คำพูดแบบไหนที่เรียกว่า “เหยียด” แล้วคนเราจะเหยียดกันไปเพื่ออะไร?
Share
“คำพูด” คือสิ่งที่เราไม่สามารถทวงคืนกลับมาได้เมื่อเอ่ยออกจากปากไป และคำพูดบางคำที่ใช้กันอย่างแพร่หลายจนดูเหมือนเป็นคำธรรมดา อาจกลายเป็นยาพิษที่พร้อมจะโจมตีความรู้สึกผู้ฟังได้อย่างไม่รู้ตัว และหนึ่งในประเภทของคำพูดที่ทำให้เกิดผลแบบนั้นก็คือการ “เหยียด หรือ Discrimination” พบเห็นได้บ่อยในบทสนทนาในชีวิตประจำวัน หรือในสื่อสังคมออนไลน์ มาเปิดเรดาร์ สร้างภูมิต้านทาน และหาคำตอบเกี่ยวกับการเหยียด ไปพร้อม ๆ กับ Mover ได้เลย
การเหยียดเกิดขึ้นได้อย่างไร?
แม้ตอนนี้ในสังคมจะมีการรณรงค์และตระหนักถึงเรื่องความเท่าเทียมกันอย่างต่อเนื่อง แต่ด้วย “ความแตกต่าง” ของเพศ อายุ เชื้อชาติ ภาษา รูปร่าง สีผิว การศึกษา หรือ ฐานะทางการเงิน ฯลฯ เหล่านี้ ทำให้ช่องว่างของความเสมอภาคไม่ได้ลดลงไปมากสักเท่าไหร่ มิหนำซ้ำพวกมันยังถูกใช้เป็นปัจจัยในการ “แบ่งแยกและเปรียบเทียบ” ระหว่างสิ่งที่ตนเองหรือพวกของตนเองมี กับคนอื่นๆ แล้วถ้ากระบวนการเปรียบเทียบแบ่งแยกความแตกต่างเหล่านั้นไม่ได้มีจุดเริ่มต้นมาจากการตัดสินแบบชี้เฉพาะตัวบุคคล แต่เกิดจากการตัดสินแบบเหมารวม แล้วเกิดการกำหนดคำนิยามในแต่ละปัจจัยว่าสิ่งไหนเรียกว่าดี สิ่งไหนเรียกว่าไม่ดี สร้างเป็นค่านิยมที่จะมองว่าจริงหรือไม่จริงก็ได้ การกระทำเช่นนี้แหละจะนำไปสู้ การเหยียด ไม่ว่าจะเป็นเหยียดเพศ เชื้อชาติ ศาสนา รูปร่างสีผิว การศึกษา หรือเหยียดฐานะการเงิน นั่นเอง
คำพูดแบบไหนที่เรียกว่าเหยียด?
