Type to search

Interview

พาไปรู้จัก “ช่างพัน” นักทำกีต้าร์แฮนด์เมดสายเลือดไทยภายใต้ชื่อแบรนด์ Vanilla Guitars

Share

หากพูดถึง “กีต้าร์” หลายคนคงนึกถึงแบรนด์ชั้นนำจากต่างประเทศเพราะมีการใช้งานกันอย่างแพร่หลาย หาซื้อง่าย พบเห็นได้จากศิลปินต่างๆ แต่น้อยคนนักที่จะนึกถึงงาน “กีต้าร์แฮนด์เมด” ที่ถูกสร้างมาแบบละเอียดและใส่ใจโดยเฉพาะกีต้าร์ที่เกิดจากนักทำกีต้าร์แฮนด์เมดสายเลือดไทย

ประเทศไทยถือเป็นอีกหนึ่งประเทศที่เป็นแหล่งผลิตกีต้าร์แฮนเมดที่มีคุณภาพในเอเชีย แต่น้อยคนนักที่จะรู้จักการทำกีต้าร์แฮนด์เมด ช่างพัน ถือเป็นนักทำกีต้าร์อีกคนที่ได้รับการยอมรับ วันนี้เราจะพาทุกคนมาทำความรู้จักกับช่างพัน นักทำกีต้าร์ ที่ผันตัวเองจากพนักงานออฟฟิศมาเรียนรู้การทำกีต้าร์และหลงรักการทำกีต้าร์จนสามารถต่อยอดมาเป็นอาชีพ

#1 | จุดเริ่มต้นในการเป็น “ช่างพัน” นักทำกีต้าร์แฮนเมด

จุดเริ่มต้น เริ่มจากมีวงดนตรีกับเพื่อนตั้งแต่มหาลัย แล้วก็ได้มีโอกาสทำเพลงกับ Smallroom การทำเพลงแต่ก่อนเราก็ไม่ได้รู้จักกีต้าร์มากขนาดนี้ แต่พอเริ่มเข้าห้องอัด เราก็เริ่มสนใจมันขึ้นมา เริ่มรู้จักดีเทลต่างๆ ของมัน จนชอบมันขึ้นมาซะงั้น แต่หลังจากนั้นเราก็แยกย้ายไปทำหน้าที่การงานของแต่ละคน มีอยู่วันนึงก็ทำงานอยู่ออฟฟิศดึกๆ ประมาณตี 2 ตี 3 เราก็นั่งเปิด Youtube เจอช่างทำกีต้าร์คนนึงคือ ครูนิด เราก็สนใจ เราอ้ะชอบงานช่าง ชอบงานฝีมือ แต่ยังไม่มีโอกาสได้ทำมัน แล้วพอเจอสิ่งนี้ก็เหมือนหลายๆคนที่ไม่รู้ว่าประเทศเรามีอาชีพช่างทำกีต้าร์ด้วย

วันต่อมาก็เลยตัดสินใจลาพักร้อน ไปบ้านครูนิด ไปนั่งคุยกับครู 3-4 ชม. พอไปเห็นสิ่งที่อยู่ตรงหน้าแล้วรู้สึกมันมีความสุขจังเลย ตอนนั้นเราก็ไม่รู้หรอกกว่าชอบ เพราะเราไม่เคยทำ แต่มันดูโอเคมาก ก็เลยกลับมาบอกแม่ว่าจะลาออกจากงานนะ แล้วไปเรียนทำกีต้าร์ จากนั้นก็ไปขอครูนิดเรียน แต่เอาจริงๆ เค้าก็จะถามว่าเอาจริงหรือป่าว ทั้งค่าเรียน ค่าของ ค่าโอกาสชีวิตที่ไม่ได้ทำงานหลายเดือน เงินส่วนนี้มันสูงนะ แต่เราก็เรียน ใช้เวลาเรียน 3 เดือน พอเรียนเสร็จเราได้กีต้าร์ที่ทำเองมา 1 ตัว

#2 | ในตอนนั้นกลัวที่จะต้องเกิดการเปลี่ยนแปลงในชีวิตไหม

เราไม่กลัวการเปลี่ยนแปลง ไม่รู้จะกลัวทำไม เป็นเพราะเราคงไม่ได้เสี่ยงกับการที่ออกมาแล้วจะไม่มีกิน ออกมาก็ยังมีการงานรองรับเสมอ ตอนนั้นการงานเราโอเค มีคนชวนไปทำงานหลายที่ เราเลยไม่กลัวที่จะลาออกมา แต่จริงๆ ความท้าทายคือ มันใหม่ มันยาก เราไม่เคยจับสิ่งของหรือเครื่องมือช่างเลย มันก็เหนื่อยนะ แต่มันก็ท้ายทายและก็มีความสุขไปกับมัน

