่ย มันจะมีแบ่งหน้าที่กันอยู่แล้วตามคาแรคเตอร์ของคนในการเล่นเกม นัดเกมรุกรับซัพพอร์ต ซึ่งมันอะแด็ปมาถึงการทำงานด้วย อย่างคนนี้เป็นหน่วยที่ทำงานด้านหน้า
เอ็ดดี้ : ครับ จุดร่วมก็คือเล่นเกมด้วยกัน แล้วมันก็ลามมาเรื่องงานด้วย ไม่ว่าจะทำอะไรก็เหมือนเล่นเกม มันจะมีตำแหน่งของมันอยู่
ระดับความเป็นโปรดักชันของเสือร้องไห้ใหญ่ไหม จริงจังแค่ไหน
โค้ดดี้ : ไม่มีเลย ถ้าเป็นเสือร้องไห้จะไม่มีอะไรที่เป็นระบบ ไม่มี seniority ไม่มีตำแหน่งตายตัวว่านี่คือผู้กำกับตลอดกาลอะไรแบบนี้ เราก็จะสวิตช์กันเรื่อย ๆ คือทุกคนเป็นทุกอย่างของทีมได้เหมือนกัน แล้วแต่ความถนัดของแต่ละคน
เอ็ดดี้ : ยกตัวอย่างเช่นสินค้า A เขาส่งมาว่าอยากทำคลิปกับเสือร้องไห้ เราก็มานั่งคิดไอเดียกัน สมมุติว่าไอเดียวันนั้นคัตคิดออก คัตก็จะรับจ๊อบนั้นไป
คัตโตะ : นี่แหละครับ สาเหตุที่เราไม่เคยมีใครคิดงานออกเลย ไม่มีใครอยากทำ (ฮา)
เอ็ดดี้ & โค้ดดี้ : ตอนนี้ก็ยังต้องเรียกว่าเป็น second job ของทุกคนอยู่ดี สมาชิก 3 คนก็ยังคงทำดนตรีเป็นหลักอยู่ ส่วนโค้ดดี้ก็จะทำเอเจนซีโฆษณา งานจะเยอะสุด ยังถือว่าเป็น hobby อยู่ เหมือนเสือร้องไห้ก็เป็นอะไรที่รองลงมา แต่ก็ยังหาเวลามาทำเพราะสบายใจ เหมือนมาเจอกันมากกว่า ถึงบางวันมาแล้วไม่ได้งานก็ยังมาเจอกันอยู่ดี
มีแนวทางในการรับงานยังไง
โค้ดดี้ : ตามความร้อนตัง ร้อนตังก็รับเยอะหน่อย (ฮา) อะเอาจริง ๆ ก็ตามจำนวนงานที่รับจากลูกค้าในแต่ละเดือน ถ้างานมันเยอะ ตารางแน่นอยู่แล้ว เราก็ไม่อยากรัดตัวเองมากเกินไป แล้วอีกอย่างคือถ้าเราต้องพยายามเค้นออกมาเล่นอีก แล้วเรารู้ว่ามันจะออกมาไม่ดีไม่เต็มที่ ทั้งเราและลูกค้าไม่แฮปปี้ อันนี้ก็ขอไม่รับงานดีกว่าครับ
แน็ตตี้ : อีกอย่างคือเราจะไม่ทำงานที่มันขัดกับความเชื่อคนอื่นด้วยครับ พวกศาสนาอะไรแบบนี้ มันเป็นประเด็นที่เซนซิทีฟครับ เราก็ปฏิเสธไปดีกว่า
การทำงานในวงการดนตรี ทำให้เสือร้องไห้มีจุดเด่นที่แตกต่างจาก Youtuber เจ้าอื่นไหม
เอ็ดดี้ : มีส่วนครับ การที่เราทำเพลงด้วยก็จะมีความถนัดในเรื่องของซาวด์อะไรพวกนี้เพิ่มมาด้วยครับ
