บาส-นัฐวุฒิ พูนพิริยะ ผู้กำกับสุดฉลาดในเกมส์แห่งการโกง
Share
“ฉลาดเกมส์โกง” ใบประกาศสำคัญจากสนามสอบที่จะเปลี่ยนกระดาษคำตอบให้เป็นเงินล้าน ภาพยนตร์ไทยใหม่แกะกล่องจากค่ายหนัง GDH 559 ที่เพิ่งปล่อยตัวอย่างภาพยนตร์ออกมาให้ได้ชมพร้อมกันทั่วประเทศไปแล้วไม่กี่วันมานี้เองกับฝีมือการกำกับที่สร้างเสียงฮือฮาจากภาพยนตร์เรื่องเคาท์ดาวน์ ในปี 2012 อย่างบาส – นัฐวุฒิ พูนพิริยะ
“ฉลาดเกมส์โกง” ภาพยนตร์โกงข้อสอบระดับโลกของเด็กวัยรุ่นไทย 4 คน นำแสดงโดย ชานน สันตินธรกุล รับบท แบงค์ / ชุติมณฑน์ จึงเจริญสุขยิ่ง รับบท ลิน / ธีรดนย์ ศุภพันธ์ภิญโญ รับบท พัฒน์ / และอิษยา ฮอสุวรรณ รับบท เกรซ จากที่ได้ชมตัวอย่างภาพยนตร์กันไปแล้ว ก็ต้องยอมรับในความน่าสนใจของเนื้อเรื่องที่ถูกนำเสนอออกมา และเพราะความน่าสนใจของหนังเรื่องนี้ Mover ถือโอกาสขอพาผู้อ่านทุกคนไปทำความรู้จักกับหนังเรื่องนี้ให้มากขึ้นด้วยบทสัมภาษณ์จากผู้กำกับของฉลาดเกมส์โกง คุณบาส-นัฐวุฒิ พูนพิริยะ
คอหนังหลาย ๆ คนคงคุ้นหน้าคุ้นตาผู้กำกับฝีมือดีอย่าง บาส-นัฐวุฒิ พูนพิริยะ หรือที่ใครหลายคนรู้จักในฐานะพี่ชายของจูนจูน-พัชชา พูนพิริยะ คุณบาสได้ส่งผลงานที่โดนใจใครหลาย ๆ คนออกมามากมาย ทั้งผลงานไวรัลโฆษณา อย่าง “คอนเสิร์ตข้างถนน” จาก เมืองไทยประกันชีวิต “ลลิน” จาก พรเกษมคลินิก ผลงานหนังสั้น เช่น “My Brother” จาก Brother Thailand มิวสิควิดีโอเพลง “ซิ่ง” จาก Polycat และภาพยนตร์เรื่องยาวที่มีการเล่าเรื่องแปลกใหม่อย่าง “เคาท์ดาวน์”
ช่วงเวลา 5 ปีที่ผ่านมากับการห่างหายไปจากการทำภาพยนตร์เรื่องยาว มีผลงานอะไรบ้าง
“ใช้คำว่าทำมาหากินแล้วกันครับ ทำหมดเลยครับ มีใครจ้างก็ทำหมด ทั้งโฆษณา ทั้งไวรัล ออนไลน์ฟิล์ม เอ็มวี แล้วแต่โอกาสจะมา”
นอกเหนือจากงานที่เป็น Commercial ยังได้กลับไปทำหนังสั้นหรือหนังทดลองของตัวเองอีกบ้างไหม
“มีบ้างครับ ไม่เชิง Commercial ซะทีเดียว เคยทำหนังสั้นเรื่องหนึ่งอยู่ในโครงการวันพ่อ ฉายในโรง เป็นโครงการทศพิธราชธรรมทั้ง 10 เรื่อง รวมผู้กำกับ 10 คนมาทำด้วยกัน แต่ละคนก็รับทศพิธราชธรรมของแต่ละข้อไปตีความของตัวเองและทำออกมา ผมก็ทำไปข้อหนึ่ง ได้ ‘พี่น้อย วงพรู’ กับ ‘พี่เดวิด อัศวนนท์’ มาแสดง (ภาพยนตร์สั้น Reunion)”