#3 | “ความชอบส่วนตัว” กับ “อาชีพที่สร้างรายได้” สามารถทำควบคู่ไปด้วยกันได้จริงไหม

ตอนที่เริ่มนั้นก็ยังไม่คิดว่ามันจะสามารถทำเงินให้เราได้ เราไม่เคยคิดว่าใครจะมาสั่งเรา กีต้าร์ตัวแรกที่เราทำให้คนแรกคือเพื่อน คือบอกเพื่อนไปว่าให้มาทำกีต้าร์กับเราสิ เราคิดแค่ค่าของ ไม่คิดค่าแรงใดๆ ทำแบบนี้อยู่ 2 ตัวนะ ตอนนั้นรู้สึกดีมาก มันดีมาก แต่พอมองย้อนไปมันโคตรกระจอกเลย(หัวเราะ) แต่เพื่อนเค้าก็แฮปปี้นะ พอหลังจากนั้นก็เริ่มทำเพจเพื่อโพสเพื่อโชว์ผลงาน แล้วพอโพสก็มีคนสนใจเข้ามาสั่งทำ เราก็เลยรับทำต่อมาเรื่อยๆ แล้วพอออกจากงานเราก็ออกมาทำกีต้าร์ แล้วยังทำฟรีแลนส์ไปด้วย ก็รู้สึกว่ามันก็อยู่ได้นะ อาจจะรายได้น้อยลงหน่อยแต่เราก็ได้ทำกีต้าร์ ทำในสิ่งที่ชอบด้วย

#4 | อะไรคือวัตถุดิบหลักของการทำ “กีต้าร์แฮนเมด”

ไม้ครับ หลักๆ ไม้คือมะฮอกกานี ส่วนไม้หลังข้างคือโรสวูด ซึ่งเป็นไม้เนื้อแข็ง ส่วนด้านข้างคือสปู๊ดหรือซีดาก็ได้ เป็นไม้เนื้ออ่อน ทั้งหมดเป็นไม้นำเข้าหมดเลย เราบินไปเลือกไม้เอง ส่วนนึงเป็นเพราะอยากรู้ว่า เค้าตัดยังไง วิธีตัดยังไง เก็บยังไง เราได้ไปเลือกเองมาทุกชุด

#5 | นอกจากวัสดุที่ดีแล้ว ตัวช่างเองก็ต้องมีความสามารถด้วยใช่ไหม?

เราคิดว่าไม้เป็นแค่วัตถุดิบแหละ มีวัตถุดิบที่ดีก็ทำให้ได้กีต้าร์ที่ดี แต่สิ่งที่จะทำให้มันดีหรือไม่ดีก็คือคนทำ คนที่ทำก็คือแต่ละคนก็จะทำไม้หน้าหนาบางไม่เหมือนกัน จะจัดการขนาดวางตำแหน่งไหน มันอยู่ที่การทดลองของแต่ละคน เหมือนกุ๊กที่มีวัตถุดิบดีเหมือนกัน แต่ไม่ใช่ทุกคนที่จะทำอาหารจานนั้นออกมาอร่อย

#6 | แล้วอะไรคือความภูมิใจที่สุดตั้งแต่ได้ทำสายงานนี้มา

กีต้าร์ตัวที่ภูมิใจที่สุด จริงๆ ก็ไม่มีนะ เพราะการจะทำกีต้าร์ทุกตัวเราจะมีโจทย์อยู่ในใจว่าเราทดลองอะไรในตัวนั้น กีต้าร์มันเป็นงานทดลองที่ใช้เวลา กว่าจะรู้ว่ามันจะเป็นอย่างที่เราตั้งโจทย์ไว้ แล้วมันคืออีก 2 เดือนเลยนะกว่าจะรู้ผล มันคือการทดลองวิทยาศาสตร์เลย เวลาที่เราทำเราจะเปลี่ยนเสียงช่างทำกีต้าร์แต่ละคนไม่ได้ บางครั้งลูกค้าเค้าอาจจะบอกเราว่าเค้าอยากได้เสียงแบบนี้ แต่เราทำไม่ได้ ถึงจะฝืนมันก็ทำไม่ได้ เพราะการทดลองของแต่ละคนไม่เหมือนกัน อย่างที่บอกว่าช่างทำกีต้าร์ก็เหมือนกุ๊ก รสมือแต่ละคนมันไม่เหมือนกัน กว่าจะได้อาหารแต่ละสูตรแต่ละจานการทดลองมันนานนะ