เวลาถ่ายทำหรือเวลาที่ต้องเล่นมุกต่อหน้ากล้อง ลดอาการเกร็ง / เขินอายยังไง
โค้ดดี้ : เอาจริง ๆ เราว่ามันไม่มีโอกาสได้เขินมากกว่าครับ เพราะเราเล่นกับเพื่อนกันเอง ถ่ายกันเอง ถ้าจะเขินก็จะเป็นเขินกันเองมากกว่า แล้วถ้าถามว่าการทำวิดีโอยูทูบเนี่ย มันไม่มีเขินแน่นอน เพราะไม่ได้มีการเจอผู้คน ถ่ายกับเพื่อนกันเอง
คัตโตะ : ต้องพูดว่าแรก ๆ อะเขินกล้อง ครั้งแรก ๆ ที่ถ่ายจะไม่รู้ว่าจะพูดอะไร
เอ็ดดี้ : อารมณ์เหมือนแบบ เอ๊ะอยู่หน้ากล้องต้องทำอะไรบ้างนะ ส่วนถามว่าถ้าไปเจอคนเยอะ ๆ ก็ไม่ตื่นเต้นนะ เพราะว่าเราอยู่ในวงการดนตรีอยู่แล้ว คัตโตะนี้เรียกได้ว่าชินชาเลยแหละ ทุกวันนี้คัตโตะเริ่มหาความตื่นเต้นด้วยการไม่ใส่กางเกงในขึ้นโชว์นะ
คัตโตะ : คุณก็ไม่น่าไปบอกเขาเลยอะ
เอ็ดดี้ : ถ้าเปลี่ยนคำถามเป็นว่า มีคำแนะนำสำหรับคนที่ออกไปหน้ากล้องหรือต่อหน้าคนเยอะ ๆ แล้วเขินควรทำยังไง
โค้ดดี้ : มองให้ทุกคนเป็นหัวไชเท้า แต่ก็มีคนมาหักล้างทฤษฎีนี้ เขาบอกว่าไม่ได้ เพราะอย่างนี้เราจะไม่มี reaction กับคนดูน่ะสิ
เอ็ดดี้ : ผมมีท่าไม้ตายของผม ผมบอกไปแล้วตั้งแต่เสือร้องไห้โชว์ คือเวลาขึ้นไปยืนบนเวทีแล้วอยากลดอาการประหม่า ให้คุณคิดว่าคนดูทุกคนไม่ใส่เสื้อผ้า คุณจะไม่ประหม่า แต่คุณจะขึ้นแทน ขึ้นเวทีคอนเสิร์ตไงครับ เอาจริง ๆ มันต้องขึ้นเวทีเรื่อย ๆ แล้วมันจะชินเอง
แน็ตตี้ : สำหรับผม ผมจะมองคนดูเป็นแบ็คกราวด์เบลอ ๆ เหมือนมองภาพสามมิติ
เวลาได้โจทย์มา เช่น ต้องขายสินค้าชิ้นหนึ่ง มีวิธีการนำเสนอไอเดียหรือคิดมุกยังไงบ้าง และรับมือกับ Negative feedback ยังไง
โค้ดดี้ : ก่อนอื่นต้องบอกก่อนว่าเวลาที่มันเป็นออนไลน์ มันก็จะมีวิธีการคิดงานที่ไม่ซับซ้อนเหมือนเฮาส์ หรือคนที่เขาทำโฆษณาหรือบริษัทใหญ่ ๆ คือเป็นไอเดียที่คนดูสามารถย่อยได้ง่าย พูดง่าย ๆ ก็คือเอาสิ่งที่ลูกค้าต้องการหรือคีย์หลักมาคิดโดยที่มีการล้อมกรอบไว้ เพื่อให้ยังคงความสนุกและความเป็นเพื่อนเอาไว้ แต่สุดท้ายไม่ว่าจะออกมายังไง สิ่งสำคัญอยู่ที่เราใส่ไอเดีย ใส่ความเป็นเนเจอร์ของเสือร้องไห้เข้าไปด้วย
