Type to search

Art & Design

EXHIBITION: REWIND TO THE NEXT by PRACTICAL ศิลปะ 2 มิติ จาก 8 ศิลปินแถวหน้า

Share

ผมมีโอกาสได้ฟังสัมภาษณ์หัวเรือใหญ่แห่ง Practical studio – อ.สันติ ลอรัชวี หรืออาจารย์ติ๊ก ที่นอกจากจะเป็นผู้ก่อตั้งสตูดิโอแห่งนี้แล้ว ยังเป็นอาจารย์แห่งคณะนิเทศศาสตร์แห่งมหาวิทยาลัยกรุงเทพอีกด้วย ผู้มีแนวคิดในการทำงานน่าสนใจ ซึ่งจะมีนัยความหมายสอดแทรกอยู่ในทุกบทสนทนา อย่างประโยคที่ผมจำติดหูที่ว่า ‘ผมสนใจปัญหาสังคมที่เกิดขึ้น ผมคิดว่ามันเกิดจากช่องว่างระหว่างคนในสังคมและ ผมต้องการทำให้มันดีขึ้น เพราะปัญหาสังคมเรื้อรังส่วนใหญ่มันเกิดจากสิ่งนี้ ซึ่งจะไม่ใช่ด้วยการ fill the gap แต่เป็นการ build the bridge’ ทำให้ผมสนใจในนิทรรศการ REWIND TO THE NEXT ที่กำลังเกิดขึ้น อันเป็นนิทรรศการชั่วคราวจัดแสดงผลงาน ควบคู่กับการเวิร์คช็อปและพูดคุย จัดขึ้นที่ THE JAM FACTORY กลุ่มอาคารลักษณะคล้ายโกดัง ที่เมื่อก่อนเป็นเพียงโรงงาน แต่ได้รับการฟื้นฟูให้มีลุคเท่ห์น่าสนใจจากสถาปนิกชื่อดังอย่าง ดวงฤทธิ์ บุนนาค สร้างสรรค์พื้นที่หลากฟังค์ชันการใช้งาน ไม่ว่าจะเป็นออฟฟิส ร้านอาหาร ร้านกาแฟ ร้านหนังสือ และร้านเฟอร์นิเจอร์

PRACTICAL เป็น GRAPHIC HOUSE ที่ค่อนข้างมีชื่อเสียงในไทย เพราะคร่ำหวอดในวงการกราฟฟิคกว่า 12 ปีแล้วครับ ที่เน้นวิธีการสร้างสรรค์นามธรรมบางอย่างให้สื่อออกมาเป็นรูปธรรมให้สังคมปัจจุบันเข้าใจและจับต้องได้เช่นผลงานที่ผ่านมาอย่างการออกแบบเอกลักษณ์ให้กับงานสถาปนิกปี2014 ที่ครั้งนี้ได้เชิญชวนให้เหล่าดีไซน์เนอร์ สถาปนิก และลูกค้าจากคาเฟ่ ร้านอาหาร แวะเวียนมาเยี่ยมชมงานออกแบบที่น่าสนใจนี้

13516701_1298409503521306_3698438182930036669_n

เรื่องราวที่ PRACTICAL นำเสนอเป็นรูปแบบการออกแบบภาพ 2 มิติมีระบบที่ต้องการให้ผู้คนทั่วไปสามารถเข้าใจได้ว่าแต่ละผลงานมีที่มาอย่างไร จากการบ่มเพาะมาครึ่งปี เริ่มต้นด้วยการที่นักออกแบบทั้ง 8 คน คือ Pornchanok Tingjitbusanga, Nattapol Rojjanarattanangkool, Kanoknuch Sillapawisawakul, Nuttapong Daovichtr, Jessada Weesuwan, Santi Lawrachawee, Sirunya Tweesak, Pitiporn Wonggornworawej ต่างสร้างสรรค์แพทเทิร์นกราฟฟิคขึ้นมาคนละ 1-2 ระบบตามความสามารถและถนัดของแต่ละคนครับ ซึ่งถือเป็นโจทย์ตั้งต้นของผลงานทั้งหมดในนิทรรศการที่ว่า ‘หากแท้จริงแล้วทุกคนบนโลกสามารถสร้างงานและเข้าใจผลงานกราฟฟิคของผู้อื่นได้เช่นกัน’ จากนั้นก็นำแพทเทิร์นเหล่านั้นมารวมกันเพื่อสร้างผลงานการออกแบบต่างๆโดยอิงจากระบบเหล่านั้น