จากหนังสั้น เอ็มวี ภาพยนตร์ จนถึงไวรัล คิดว่าในแต่ละส่วนมีจุดเชื่อมกันในเส้นทางการทำงานของเราอย่างไร
“ผมว่าจุดเชื่อมน้อยกว่าจุดแตกต่างอีกนะ สำหรับผม จริง ๆ มันดูเหมือนจะเป็นศาสตร์เดียวกัน ก็ดูเป็นหนังเล่าเรื่อง เพียงแต่ว่าถ้าเป็นไวรัล ไวรัลมันก็มีที่มาจากการเป็นโฆษณา เราก็ต้องรับผิดชอบสินค้า มันมีตั้งแต่ขายสินค้าจนกระทั่งขาย Attitude ของแบรนด์ตัวที่เราทำ ก็ต้องดูว่าโจทย์ของลูกค้าในการทำงานนั้น ๆ เขาต้องการขายอะไร ขายโปรดักส์ตัวนี้อย่างเดียวหรือว่าขายความเป็นแบรนด์ของเขา ต้องตีความตรงนี้ให้ออกก่อน ค่อยบอกเล่าเรื่องราวที่สอดคล้องแบรนด์เขา ในขณะเดียวกันเราก็ต้องรับผิดชอบการเล่าเรื่อง ความเป็น Filmmaker ของเราด้วย ในขณะที่ถ้าเป็นหนังสั้นมันก็คือเล่าเรื่องอย่างเดียว เรามีซิกเนเจอร์แบบไหนเราสามารถใส่ได้เลย แต่ถ้าเป็นไวรัลเป็นโฆษณาอาจจะต้องมีความ Compromise กับลูกค้า ก็จะยากขึ้นมาอีกสเต็ปหนึ่ง”
เมื่อผู้กำกับภาพยนตร์ต้องมาทำคลิปไวรัลที่ขายของโดยไม่ขายมีความอึดอัดใจอะไรบ้างไหม
“แรก ๆ ก็มีนะ ช่วงไปทำแรก ๆ จะบอกว่าไม่มีเลยก็ดูโกหกไปหน่อย ดูโกงไปนิดนึง แรก ๆ ก็มีช่วงเข้าไปทำใหม่ ๆ เราก็มีความติสท์อะไรของเรา ทำไมไม่เชื่อฉัน ทำอย่างนี้มันไม่ดีนะ แต่สุดท้ายเราก็ต้องทำความเข้าใจธรรมชาติของงาน คือพอมันเป็นโฆษณา มันเป็นไวรัล มันก็คือเราต้องทำงานเสิร์ฟลูกค้า เอาง่าย ๆ มันต้องหาจุดกึ่งกลางที่เราก็แฮปปี้แล้วลูกค้าก็แฮปปี้ให้ได้ เพราะก็ต้องยอมรับว่า เราขายของให้เขา จริง ๆ ลูกค้ายุคหลัง ๆ ถือว่าเปิดกว้างขึ้นมาก เขาจะมีความเชื่อในการทำหนังที่เป็นหนังมากขึ้น เขาจะเชื่อผู้กำกับ เชื่อวิสัยทัศน์ผู้กำกับมากขึ้น แต่ในขณะเดียวกันเราก็ต้องอย่าเอาตัวเองเป็นที่ตั้งจนเราลืมขายของหรือลืมความเป็นแบรนด์เขา หาจุดกึ่งกลางให้ได้ ผมว่าเป็นความท้าทาย สนุกดี”
ในช่วงเวลา 2-3 ปีมานี้คำว่าไวรัลในกระแสบ้านเรามันบูมมาก ซึ่งก็มีทั้งไวรัลที่เกิดแบบเปรี้ยงปร้างและไวรัลที่ไม่ประสบความสำเร็จ คิดว่าปัจจัยมันอยู่ที่อะไร