โค้ดดี้ : งานที่ไม่รับไม่ได้นี่น้อย น้อยมาก เพราะส่วนมากที่ไม่รับไม่ได้จะเป็นแบบ มาดิมา ทำเลย เพราะการที่เราไม่รับไม่ได้นี้คือเราก็ต้องรู้จักเขาในระดับหนึ่ง เขาก็ต้องเป็นเพื่อนพี่น้องเรา ส่วนใหญ่เราก็จะเต็มใจทำให้ ส่วนเป็นงานที่ผมว่าส่วนมากไม่ค่อยซัฟเฟอร์นะ
คัตโตะ : คือจริง ๆ แล้วเรียกได้ว่าไม่มีเคสนี้เลยมากกว่านะ
โค้ดดี้ : แต่ก็มีบ้างที่แบบ รับแล้วทำไปทำมามันเริ่มลากกันลงคลอง
คัตโตะ : แต่จุดเริ่มต้นมาจะไม่ใช่แบบนั้น จะเป็นแบบทำไปเรื่อย ๆ จากจุดที่สนุกไปจุดที่สนุกน้อย มี
โค้ดดี้ : แต่เราก็จะพยายามรีพอร์ตตัวปัญหาให้เขาฟังนะ ว่าจากจุดที่ตอนแรกเราคุยกันมันอยู่ตรงกลางถนนเลยนะ ตอนนี้มันเบ้ไปทางขวาจะตกคลองแล้วนะ พี่อยากจะตกหรือยัง ถ้าพี่โอเคกับมันและพร้อมจะตก ผมก็พร้อมตกไปกับพี่ด้วย แค่เราจะมีการรีพอร์ตในมุมความคิดเรา คุยปรึกษากันตรง ๆ ประมาณนี้
คัตโตะ : แต่ก็ถือว่าสำเร็จลุล่วงทุกงานนะ ด้วยความที่จริง ๆ แล้ว ถ้าเกิดเราเป็นเสือร้องไห้ ทำคลิปออกมากันเมื่อ 5-10 ปีที่แล้วอะ วุฒิภาวะของเราอาจจะยังไม่ค่อยดี แล้วความรู้ก็อาจจะยังน้อยอยู่ ถือว่าเป็นความโชคดีที่พวกเราแก่กำลังดีที่มาทำงานอย่างนี้ตอนนี้ เหมือนว่าพร้อมจะทำงานกลุ่ม พร้อมดีลกับทุกปัญหาและมีความรับผิดชอบมากขึ้นแล้ว อะไรแบบนี้ครับ
เอ็ดดี้ : นั่นแหละครับคือคำตอบว่าเวลาเจอ Negative feedback ทำยังไง อย่างที่โค้ดว่าคือเราจะรีพอร์ตให้ฟังตรง ๆ เลย เอาปัญหามาคุยกัน
คัตโตะ : จริง ๆ แล้ว Negative Feedback เนี่ย ไม่ว่าจะเป็นกับตัวเราหรือกับแบรนด์ อย่าเรียกมันว่า negative เลย เรียกมันว่า “คำสอน” จะดีกว่า จริง ๆ คำติก็คือคำสอนนั่นแหละ เมื่อเราเริ่มทำอะไรที่มันไม่สนุกหรือว่าเขาไม่ชอบ มันก็เป็นปกติที่เขาจะสอนหรือแนะนำว่าเราควรทำอะไร หลายครั้งเราก็ได้ไอเดียดี ๆ มาจากคนที่เขาบอกว่าเขาอยากเห็นอะไรด้วยซ้ำ สิ่งสำคัญอีกอย่างคือเราต้องมีวุฒิทางอารมณ์ เอาคำติเหล่านั้นมาแยกแยะด้วย ว่าเขาติด้วยอารมณ์หรือติด้วยเหตุผล