#7 | ต้องใช้ระยะเวลาเท่าไหร่ ถึงจะได้กีต้าร์ที่ดีที่สุดเพื่อส่งมอบให้ลูกค้า

กีต้าร์แต่ละตัวใช้เวลาทำ 2 – 3 เดือน ตัวที่นานสุดก็คือมันไม่ได้ยากสุดนะ แต่เราไม่มีเวลา ส่วนนึงคือมันแตก เราเลยทำอีกตัวขึ้นมาเพื่อส่งลูกค้าโดยใช้เวลา 6 เดือน แต่จริงๆ 6 เดือนก็เหมือนทำไป 2 ตัวนะ (หัวเราะ)

สาเหตุที่เราใส่ใจรายละเอียดการทำกีต้าร์ขนาดนี้ก็เพราะว่า กีต้าร์หนึ่งตัวราคา 5-6 หมื่น สำหรับเรามันก็ไม่คุ้มสำหรับเวลา 2-3 เดือนที่ใช้ทำ แต่สำหรับลูกค้ามันเป็นเงินที่เยอะสำหรับเค้านะ และมันมีความคาดหวัง และเค้ารอเรามาเป็นปี เค้าต้องหาข้อมูล และตั้งใจอยากจะทำกับเรามาก ดังนั้นอะไรที่เราคิดว่ามันไม่ดีพอที่จะส่งเราก็จะไม่ส่งลย เราก็ทำตัวใหม่ที่มันดีส่งดีกว่า การแตกนี้จริงๆ มันไม่มีผลต่อเสียงหรอก แต่มันมีผลต่อจิตใจเรา เพราะว่าเรารู้ ดังนั้นเราเลยทำใหม่ดีกว่า

#8 | ถ้าต้องเลือกเครื่องมือชิ้นสำคัญสักหนึ่งชิ้น สิ่งนั้นจะเป็นอะไร?

อุปกรณ์ที่ชอบสุดก็คงเป็น Card Scrapper นี่แหละครับ มันเป็นเครื่องมือที่ไม่มีอะไรเลย แต่มันเวิร์คมาก เป็นแค่แผ่นเหล็กบางๆ ชิ้นนึง คือสมัยก่อนกระดาษทรายเป็นสิ่งที่ราคาแพง ช่างจะใช้สิ่งนี้แทนเพื่อขูดเพื่อปิดผิวไม้ วิธีคิดมันก็เรียบง่ายมาก แค่ใช้ความคมของสันมันขูดให้เกิดความเรียบ แต่ความเรียบง่ายของมันทำให้เป็นอุปกรณ์ที่ใช้ยากที่สุด เพราะแค่ลับให้มันใสแล้วมันเก็บงานได้พอดีก็ยากแล้ว ช่างในไทยน้อยคนจะใช้กัน แต่เราชอบมาก เป็นอุปกรณ์ที่เรามีเยอะสุด

#9 | ได้เรียนรู้อะไรบ้างในการผันตัวมาทำงานสายนี้

ก็เยอะนะครับ แต่สิ่งที่ยากในการทำกีต้าร์เราว่ามันไม่มี เพราะมันยากตรงที่เราประสบการณ์ไม่พอมากกว่า ในช่วงแรกมันก็ยากอยู่แล้วแหละ เพราะเราทำไม่เป็น แต่พอเราทำมาเรื่อยๆ ทดลองหาประสบการณ์ เราก็พอจะรู้ว่าอะไรควรทำ ไม่ควรทำ แล้วทำไปสัก 20 ตัว ก็จะพอรู้แนวทางมากขึ้น ก็ได้เรียนรู้จากจุดๆ นี้ไป

#10 | ความแตกต่างของ “งานแฮนด์เมด” กับ “งานโรงงาน”

ข้อแตกต่างระหว่างกีต้าร์แฮนด์เมดกับโรงงาน… ต่างตรงวิธีคิดของโรงงานคือ ทำทุกชิ้นให้มันเหมือนกันใช่มั้ย แต่ว่าไม้ทุกชิ้น ไม่ว่าจะมาจากต้นเดียวกันมาจากส่วนต้น ราก ยอด มันก็ไม่มีทางที่จะแข็งเท่ากันโรงงานก็จะไม่มีความละเอียดพอที่จะมาตรวจตวามแตกต่างหนาบาง แข็งอ่อนแค่ไหน ไม้ทุกชิ้น กีต้าร์แต่ละตัวที่เราทำความหนาบางจะไม่เท่ากัน ไม้ที่แข็งเราก็จะทำให้มันบางกว่าไม้ที่มันมีความนิ่ม งานแฮนด์เมดคือเราทำให้มันดีที่สุดสำหรับไม้ชุดนั้นได้ เราสามารถเช็คไม้ทุกชิ้นได้

