Type to search

Business Make A Move

4 ช่องทางที่ต้องรู้เพื่อการใช้ E-wallet อย่างฉลาดสไตล์ New Gen

Share

ในวันที่เร่งรีบ แล้วต้องทำธุรกรรมทางการเงิน แทนที่จะไปต่อคิวที่เคาน์เตอร์ จะดีกว่ามั้ย ถ้าให้เทคโนโลยีใกล้ตัว ช่วยให้คุณประหยัดและสะดวก มากยิ่งขึ้น วันนี้ Money Avengers ft. Mover ขอนำเสนอ 4 เทคโนโลยีใกล้ตัว E-Wallet ที่ช่วยให้การจับจ่ายของคุณง่ายขึ้น

1. Internet Banking

Internet Banking เป็นเทคโนโลยีที่มีในไทยมานาน 4-5 ปีแล้วและเป็นอีกหนึ่งทางเลือกที่ลดความคิดที่ว่าการทำอะไรสักอย่างเกี่ยวกับการเงินหรือธนาคารมันเป็นเรื่องยุ่งยาก ยิ่งกว่านั้นคือมันสามารถการันตีความปลอดภัยได้มากขึ้นพอสมควร จนเรียกได้ว่าการทำธุรกรรมต่าง ๆ แม้แต่กับบริษัทใหญ่ ๆ ก็นำ Internet Banking มาใช้กันเป็นช่องทางปกติ แต่ว่า…แต่ละธนาคารก็จะมีมาตรฐานและวิธีการใช้ที่แตกต่างกัน แต่หนึ่งสิ่งที่เราต้องเจอแน่  ๆ คือรหัส OTP หรือ One Time Password เป็นรหัสผ่านที่มีตัวเลข 6 หลักสำหรับใช้แค่ครั้งเดียว โดยระบบจะส่งมาที่เบอร์มือถือที่เราผูกไว้เท่านั้น และอีกสิ่งคือระบบ Pad Number ที่จะมีเลขขึ้นมาบนหน้าจอสำหรับกดรหัส​ โดยเลขจะเรียงลำดับไม่ซ้ำกับคีย์บอร์ด​ของเราเพื่อป้องกันสแปม​ และอีกหนึ่งข้อสำคัญที่ควรระวัง คือ ไม่ควรใช้ Wi-Fi สาธารณะในการทำ Internet Banking ในทุกกรณี

ระบบความปลอดภัยของธนาคารนั้นเป็นแค่ส่วนหนึ่งเท่านั้น หลักใหญ่ใจความคือตัวเราเอง อย่าใช้ความเคยชินโดยให้บราวเซอร์ (​Browser) จำรหัสผ่าน (Password) เอาไว้บ่อย ๆ และควรเปลี่ยนรหัสผ่านทุกเดือนก็จะดีที่สุดครับ ส่วนการทำธุรกรรมต่าง ๆ แทบจะทำได้เช่นเดียวกับการลุกไปธนาคารเลย ไม่ว่าจะโอน จ่ายค่าสาธารณูปโภคต่าง ๆ รวมไปถึงการซื้อกองทุน การบริหารบัตรเครดิตต่าง ๆ ต่อไปนี้จะมาอ้างว่าไม่มีเวลาไปออมเงิน หรือไม่มีเวลาดูแลกองทุนไม่ได้แล้วนะครับ เพราะเพียงแค่คุณเปิดแท็บเล็ตหรือสมาร์ทโฟนขึ้นมา ธนาคารก็อยู่ตรงหน้าแล้ว

 Tips  : บางธุรกรรม เช่น โอนต่างธนาคารผ่านระบบ Internet Banking จะเสียค่าธรรมเนียมถูกกว่าโอนผ่านเอทีเอ็มหรือหน้าเคาท์เตอร์ หรือในกรณีที่ตัวคุณไปต่างจังหวัด แล้วต้องโอนเงินให้เพื่อนที่อยู่กรุงเทพ คุณก็โอนฟรีได้ตามปกติ ต่างจากถ้าไปโอนที่ตู้จะต้องเจอค่าธรรมเนียมข้ามเขตแน่ ๆ ประหยัดไปได้หลายบาทครับ

2. Mobile Banking 

ต่อจาก Internet Banking ก็มาที่ Mobile Banking ที่เราใช้กันจนเป็นส่วนหนึ่งของชีวิตไปแล้ว หลาย ๆ คนอาจยังสงสัยว่ามันแตกต่างกับ Internet Banking ก่อนหน้านี้ยังไง Mobile Banking คือการทำธุรกรรมที่อาศัยอินเทอร์เน็ตเหมือนกันแต่ไม่ต้องผ่านเว็บไซต์ ใช้ผ่านแอปพลิเคชันแทน เพราะด้วยความรวดเร็วทันใจ ทำธุรกรรมได้ครบถ้วนกระบวนความพอ ๆ กับ Internet Banking