ติเพื่อก่อ ติโดยที่ไม่มีความรู้ หรือด่าเอามัน อันนี้เราต้องทราบอยู่แล้วแหละ เพราะฉะนั้นเราก็ต้องมีตัวกรองของเราก่อนว่าสิ่งไหนที่ใช้ประโยชน์ได้ แต่ถ้าเราขาดวุฒิภาวะ ไม่มีเครื่องคัดกรอง แล้วเราใช้อารมณ์ใส่กันโดยไม่มีเหตุผล มันก็จะไม่ได้อะไรเลย ที่สำคัญเราก็จะไม่ได้คำสอนจากคนที่เขาต้องการจะบอกเราจริง ๆ ด้วย และเราก็เชื่อว่าคนที่เขาเห็นว่าเรามีวุฒิภาวะทางอารมณ์ก็จะเป็นเพื่อนกับเราได้ในระยะยาว
แรก ๆ ที่ทำจริงจังเจออุปสรรคอะไรบ้างที่คิดว่าจะทำให้คนทำคลิปหน้าใหม่ท้อและถอดใจ
แน็ตตี้ : อันนี้พูดถึงคนใหม่ที่เขามาทำนะ แรก ๆ เลยนะ “ยอดวิว” ต่ำ แล้วก็จะคิดว่าทำไมไม่มีใครดูเลย ทำไปทำไมนะ ซึ่งจริง ๆ แล้วมันก็จะมีช่องทางของมันอยู่ในการพัฒนาชาแนล ซึ่งเราก็ต้องค่อย ๆ เรียนรู้เทคนิคกันไป
คัตโตะ : คือถ้าอยากจะทำ ต้องมองว่าอยากทำระดับไหน ถ้าอยากทำสนุก ๆ เป็น hobby ก็ทำให้เป็น hobby จริง ๆ อย่าไปคาดหวังยึดติดมาก ก็ทำช่วงที่ว่าง แต่ถ้าอยากทำเพื่อหาเงินจากตรงนี้ก็ต้องศึกษาให้มากขึ้น ที่สำคัญคือเราต้องพัฒนาตัวเองเสมอ ทำตัวเองให้ดีก่อน ผลงานจะได้ผลตอบรับยังไงก็อย่าไปโทษคนอื่น ไม่ว่าจะเป็นคนดูหรืออะไรก็แล้วแต่ คือให้มองว่าตัวเราเองต้องพัฒนา ต้องศึกษาหาความรู้ให้มากขึ้นอีก ถ้าทำไปแล้วไม่ค่อยมีคนดู ก็ต้องกลับไปดูตัวเองให้ดี หมั่นเช็คตัวเองว่าเราขาดตรงไหนนะ ที่เขาพูดมาจริงหรือเปล่า
เอ็ดดี้ : ชัดเจนว่าได้
คัตโตะ : เป็นอาชีพได้สำหรับบางกลุ่มที่ทำจริงจัง แต่ยังเป็นกลุ่มเล็ก ๆ อยู่นะ
โค้ดดี้ : คิดว่าได้กับคนที่ทำมานานแล้วหรือว่าทำถึง
เอ็ดดี้ : ถ้าเริ่มตอนนี้ยังได้นะ!
เรามองว่าตัวเองอยู่จุดไหนของการเป็น Youtuber แล้ว
เอ็ดดี้ : คิง!!! 555555555 (ห้ามตัดมานะ เดี๋ยวพี่จะตามไปแทง) ถ้าเปรียบจักรวาลการทำคลิปเป็นสังคมหรือกลุ่มเพื่อน เสือร้องไห้คือ “พี่ชาย” คือรุ่นพี่เงียบ ๆ คนหนึ่ง ที่อยากได้คำปรึกษาก็มาคุยกัน สนุกสนานเฮฮา นั่งเล่นดนตรีคุยสาระบ้างไม่สาระบ้าง
รู้สึกยังไงที่ต้องผูกติดกับ Page View คิดว่าเป็นแรงกดดันไหม?