“ผมว่ามันขึ้นอยู่กับหลายปัจจัยมากนะ พูดยาก หนังบางเรื่อง ถามผมผมก็ว่าเป็นหนังไวรัลที่ดี เป็นอินเทอร์เน็ตฟิล์มที่ดี แต่ก็ไม่ได้ถูกพูดถึงมากนัก มันขึ้นอยู่กับการทำการตลาด ขึ้นอยู่กับประเภทของหนังด้วย เพราะบางอย่างบางครั้งประเภทของหนังที่ต่างกันก็ส่งผลนะ หนังเรื่องนี้มันมีจริตที่มันถูกกับคนไทยก็ รสนิยมคนไทย ก็ได้รับความนิยม คนแชร์มากขึ้น ในขณะที่หนังอีกแบบหนึ่ง ไม่ค่อยถูกจริตกับคนหมู่มาก คนจะพูดถึงน้อย แต่ไม่ได้หมายความว่าความเป็นหนังของเขามันดีน้อยลง ไม่ใช่ อันนี้มันขึ้นอยู่กับหลายปัจจัยมาก แต่ผมก็เชื่อว่าคนทำงานทุกคนในเมืองไทยตั้งใจทำงานหมดแหละ ที่เหลือมันก็เป็นเรื่องจังหวะหลาย ๆ อย่าง”
เมื่อต้องกลับมาทำภาพยนตร์เรื่องยาวอีกครั้ง มีการปรับตัวอะไรไหม หรือสามารถเอาประสบการณ์อะไรในการทำไวรัลมาใช้กับหนังเรื่องนี้ได้บ้าง
“ปรับตัวเยอะเลยครับ เมื่อก่อนเราเคยโฟกัสงานหนึ่งชิ้นแค่ในระยะเวลาหนึ่งเดือน สมมติผมทำโฆษณาหรือทำไวรัลสักตัวหนึ่ง อายุการทำงานมันหนึ่งเดือนใช่ไหม เราก็ทุ่มเทกับของเราไปเลย เดือนนี้ทำยังไงก็ได้ให้งานตัวนี้มันลุล่วงออกมาแล้วดีที่สุด แล้วก็จบไป Move on เป็นงานต่อไปในเดือนต่อไป แต่หนังนี่มันคือแบบ หน่วยมันเปลี่ยนจากเดือนเป็นปีเลยครับ เพราะฉะนั้นมันกินพลังชีวิต พลังสมอง พลังทุกอย่างในร่างกายเยอะมาก อย่างเรื่องนี้ผมใช้เวลาสองปีที่แบบพัฒนามัน หยุดรับงานไวรัลไปเลย แล้วก็อยู่กับมันเรียกได้ว่าทุ่มเทมันมากกว่าหลาย ๆ เรื่องในชีวิต”
จากการโกงความตายในภาพยนตร์เรื่อง “เคาท์ดาวน์” มาสู่การโกงข้อสอบใน “ฉลาดเกมส์โกง” มันมีข้อแตกต่างหรือจุดเชื่อมอะไรบ้าง
“โอเค เป็นคำถามที่ดี นี่ได้ทบทวนตัวเองเลยนะ เพราะว่าคนทำงานทุกคนมันก็โตขึ้นนะ ยิ่งเวลาผ่านไป เราแก่ขึ้น เราทำงานเยอะขึ้น เราก็มีมุมมองต่อชีวิต ซึ่งมุมมองต่อชีวิตก็จะส่งผลต่อมุมมองต่อการทำงาน มันมาด้วยกัน สำหรับผมนะ ผมมาทำหนังเรื่องนี้ ผมเข้าใจคนดูมากขึ้น อันนี้ไม่แน่ใจว่ามันเกิดมาจากการที่พอเราไปทำงานส่วนอื่น ๆ เช่นอย่างที่บอก ทำโฆษณา