แต่ด้วยความเป็นมือถือจึงมีฟังก์ชั่นที่เอื้ออำนวยได้มากกว่า อาทิ การอ่านบาร์โค้ดหรือ​ QR code โดยใช้กล้อง​ไม่ว่าจะจ่ายค่าบัตร  ค่าน้ำ ค่าไฟ เปิดแอปขึ้นมาสามารถจ่ายได้ทันที สะดวกรวดเร็วไม่ต้องมานั่งกรอก​เลขยาวๆ​ รวมไปถึงการเช็คยอดการเข้าออกของการเงินได้อย่างทันท่วงที ไม่ต้องรอรอบบิลถึงจะรู้ว่าในบางครั้งอาจเกิดความผิดพลาดในการซื้อของหรือใช้บริการที่อาจจะตัดยอดเกินไป หรือตัดยอดทั้ง ๆ ที่เรายังไม่ได้รับบริการนั้น ๆ

รวมไปถึงการจ่ายเงินเศษไม่ถึงร้อยบาท อย่างการซื้อกาแฟ นั่งมอเตอร์ไซค์วิน ที่เราจะพูดกันต่อไปในเรื่องของ QR Code อีกด้วย และล่าสุดธนาคารหลาย ๆ เจ้าก็เริ่มทยอยให้บริการถอนเงินโดยไม่ใช้บัตรผ่านแอปพลิเคชัน โดยให้เราเลือกจำนวนเงินจากบัญชีในแอป จากนั้นไปที่ตู้ ATM ของธนาคารนั้น ๆ ภายในเวลา 15 นาที พร้อมกรอกเบอร์มือถือและรหัสกดเงิน แค่นี้ก็กดเงินออกมาได้ง่าย ๆ ไม่เสียค่าธรรมเนียมและไม่ต้องพึ่งบัตรแล้วครับ แถมยังลิงก์กับ Google Map ให้เราค้นหาตู้ ATM ที่ใกล้ตัวเราที่สุดอีกด้วย เอาเป็นว่าลืมกระเป๋าตังลืมได้ แต่อย่าลืมมือถือเด็ดขาด

 3. E-wallet & QR Code

เคยมั้ย เตะบอลกำลังสนุก แต่ต้องสะดุดเพราะวิ่งหากระเป๋าตังไปซื้อน้ำกิน วันนี้เรามาเปลี่ยนมือถือของท่านให้กลายเป็นกระเป๋าตังกันดีกว่า ซึ่งนอกจากจะสะดวก ไม่ต้องพกกระเป๋าตังให้กระเป๋าตุงแล้ว ยังได้ความประหยัด เพราะ E-wallet เหล่านี้ ส่วนใหญ่แล้วมักมีโปรโมชั่นเมื่อชำระค่าสินค้าและบริการที่ร้านสะดวกซื้อและห้างสรรพสินค้าชั้นนำ เช่น Cashback ส่วนลด หรือสะสมแต้ม

เท่านั้นยังไม่พอ เวลาชำระบิลค่าสาธารณูปโภค และสินเชื่อต่าง ๆ ก็สามารถชำระผ่าน E-wallet ได้แทบทั้งสิ้น ทำให้สะดวก ไม่ต้องไปรอคิวที่ธนาคารหลาย ๆ เจ้าอีกต่อไป การเติมเงินก็ง่าย เพียงติดต่อร้านสะดวกซื้อหรือทำเรื่องหักบัญชีไว้ เท่านี้ก็เติมออนไลน์ที่ไหนก็ได้ไม่ต้องง้อสาขาอีกต่อไป ซึ่งปัจจุบันในไทยก็มีเจ้าใหญ่ ๆ ที่ให้บริการ E-wallet อยู่ดังนี้ Line Pay / AirPay ฝั่งค่ายมือถือก็มี TrueMoney Wallet / my AIS รวมไปถึง Samsung Pay ซึ่งเดี๋ยวเราจะมาแจงจุดดี จุดเด่นใน Episode ถัดไป

ว่าด้วยเรื่อง Samsung Pay ในยุคก่อนหน้านี้การจะใช้งานบัตรเครดิต ร้านค้าต้องมีเครื่อง EDC เพื่อรับชำระเงินแต่ก็เห็นได้ชัดว่ามีข้อจำกัดหลายอย่าง ไม่ว่าจะเป็นในเรื่องของการจำกัดธนาคารหรือ VAT ทีนี้ Samsung Pay ไม่ใช่การเติมเงินลงไปในระบบแล้วสแกนบาร์โค้ดคิดเงินปกติเหมือน Rabbit LINE Pay หรือว่า TrueMoney Wallet แต่เป็นการเพิ่มและเซฟบัตรเครดิตที่เรามีลงไป แล้วใช้ Samsung Pay รูดแทนบัตรเครดิตปกติผ่านเครื่อง EDC ได้เลย

เพราะโดยปกติเครื่อง EDC ทำการส่งข้อมูลผ่านแถบแม่หล็ก ซึ่ง Samsung Pay ก็มีเทคโนโลยีที่จำลองคลื่นแม่เหล็กเช่นเดียวกันหรือที่เรียกว่า MST (Magnetic Secure Transmission) อยู่ในโทรศัพท์เลย ถึงแม้ว่า Samsung Pay จะมีความเหนือกว่าการจ่ายเงินแบบอื่น ๆ อยู่มาก แต่ข้อจำกัดยังอยู่ที่ว่าน้อยคนที่รู้จักและเข้าใจการทำงานของมัน และหากต้องการเลิกใช้งาน เราสามารถลบออกได้เลย โดยไม่เกิดเอ็ฟเฟ็กต์อะไรกับบัตรเครดิตแข็ง ๆ ในกระเป๋าสตางค์ของเรา 