โค้ดดี้ : คือสำหรับเสือร้องไห้แล้ว ต้องบอกว่าคำตอบคือ “ไม่ยึดติด” นะ คือพอเราทำงานเสร็จปุ๊บ คลิปออกไปแล้ว เรื่องยอดวิวมันก็จบไปแล้ว มันมีการกลับไปดูแล้วเอามาปรับแก้นะ แต่ถ้าถามว่ายอดวิวสำคัญไหม กดดันไหม มันคือศูนย์เลย
คือต้องแยกเป็น 2 ประเด็นนะ คลิปตัวที่ทำเพราะชอบ คนดูน้อยได้วิวนิดเดียวคือไม่สนใจเลย เพราะเราแฮปปี้ตอนทำ
ส่วนอีกตัวที่มีสปอนเซอร์หรือลูกค้าเข้ามาเกี่ยวข้อง เราก็จะมีการประเมินก่อน มีการคุยกันแบบตรงไปตรงมา ตลอด ว่าตอนนี้อยู่ในจุดไหน ทำตรงนี้คนกำลังแชร์สนุกนะ แต่ถ้าเมื่อไหร่มันเริ่มเอียงแล้วก็มาประเมินร่วมกัน พอเราปรึกษากันตลอดแบบนี้ก็จะไม่มีใครที่รู้สึกกดดันเลย เพราะทุกอย่างมันผ่านการคุยกันแล้ว แล้วเราก็ประเมินตัวเองอยู่แล้วด้วย
อยากให้แนะนำคลิปที่ยอดวิวน้อยแต่ภูมิใจนำเสนอมาก ๆ
เอ็ดดี้ : มันเป็นคลิปโยนลูกปิงปองลงแก้ว เราก็โยนมั่ว ๆ ซั่ว ๆ แล้วก็ตัดต่อว่าลงทุกอันอะไรแบบนี้
แน็ตตี้ & เอ็ดดี้: เป็นคลิปที่คนดูเข้าใจผิดไม่เข้าใจว่าเราเล่นมุกกัน คนจะคิดว่าพี่ตัดต่อนี่หว่า แต่เราก็ตั้งใจตัดต่อจริง ๆ แต่ถ้าถามว่าชอบมั้ย ก็ยังชอบอยู่นะ แค่อุ๊ยเขาไม่เข้าใจเรานี่เอง
คัตโตะ : คือเป็นคลิปที่เราอยากทำเพื่อหยอกล้อวงการการทำคลิป การตัดต่อ โดยการทำแบบชุ่ย ๆ แล้วตัดต่อเอา แต่คนดูดันเข้าใจว่าพยายามจะโชว์เหนืออะไรแบบนี้ คือคนที่เข้าใจก็จะเข้าใจไปเลย คนที่ไม่เข้าใจก็จะแบบอ้าวอะไรทำไมมันไม่แม่นเลย
อยากให้แนะนำแนวทางให้กับกลุ่มคนรุ่นใหม่ที่อยากทำคลิปหน่อย
เอ็ดดี้ : สำหรับน้อง ๆ รุ่นใหม่ที่อยากทำคลิปนะครับ จะเป็นยูทูบเบอร์ก็แล้วแต่ จะทำคลิปวิดิโอสนุก ๆ บนเฟซบุ๊กก็แล้วแต่ อย่าเข้ามาเลยวงการนี้ มาเฟียมันเยอะ มันก็ไม่มีหรอกว่าเขตแดนของใคร มันก็เป็นโลกอินเตอร์เน็ตยุค 4.0 แล้ว คุณเข้ามาคุณจะรู้ได้ยังไงว่าคอมพิวเตอร์บ้านคุณจะไม่โดนพวกมาเฟียที่อยู่มานานแฮ็ค หรืออยู่ ๆ ฮาร์ดดิสก์คุณก็ไหม้ อะไรแบบนี้จะทำยังไง อยู่ยากวงการนี้ อย่าเข้ามาเลย