ทำเอ็มวี อะไรพวกนี้ เราเสิร์ฟลูกค้า เรามีงานออกมาบ่อย เราเริ่มเช็คฟีดแบ็คคนดู เราเริ่มรู้ว่า จริตของคนชอบอะไรไม่ชอบอะไร อันไหนเวิร์คอันไหนทำแล้วไม่เวิร์ค อันไหนเราคิดว่าดีแต่คนส่วนมากจะรู้สึกว่ามันไม่ค่อยดีนะ ซึ่งอันนี้มันขึ้นอยู่กับการบาลานซ์ในการทำงาน พอเราเข้าใจธรรมชาติของคนดูมากขึ้น พอมาทำงานตัวนี้มันก็จะมีอะไรหลาย ๆ อย่างที่ผมต้อง Compromise ตัวเอง”
“เช่น ผมรู้สึกว่าผมชอบแบบนี้ แต่ถ้าผมทำอย่างนี้ไปเพียว ๆ ในแบบที่ผมต้องการ มันอาจจะไม่สื่อสารความรู้สึกหรือสื่อสารสิ่งที่เราต้องการจะบอกได้อย่างเต็มที่ ก็ต้องปรับจูนหรือหาทางเล่าเรื่องราวให้มันสื่อสารกับคนในวงกว้างได้มากขึ้น ต่างจากภาพยนตร์เรื่องเคาท์ดาวน์มันมีความไฟแรงแบบเด็กจบใหม่ได้ทำหนังเรื่องแรก เราก็จะใส่ความคิดของตัวเองไปเต็มที่โดยที่ไม่ได้คาดหวังผลตอบรับว่าจะไปในทิศทางใด ซึ่งจริง ๆ แล้ว ในการเป็นศิลปินมันก็ถูกในจุดหนึ่งนะ แต่อันนี้ขึ้นอยู่กับจุดยืนในการทำงานของเรานะครับว่าเราต้องการให้งานของเราอยู่ในจุดไหน ไม่มีถูกผิด”
ภาพยนตร์เรื่องเคาท์ดาวน์ถูกพัฒนามาจากบทหนังสั้นของคุณเอง แต่กับฉลาดเกมส์โกงต้องเริ่มใหม่หมด ทำให้ทำงานยากขึ้นไหม
“ยากกว่าเดิมเยอะ ๆ เลยครับ พอมันมีหนังสั้นมาก่อนแล้ว เหมือนผมทำบ้านจากโครงบ้านเดิม ไปซื้อบ้านเก่ามาแล้วทำใหม่นิดนึง แต่อันนี้ไอเดียมันมาจาก พี่เก้ง จิระ มะลิกุล, พี่วรรณ วรรณฤดี ซึ่งทั้ง 2 ท่านเป็นโปรดิวเซอร์ของฉลาดเกมส์โกงมาลงเสาเข็มให้ แล้วส่วนที่เหลือจากนั้นผมรับหน้าที่ทำต่อ มันคือการเริ่มต้นทุกอย่างจาก Scrap เลยจริงๆ ซึ่งก็มีความสนุกและท้าทายที่ต่างกัน”
ในระหว่าง 2 ปีที่เตรียมงาน เทคโนโลยีต่าง ๆ มันหมุนไปเร็วมาก มันทำให้จากจุดเริ่มต้นมีอะไรที่เปลี่ยนไปบ้างไหม
“ไม่ค่อยนะครับ เพราะจริง ๆ แล้ว โจทย์ในการทำหนังเรื่องนี้คือ ผมพยายามจะอิงความเป็นเทคโนโลยีให้น้อยที่สุด เพราะเทคโนโลยีที่แอดวานซ์จริง ๆ เป็นสิ่งที่คนทั่วไปอาจจะไม่ได้เก็ตกับมันมากเท่าไหร่ ผมพยายามทำทุกอย่าง base on ความรู้สึกของเด็กจริง ๆ ที่จะต้องโกงข้อสอบจากความสามารถของเด็กจริง ๆ โดยใช้ตัวช่วยให้น้อยที่สุด เทคโนโลยีก็เลยโดนตัดออกไปนิดนึง”