กลับมาที่เรื่อง QR CODE & Barcode ที่ล่าสุดเพิ่งมีการประกาศแถลงข่าวความร่วมมือครั้งสำคัญที่รวมเอาสถาบันการเงินและกลุ่มให้บริการบัตรเครดิตทุกเจ้าทั่วประเทศมาร่วมกันสร้าง Cashless Society ด้วยการใช้มาตรฐานคิวอาร์โค้ดเพื่อการชำระเงิน ถามว่าทำไมถึงเกิดการผลักดันการใช้ QR Code หรือ Quick Response Code มากขึ้น เพราะว่า QR Code ที่ว่านี้คือรหัสที่พัฒนามาจากบาร์โค้ด แต่ใช้งานง่ายกว่า เก็บข้อมูลได้ง่ายกว่า และเป็นมาตรฐานสากลเดียวที่สามารถใช้ร่วมกันได้หมด อยู่ในไทยจะใช้แอปไหนก็สแกนคิวอาร์โค้ดเดียวกันเพื่อจ่ายเงินได้ อีกหนึ่งข้อได้เปรียบของคิวอาร์โค้ดก็คือ เพิ่มความปลอดภัยให้ผู้ใช้งานเพราะไม่ต้องให้บัตรหรือข้อมูลส่วนตัวใด ๆ กับร้านค้าและบริการเลย

 Tips  : เมื่อความปลอดภัย​ทางการเงินของคุณรวมอยู่ในมือถือแบบนี้​ นั่นจึงเป็นเหตุผลว่าทำไมมือถือค่ายต่างๆ​ จึงแข่งกันออกระบบ​ Security ID ทั้งสแกนลายนิ้วมือ​ รูม่านตา​ ไปจนถึงสแกนใบหน้า​ ฉะนั้นทุกครั้งที่ซื้อมือถือใหม่อย่าลืมตั้งค่าความปลอดภัย​ให้รัดกุม​ รวมถึงการเซ็ตระบบให้สามารถ​ Format ข้อมูล​ได้ด้วยตัวเอง​ ซึ่งมีประโยชน์​มากๆในกรณีที่​มือถือเกิดการสูญหาย

Facebook : SCB Thailand

4. Official Channel 

ช่องทางหลักในยุคก่อนหากต้องการสอบถามข้อมูลเกี่ยวกับ​ธนาคาร​ ก็คือ​ Call Center แต่กว่าจะได้คุยกับคนก็รอจนแทบหลับ ให้ Social Media ช่วยคุณดีกว่า ตอนนี้ทุกธนาคารมี​ Facebook​ และ​ Official Line อยู่แล้ว​ อัพเดททั้งข่าวสาร​ โปรโมชั่น​พร้อมจะสรรหาข้อมูลดี ๆ เหตุการณ์โดน ๆ มาย่อยและส่งต่อความรู้ให้คุณอย่างเต็มที่

หรือจะเลือกเข้าร่วมกลุ่มต่าง ๆ ที่มีคนจำนวนมากพร้อมที่จะแลกเปลี่ยนความรู้กันก็สามารถทำได้ เท่านี้ข้อมูลและข่าวสารดี ๆ ก็ถูกส่งต่อถึงมือท่านอย่างง่ายได้ ไม่ต้องเข้าคิวรอ ไม่ต้องกดโทรศัพท์ เพียงแค่เล่นเฟซบุ๊กเช่นเดิม เพิ่มเติมคือเลือกเพจดี ๆ เท่านั้นเอง

 Tips  : คุณก็รู้ว่าพลังโซเชียล​มีทั้งด้านดีและด้านไม่ดี​ ในเพจของธนาคาร​ หรือเพจของสถาบันการเงินต่างๆ​ มักจะมีการเคลม​ คอมเมนท์​ต่างๆทั้งในด้านดีและไม่ดี​ ขอให้ใช้ข้อมูลเหล่านั้นเป็นเพียงส่วนหนึ่ง​ในการประกอบการตัดสินใจ​ อย่างไรเรื่องเงินๆทองๆก็ควรศึกษาจากหลายๆปัจจัย​ดีกว่าครับ

ติดตาม Tips การเงิน การลงทุนได้ที่ : Money Avengers


บทความนี้เรียบเรียงขึ้นโดย ทีมงานเพจ Mover

mover.in.th@gmail.com


บทความนี้เรียบเรียงขึ้นโดย ทีมงาน MOVER

mover.in.th@gmail.com
Tags
Pomm

ที่ปรึกษาทางการเงิน ผู้ร่วมก่อตั้งเพจ Money Avengers “เกรียนการเงิน” https://www.facebook.com/ltfavengers/ และ เพจ “อ่านข่าวนอก” https://www.facebook.com/read.global.news/

  • 1