แน็ตตี้ : ส่วนแบ่งมันน้อยอะ น้องอย่าเข้ามาเลย
เอ็ดดี้ : แต่ถ้าแนะนำจริง ๆ ก็คือ ไม่มีอะไรจะแนะนำนอกจาก ทำ ทำไปเรื่อย ๆ แล้วคุณจะเจอเองว่าตัวคุณทำอะไรได้ดี แบบนี้นี่เองที่เป็นแนวของเรา เพราะว่าเสือร้องไห้เองก็เป็นแบบนั้น ลองทำแล้วค่อย ๆ พัฒนา ถ้าลองไล่ไปดูคลิปเก่า ๆ จะเห็นว่าต่างจากตอนนี้มากอยู่เหมือนกัน
แน็ตตี้ : คนส่วนใหญ่ไม่ค่อยกล้าทำกัน เขาอาจจะคิดได้แต่เขายังไม่กล้าทำ แค่ต้องลงมือทำแล้วจะรู้เองว่ามันจะไปในทิศทางไหน จะเจ๊งหรือจะรอดต้องเริ่มนับหนึ่งก่อน ถ้าคิดอย่างเดียวเราก็จะไม่มีทางรู้เลย
ช่วงสุดท้าย ช่วงขายของ อยากแนะนำเพจของตัวเองไหม
เอ็ดดี้ : พี่เอ็ดเจ็ดวิ อัปคลิปทุกครั้งที่ดวงจันทร์โคจรไปตรงกับดาวเหนือ ที่เหลือเอาเวลาไปเล่นเกม
โค้ดดี้ : แล้วถ้ามันโคจรทับกันแต่เราลืม
เอ็ดดี้ : ก็ไม่อัป! 5555555
แน็ตตี้ : ของพี่ทำวงชื่อ No One Else เป็นเพจของวง แล้วก็จะมีเพจแน็ตตี้เสือร้องไห้เป็นเพจตัวเอง ก็จะทยอยลงคลิปไปเรื่อย ๆ
เอ็ดดี้ : โค้ดก็จะมี แม่เราชัด ๆ กับโค้ดดี้
โค้ดดี้ : เยอะแยะไปหมดครับ ไม่ขาย ของเยอะ อ้าาาา
เอ็ดดี้ : คัตโตะก็จะมีเพจ CuttO กับ ลิปตา A Girl ก็ของคัตโตะ
“อย่าเรียกมันว่า negative เลย เรียกมันว่า “คำสอน” จะดีกว่า จริง ๆ คำติก็คือคำสอนนั่นแหละ”
Youtube : เสือร้องไห้
Facebook : เสือร้องไห้
เมื่อได้ยินชื่อ ‘เสือร้องไห้’ มันคงสามารถการันตีความคุณภาพของผลงานโปรดักชั่น ที่ไม่ใช่แค่เพียงตลก แต่เมื่อมีการร้องเพลงล้อเลียน ยังเป็นเพลงแปลงที่เพราะมาก ๆ อีกต่างหาก เพราะความสามารถทางด้านดนตรีของพวกเขาก็ดีมากเช่นกัน สำหรับใครที่กำลังอยากทำคลิป คงมีตัวอย่างหลาย ๆ และข้อคิดจากทั้ง 3 ทีมที่ MOVER เอามาฝากกัน อย่ามัวแต่คิดอย่างเดียว รู้ว่าชอบแล้วต้องรีบทำ
บทความนี้เรียบเรียงขึ้นโดย ทีมงาน MOVER
mover.in.th@gmail.com