แบบนี้ก็กลายเป็นการเล่าจากความรู้สึกนึกคิดของเด็กในห้วงเวลานั้น ๆ แทน
“ก็ด้วยครับ จะพูดว่าเทคนิคในการลอกก็ดูเป็นการชี้แนะเนอะ เทคนิคในการลอกในเรื่องมันจะไม่ได้หวือหวามาก ถ้าถามผมนะ ไม่ได้หวือหวาในทางด้าน Gadget ไม่ได้ดูเป็น Sci-fi ใส่แว่นแล้วแว่นมีแบบยิงภาพที่เป็นข้อสอบออกมาได้ มันไม่ได้ขนาดนั้น มันเป็นสกิลของเด็กเหล่านี้มากกว่า คืออย่างที่บอก พยายามทำให้มัน Relate กับเด็กทั่วไป เด็กส่วนมากกับคนส่วนมากให้ได้มากที่สุดมากกว่า ไม่มีอะไรที่เราเหนือมนุษย์จนเกินไปนัก”
ในภาพยนตร์เรื่องฉลาดเกมส์โกงเล่าเรื่องในสไตล์ เคเปอร์สตอรี่ (Caper Story) ช่วยอธิบายและยกตัวอย่างหนังในแนวนี้หน่อย
“เคเปอร์จริง ๆ มันคือหนังโจรกรรมครับ โจรกรรมอะไรก็ได้ เงิน แหวนเพชร ทรัพย์สิน มันเป็นเรื่องของคนกลุ่มหนึ่งที่ต้องเข้ามาแล้วทำภารกิจด้วยกัน ซึ่งภารกิจนั้นก็คือการทำในสิ่งที่ท้าทาย ท้าทายกฎระเบียบ ถ้าให้ยกตัวอย่างหนังที่คนทั่วไปน่าจะเห็นภาพชัดเจนที่สุด น่าจะเป็นพวกแบบ Ocean Eleven ก็จะมีกลิ่นนั้นอยู่ หรือว่าหลัง ๆ ก็จะมีพวก Now You See Me เพียงแต่เรื่องราวเราไม่ได้เหนือมนุษย์อะไรขนาดนั้น ผมพยายามทำทุกอย่างที่ขายังติดพื้นอยู่ เรายัง Base on ความเป็นมนุษย์ ความเป็นจริงที่เราสัมผัสได้มากสุด”
ทำไมถึงเลือกหยิบเอาด้านมืดของวัยรุ่นมาเล่นอีกครั้ง ทั้ง ๆ ที่เป็นประเด็นที่สุ่มเสี่ยงมาก
“ผมไม่เคยมองว่าเป็นด้านมืดเลยนะ ผมรู้สึกว่าสิ่งเหล่านี้ไม่ใช่ด้านมืด นี่คือเรื่องธรรมดาสามัญของความเป็นมนุษย์ จริง ๆ ตั้งแต่ตอนทำเคาท์ดาวน์แล้วนะ ผมไม่เคยตั้งโจทย์ว่าเรามาทำหนังดาร์ก ๆ กันเถอะ ผมรู้สึกว่าในสิ่งที่ผมเห็น ผมเกิดและเติบโตมาจนถึงวัยขนาดนี้ แล้วก็เห็นเพื่อนเห็นคนรอบตัว มันก็มีด้านพวกนี้ผสมอยู่ในอัตราส่วนที่ค่อนข้างพอ ๆ กัน มันก็มีมุมใส ๆ ไบรท์ ๆ ตามประสาความเป็นมนุษย์เป็นวัยรุ่นก็มีบ้าง แต่ว่าผมอาจจะรู้สึกสนใจมุมนี้มากกว่า แต่ในขณะเดียวกันผมไม่ได้มองว่ามันเป็นสิ่งดาร์ก เป็นสิ่งไม่ดีอะไรแบบนี้ ผมรู้สึกว่ามันเป็นธรรมชาติอย่างหนึ่งของมนุษย์”