13532932_1298409406854649_7051148786151135155_n

13524402_1298409610187962_4330983423281830655_n

13532959_1298409580187965_8246053492065163802_n

รูปแบบนิทรรศการได้รับการจัดขึ้นในพื้นที่ขนาดเล็กแต่น่าสนใจ มีจังหวะและระยะการชมงานศิลปะที่เหมาะสมตามหลักการจัดแสดง เรียบง่าย และสบายตา ที่สำคัญคือจะมีนักออกแบบคอยต้อนรับ และเดินนำเสนอผลงานอย่างเป็นกันเองอีกด้วย โดยผู้ที่นำผมเดินชมนิทรรศการคือ Pornchanok Tungjitbunsanga ที่ให้ความเป็นกันเอง และตอบคำถามแบบที่ผมรู้สึกได้ว่าไม่ใช่การท่องจำมา แต่คือการที่เขาอธิบายออกมาจากใจ จากผลงานที่เขาตั้งใจออกแบบไว้ ทำให้ผู้เข้าชมเข้าใจและรู้จักผลงานต่างๆอย่างลึกซึ้ง เหมือนได้อยู่ในทุกลำดับการทำงานของเหล่านักออกแบบเลยล่ะครับ

13512017_1298409606854629_3181635658843941142_n

13533251_1298409443521312_6344352444399975123_n

13495345_1298409583521298_6671955970988801148_n

จากระบบแพทเทิร์นต่างๆที่ทุกคนได้สร้างสรรค์ไว้  กลายมาเป็นผลงานสองมิติ ไม่ว่าจะเป็นแผนที่โลกทรงเรขาคณิต ที่เป็นการรวมแพทเทิร์นเหล่านั้นไว้ทั้งหมด และสร้างพื้นที่กราฟฟิคจากการตัดกันของเส้นมากมายเหล่านั้น หรือตัวอักษรรูปแบบแปลกตาที่ให้เราได้สนุกกับการอ่านและคาดเดาความหมายคู่การแฝงนัยทางการมองเห็นนั่นเอง

13528674_1298409423521314_6357206027073433606_n

หรือรูปแบบกราฟฟิคประเทศไทยทั้ง 16 แบบ ที่ให้ความหมายและความรู้สึกแตกต่างหลากหลายกันไป แต่ยังคงแบบฟอร์มเดิมของลักษณะพื้นที่ประเทศไทยไว้เช่นเดิม ให้เราได้สัมผัสมุมมองแปลกใหม่ของประเทศที่เราอยู่อาศัยอีกด้วย

13466347_1298409483521308_8687776171486711868_n

ภาพกราฟฟิคจากการถอดรูปแบบการเต้นของนักบัลเล่ห์จากการอัดวีดีโอจากมุมมองต่างๆ ทั้งด้านบน ด้านข้าง แล้วนำมาถอดรหัส สร้างเป็นรูปแบบกราฟฟิคน่าสนใจ หรืออีกมุมหนึ่งที่น่าสนใจ คือ 8 ชิ้นผลงานจาก 8 นักออกแบบ ที่มีแนวคิดการนำเสนอรูปแบบคาแรกเตอร์ของแต่ละคนผ่านลักษณะทางกายภาพที่แปลกตาและไม่เหมือนกัน ซึ่งทุกผลงานล้วนมาจากแนวคิดเรียบง่ายที่ผู้เข้าชมต่างเข้าใจได้ไม่ยากนัก ทั้งภาพรวมและการอ่านรายละเอียดปลีกย่อยของผลงานไม่ต่ำกว่า 20 ผลงาน

13512131_1298409393521317_2152576340629391693_n

13524475_1298409460187977_7482336428029240346_n

ซึ่งนอกจากจะจัดแสดงผลงานของทางสตูดิโอแล้ว PRACTICAL ยังร่วมงานกับ TAKEHOMEDESIGN แบรนด์เฟอร์นิเจอร์ร่วมสมัย ที่สินค้าได้รับการตกแต่งไว้ตามจุดต่างๆในนิทรรศการให้ผู้เข้าชมสามารถทดลองใช้สอยเฟอร์นิเจอร์เหล่านี้ได้จริงอีกด้วย ควบคู่กับการจัดเวิร์คช็อป พูดคุยแลกเปลี่ยนความคิดเห็น และการนำชมนิทรรศการโดยผู้ออกแบบเองตลอดระยะเวลาการจัดแสดงครับ

ส่วนตัวแล้ว ผมมองว่านิทรรศการนี้เป็นการเปิดโอกาสให้ใครหลายๆคนได้ลองมองงานออกแบบมุมใหม่ ไม่เฉพาะในแวดวงดีไซน์เนอร์เท่านั้นที่สามารถเข้าใจได้อีกต่อไปครับ เหมือนเป็นการตอบสิ่งที่อาจารย์ติ๊กได้เคยกล่าวไว้ โดยเป็นการสร้างสะพานระหว่างคนในสังคม ที่ครั้งนี้คือสะพานระหว่างนักออกแบบกับคนทั่วไปเดินเข้ามาให้เข้าใจกันมากขึ้นครับ


ภาพจาก The Jam Factory

REWIND TO THE NEXT

Exhibition by PRACTICAL STUDIO

 


บทความนี้เรียบเรียงขึ้นโดย ทีมงาน MOVER

mover.in.th@gmail.com