#11 | มุมมองของคนทั่วไปต่อการเป็น “นักทำกีต้าร์” 

ในตอนเริ่มทำ เราไม่ใช่ Gen แรกๆ ที่ต้องฝ่าฟันกับทัศนคติที่มีมากมาย แต่ในยุคแรกๆ ลูกค้าเค้าไม่ได้ต้องการสิ่งที่เราทำหรอก เค้าอยากได้คนที่ประกอบความฝันเค้ามากกว่า เหมือนเค้าอยากได้กีต้าร์แบบนี้นะ ที่มีลายเซ็นเค้าอยู่ แต่เราก็ยังไม่มีทางเลือก เราก็ทำ แต่ก็แอบใส่เอกลักษณ์เราเข้าไป หลังๆ มันดีขึ้นนมากคือ เราอยากทำอะไร ทำเลย แต่เราก็คุยกับลูกค้าก่อน แล้วดึงบุคลิคเค้ามาทำกีต้าร์

#12 | อะไรคือ “ความสุข” จากการที่ได้ทำกีต้าร์ด้วยมือของตัวเอง

ความสุขที่เกิดจากการทำกีต้าร์มันให้ทุกอย่าง สำหรับเรามันเป็นอาชีพที่เราอยากทำในอนาคต เป็นหมุดหมายของเราว่าอีก 5 ปีเราจะทำอาชีพนี้ เราจะสร้างบ้านเราก็วางแผนไว้ว่าจะต้องมีช็อปกีต้าร์อยุ่ในนั้น เวลาเราทำกีต้าร์เราก็เจอคนดีๆ เข้ามาหาเราเยอะเลยอ่ะ เราได้เจอลูกค้าดีๆ คนดีๆ เข้ามาพูดคุย ปัจจุบันยังนัดเจอพูดคุยกันเหมือนเป็นเพื่อนพี่น้อง เหมือนเราได้สังคมที่ดีขึ้นมา

#13 | เป้าหมายนับจากนี้เป็นอย่างไร เล่าให้ฟังได้ไหม?

การทำกีต้าร์เป็นอาชีพที่เราอยากตื่นเช้าเข้ามาทำมันทุกวัน ทำแล้วมันเพลินไปกับมัน ช่างพันใน 10 ปีข้างหน้า เราเห็นตัวเองในอายุ 70 เราทำกีต้าร์ เราพยายามเก็บไม้ทุกปี เพื่อให้เราสามารถทำได้จนถึงอายุ 70 และอยากให้กีต้าร์มันมีเอกลักษณ์มากๆ จนไม่ได้ขายแค่คนไทย อยากไปขายเมืองนอก อยากเป็นช่างที่มือชื่อเสียงในต่างประเทศ

#14 | อะไรเป็นกำลังใจสำคัญที่ทำให้รู้สึกว่ายังอยากจะทำสิ่งนี้ต่อไปเรื่อย ๆ 

คือจริงๆ ถ้าเราอยากทำอะไร ถ้ามันอยากทำอะไรมากขนาดนั้นจริงๆ เราว่าเราก็ทำแล้วแหละ ถ้ายังไม่ทำสักทีลองถามตัวเองว่าเรารักมันจริงหรือป่าว ถ้า Passion เรามันใหญ่พอนะเรื่องอื่นก็เป็นเรื่องเล็กไปเลย เราว่าเราควรทำไปเลย ถ้าไม่ทำก็ไม่รู้ป่ะ (หัวเราะ) ถ้าเราแค่สงสัย มันก็ได้แค่สงสัย มันไม่ถึงขั้นต้องลาออกจากงานหรอก

ถ้าเรารักมัน เราจะหาช่องทางเพื่อทำมันอยู่แล้ว
ถ้าเรารักมัน เราก็อยากอยู่ใกล้มันแค่นั้นเอง

จากความชอบมาเป็นอาชีพมาเป็นจุดหมายในชีวิต ทุกอย่างล้วนอยู่ที่ตัวเราที่จะพาตัวเองไปสู่จุดที่เราอยากจะเป็นหรือไม่ ที่สำคัญคือการเรียนรู้และพัฒนาฝีมือไปเรื่อยๆ MOVER อยากให้บทความนี้เป็นกำลังใจให้กับทุกคนที่มีความฝันแต่ยังไม่ได้เริ่มต้นทำมันสักที เราเชื่อว่าถ้าทุกคนชัดเจนกับ Passion ของตัวเองและมุ่งมั่นมากพอ มันจะเป็นจริงในวันหนึ่งอย่างแน่นอน


บทความนี้เรียบเรียงขึ้นโดย ทีมงาน MOVER

mover.in.th@gmail.com
Tags