แต่คนจะชอบตีความคำว่า “โกง” ไปในแบบ “โตไปไม่โกง” อะไรแบบนี้
“จริง ๆ คีย์เวิร์ด ‘โกง’ ผมคงไม่ต้องบอกว่า มันเป็นเรื่องไม่ดีนะ อย่าทำ อะไรแบบนี้ แต่ผมมองว่ามันเป็นหน้าที่ส่วนหนึ่งของหนังเรื่องนี้เหมือนกันนะ ที่อยากให้คนเข้าไปดูแล้วลองดูว่าการโกงมันเอฟเฟ็กต์อะไรได้บ้างกับชีวิตเรา”
ในการหาข้อมูลเกี่ยวกับการโกงข้อสอบ มีทริคอะไรที่คิดว่าน่าตกใจหรือคาดไม่ถึงบ้างไหม
“อย่างผมจะมีน้องที่มาช่วยเขียนบทสองคนซึ่งเขาจะเด็กกว่า ส่วนมากเขาจะเป็นคนรับผิดชอบการหาข้อมูลอะไรพวกนี้ จริง ๆ ทริคในการโกงเด็กไทย ถ้าไม่นับพวกไฮเทคนะ รหัสมอสในนาฬิกา ก็จะเป็นทริคแบบซ่อนในยางลบ เขียนในเล็บ เขียนในกระดาษซับมัน ซ่อนในขอบกางเกงในอะไรพวกนี้ มันก็มีหมดอะครับจริง ๆ แล้ว แต่ตัวผม ผมเป็นคนไม่เคยโกงข้อสอบตั้งแต่เด็กเลย ตอนรับโจทย์ครั้งแรกก็งง ๆ เหมือนกันว่าจะทำได้ไหม จริง ๆ ก็มีเพื่อนรอบตัวเราทุกคนก็ทำหมดเลยนะ แล้วก็รู้สึกว่ามันก็มีแง่มุมที่น่าสนใจอยู่ในการหยิบมาเล่า ช่วงรีเสิร์ชข้อมูลก็ไม่มีอะไรที่หวือหวาขนาดนั้นนะ หรือว่าจริง ๆ แล้วมันหวือหวาเท่ากันก็ไม่รู้เหมือนกัน เพราะเด็ก ๆ มันก็ใช้วิธีการหลากหลายมากในการลอกข้อสอบ ทั้งที่ก็เป็นเด็กที่เรียนดีจึงเหมือนคำที่ว่า ฉลาดแกมโกง”
การทำงานกับนักแสดงวัยรุ่นที่ค่อนข้างจะเป็นหน้าใหม่ ต้องมาเจอกับบทเครียด ๆ โหด ๆ แบบนี้ เป็นยังไงบ้าง
“วัยรุ่นกลุ่มที่ผมเลือกมา ผมค่อนข้างโชคดีที่ได้นักแสดงที่มีวุฒิภาวะที่โตกว่าวัยนะ ทั้งสี่คนเลยนะ เพราะฉะนั้น คือด้วยวัยเขาจริง ๆ ก็เป็นวัยรุ่นแหละ อายุการทำงานในวงการก็ยังเป็นอย่างนั้นอยู่ได้ ด้วยความเข้าใจชีวิตของแต่ละคน เขารับมือกับมิติของบทได้ค่อนข้างดี อย่างที่บอกคือเราทำแคสค่อนข้างเยอะ เน้นในการเรียกคนมาทำแคส 15-20 ต้น ๆ พอคนที่เป็นเด็กมาก ๆ หรือเป็นวัยรุ่นมาก ๆ เขาจะยังไม่เข้าใจมิติของบท ความซับซ้อนของอารมณ์บางอย่าง ซึ่งอันนี้เป็นเรื่องปกติของวัยรุ่น ผมตัดสินใจเลือกเด็ก 4 คนนี้ 4 คนนี้เนี่ยแหละที่เข้าใจตัวละคร เข้าใจความเป็นมนุษย์แล้วก็รับมือกับบทได้ ซึ่งก็รู้สึกว่าเลือกไม่ผิด เพราะฉะนั้นตอนทำงานมันเลยค่อนข้าง Flow มาก ๆ ไม่มีตรงมุมไหนที่เรารู้สึกว่าเรากำกับเขาแล้วเขาไม่เก็ตหรือเขาไม่เข้าใจหรือเขาไปไม่ถึง ทุกคนรับผิดชอบทุกมิติของตัวละครได้ค่อนข้างดี”