อย่างที่เราบอกกันไปว่าการ “เหยียด” มีหลายประเภทมาก ๆ และบางคำมันดูเป็นเรื่องปกติ เป็นเหมือนการล้อเล่น หรือการแซวมากกว่า ซึ่งเป็นผลมาจากบริบททางสังคมและวัฒนธรรมที่มองเรื่องเหล่านี้เป็นเรื่องเล่น ทำให้มันเป็นเรื่องปกติ จนคนในสังคมซึมซับและเคยชินไปในที่สุด
การเหยียดเพศ เป็นการเหยียดที่มีมานานมาก ๆ ในสังคมไทย เห็นได้จากสำนวนสุภาษิต “ผู้ชายเป็นช้างเท้าหน้า ผู้หญิงเป็นช้างเท้าหลัง” สื่อออกมาชัดเจนเลยถึงการมองว่าเพศชายอยู่เหนือกว่าเพศหญิง ทั้งที่จริง ๆ แล้วผู้หญิงบางคนอาจมีความสามารถมากกว่าผู้ชาย เพียงแต่เธอไม่มีโอกาสได้แสดงมันออกมา หรือถูกปิดกั้นด้วยค่านิยมนี้ อีกนึ่งเคสที่ไม่พูดถึงไม่ได้คือเรื่องเพศที่สาม ซึ่งถึงแม้จะพูดปาว ๆ ว่ามีการยอมรับกันมากขึ้น แต่สุดท้ายการเหยียดเพศทางเลือกก็ยังมีอยู่ให้เห็นตลอด
ตัวอย่างคำพูด : เอากระโปรงไปใส่ไป , สายเหลือง
การเหยียดลักษณะภายนอก รูปร่าง สีผิว เป็นการเหยียดที่มีพื้นฐานมาจากค่านิยมที่มองว่า เช่น มองว่ารูปร่างที่ดี สีผิวที่ดีควรเป็นเช่นไร ผอม มีกล้าม มีซิกแพ็คคือสิ่งที่ดี ตัวเอกในหนังละครล้วนถูกนำเสนอให้มีลักษณะเป็นแบบนี้ทั้งสิ้น ส่วนความอ้วนหรือผิวสีเข้มว่าถูกมองเป็นสิ่งไม่ดี และถูกนำเสนอที่แสดงถึงตัวตลก เป็นต้น
ตัวอย่างคำพูด : อ้วนเป็นหมูแล้ว , ดำขึ้นหรือเปล่า? , เจ้าแว่น , ผมหยิกจัง , เตี้ยมาก
การเหยียดเชื้อชาติ (ภูมิลำเนา) เป็นการเอาลักษณะที่ถูกตีความว่าด้อยบางส่วนทางเชื้อชาติ มาแปลงเป็นข้อเสียใหญ่ และให้ความหมายแบบเหมารวมว่าคนที่ทำแบบนี้ เชื้อชาตินี้ อาศัยอยู่ที่นี่จะต้องมีเป็นแบบนี้ไปซะหมด
ตัวอย่างคำพูด : ลาวจัง , เจ๊ก , บ้านนอก , แขก , ไอ้มืด
นอกจากนี้ยังมีการพูดเหยียดอีกหลายประเภท โดยบางทีจะเกิดขึ้นตามสถานการณ์ หรือเหยียดเพื่อสร้างความตลก แล้วบางครั้งการเหยียดก็อาจจะไม่ได้เกิดจากความคิดของตัวเราเองเสมอไป แต่อาจเกิดจากการซึมซับจากเพื่อน ครอบครัว หรือเนื้อหาที่สื่อกระแสหลัก และกระแสรองนำเสนอออกมาได้อีก
แล้วสรุปคนเรา “เหยียด” กันไปเพื่ออะไร?
การเหยียดของแต่ละคนไม่จำเป็นต้องเกิดมาจากเหตุผลเดียวกันเสมอไป แต่ละล้วนมีเหตุผลในการเหยียด ซึ่งสามารถแบ่งได้คร่าว ๆ ดังนี้
- เหยียดเพราะต้องการแสดงออกถึงความเหนือกว่าของตนเอง แต่ถ้ามองลึกลงไปอีก อาจจะพบว่าการที่คนเราต้องการเหนือกว่าคนอื่น อาจเป็นเพราะต้องการลบจุดด้อยของตนเอง ซึ่งเป็นกลไกหนึ่งในการป้องกันตนเองทางจิตใจของมนุษย์ที่เรียกว่า Compensation ก็เป็นไปได้
- เหยียดเพื่อต้องการทำร้ายผู้อื่น เช่น ทำร้ายความรู้สึก ทำให้อับอาย หรือสร้างความเกลียดชัง เป็นต้น
- เหยียดโดยไม่เจตนา เพราะถูกสิ่งเร้าภายนอก เช่น เพื่อน ครอบครัว หรือสื่อมวลชน ขัดเกลาจนเกิดความเคยชินหรือสนุกปาก