จากที่หนังเล่าในเรื่องของต้นทุนชีวิต ถ้าให้เลือกระหว่างความดี ความเก่ง ความรวย และความหน้าตาดี จะเลือกอะไร เพราะอะไร
“อยากจะตอบว่ารวยก็ดูตื้นเขิน เอาเก่งแล้วกัน ผมว่าความเก่งเป็นเมล็ดพันธุ์ให้กับทุกอย่างในชีวิตที่จะทำให้ชีวิตมันงอกงามได้ครับ”
ถ้าเปรียบบาสเป็นครูคุมสอบ คิดว่ามีความเข้มงวดแค่ไหน
“ผมว่าผมใจดีนะ แต่ต้องไปถามเด็ก ๆ มั้งไม่รู้เหมือนกัน (หัวเราะ) เปรียบเทียบในแง่การทำงานของหนังเรื่องนี้ใช่ไหม (เพราะว่าเรากำกับมันก็เหมือนกับว่าเราตรวจข้อสอบ) ผมเป็นครูเจ้าระเบียบแล้วกัน ไม่ได้พยายามจะดุอะไรมากนะ เราก็จะมีมาตรฐานในการทำงานของเราที่เราก็คาดหวังว่าทุกคนจะทำงานให้ได้มาตรฐานเดียวกัน ซึ่งจริง ๆ ผมว่าไม่ว่าจะเป็นนักแสดงหรือทีมงาน ทุกคนก็เต็มที่กับการทำงานเรื่องนี้ แต่ด้วยความที่เป็นคนรายละเอียดเยอะมั้งครับ บางทีอาจจะสร้างความปวดหัวให้ทีมงานและนักแสดงไปบ้าง แต่ก็ผ่านมันมาได้ด้วยดี ก็อาจจะเป็นการสอบที่เครียด ๆ นิดนึง แต่ก็เสร็จทันเวลา ทุกคนได้คะแนนดีครับ”
สิ่งที่ท้าทายที่สุดในการทำหนังเรื่องนี้คืออะไร
“หลัก ๆ ผมว่าเรื่องเวลาเลย เวลาในการถ่าย เพราะว่าจริง ๆ ผมว่าหนังเรื่องนี้ Scope ค่อนข้างใหญ่ครับ แล้วก็ด้วยฉากของเรื่องต้องไปถ่ายเมืองนอกด้วย มันเหมือนจำกัดเวลาในการถ่ายทำ คิวในการถ่ายจึงต้องค่อนข้างเป็นไปตามแพลน แต่ Scope ในการทำงานที่เรามีมันก็มีเลเวลมีมาตรฐานของมันอยู่ ก็จะมีการถ่ายลากคิวบ้าง ถ่ายวันชนวันบ้าง ก็เหนื่อยบ้างนิดนึง แต่ก็ต้องกัดฟันสู้ต่อไป”
เรื่องนี้ไปถ่ายทำถึงประเทศออสเตรเลีย แตกต่างจากตอนที่ถ่ายทำที่นิวยอร์กในภาพยนตร์เรื่องเคาท์ดาวน์ไหม
“ที่ออสเตรเลียยากกว่าเยอะเลยครับ ไม่เกี่ยวกับความเป็นเมือง อันนี้เกี่ยวกับซีนของหนัง เพราะว่าตอนเคาท์ดาวน์ เหตุการณ์มันเกิดขึ้นในห้องที่เซ็ตที่เมืองไทยอยู่แล้ว ตอนนิวยอร์กมันก็เป็นซีนแบบว่าท่องเที่ยว เดินเล่นสวย ๆ ไป มันไม่ได้มีซีนดราม่าซีนอารมณ์อะไรมาก แต่ว่าอย่างเรื่องนี้ ซีนที่ซิดนีย์กินพื้นที่ประมาณ 30% ของหนัง มันเป็นซีนแอคชั่น เกือบ ๆ จะเป็นไคลแมกซ์เพราะฉะนั้นการดีลกับงาน สิ่งที่ตัวหนังมันต้องการเยอะกว่าเคาท์ดาวน์เยอะมาก”
แฟนหนังไทยค่อนข้างคาดหวังกับสิ่งแปลกใหม่จากหนังเรื่องนี้พอสมควร กดดันไหม
“กดดันครับ แต่เราก็แอบดีใจนะ ภายใต้ความกดดันทุกคนก็ดูคาดหวังดูเอาใจช่วยเต็มที่กับหนังเรื่องนี้ มันก็ดูเป็นพลังกับการทำงานเหมือนกันนะ จริง ๆ ตั้งแต่ตอนประกาศทางโปรเจ็กต์ มันก็ดูใหม่เหมือนกันนะกับวงการหนังไทย ซึ่งเราก็แบกรับความคาดหวังเหล่านั้นมา แล้วก็พยายามเปลี่ยนมันให้เป็นพลัง พยายามทำมันให้ดีที่สุดเท่าที่เราจะทำได้ ตอนนี้ก็เหมือนกัน ตัวงานมันก็ยังไม่เสร็จสิ้นดี ยังอยู่ในช่วงทำภาพทำสีทำเสียงครับ เพราะฉะนั้นผมก็ยังแบกรับความรู้สึกนี้อยู่ตลอดเวลาว่าทำยังไงให้ทุกดีเทลของการทำงานออกมาให้ดีที่สุดเท่าที่ทุกคนเขาคาดหวังเอาไว้ อย่างที่บอกก็คือ เราก็ทำงานทั้งหมดอยู่บนพื้นฐานของความดีใจนะที่ทุกคนเอาใจช่วยหนังเรื่องนี้ขนาดนี้”
กังวลเกี่ยวกับผลตอบรับจากผู้ที่ทำงานในแวดวงการศึกษาหรือไม่
“ผมไม่ได้คิดเรื่องตรงนั้นเลยนะ ผมก็เชื่อว่าสุดท้ายแล้วพอตัวหนังมันออกมาฉายแล้ว หนังจะ Speak for itself หมายถึงว่าคนที่ไปดูก็จะเข้าใจจุดประสงค์ของมัน โจทย์ของการทำหนังเรื่องนี้คือ ทำหนังที่ดูสนุกแต่ในขณะเดียวกันต้องเป็นความสนุกที่สุดท้ายแล้วตั้งคำถามอะไรบางอย่างกับคนดู ให้คนดูหาคำตอบด้วยตัวเอง ก็หวังว่าทุกคนที่ดูจะเข้าใจถึง Intention ตรงนี้”
สุดท้ายอยากฝากข้อความอะไรถึงผู้ชมฉลาดเกมส์โกง
“ฝากให้ไปดูกันเยอะ ๆ เป็นงานที่ทุกคนตั้งใจมากครับ ตั้งแต่ตัวผมเอง นักแสดง ทีมงาน ทุกคนเลย ทุกคนตั้งใจแล้วก็เต็มที่กับหนังเรื่องนี้มาก แล้วก็อย่างที่บอกก็คือ ก็คาดหวังว่าจะเป็นหนังที่สร้างมิติใหม่ ๆ ให้กับวงการหนังไทยนะ แล้วก็โจทย์ในการทำคืออยากให้ทุกคนสนุกกับมัน ก็เป็นหนังตื่นเต้นๆสไตล์แบบ Ocean Eleven ที่ดูง่ายไม่ซับซ้อน น่าจะได้อะไรดี ๆ กับไปหลังจากชมเสร็จ”