อยู่ก่อนแต่ง vs แต่งก่อนอยู่: เส้นทางไหนที่คู่รักในยุค 2018 ควรเลือกเดิน?
Share
“อยู่ก่อนแต่ง” หรือ “แต่งก่อนอยู่” คำถามยอดฮิตของทุกคู่รักที่ไม่ว่าจะผ่านไปกี่ยุคกี่สมัย มักจะถูกหยิบยกขึ้นมาถามอยู่เสมอ ๆ ว่า แบบไหนคือสิ่งที่ควรทำ หรือพึงปฏิบัติมากกว่ากัน ซึ่งถ้าหากว่ากันตามหลักเหตุและผลแล้ว ก็ต้องบอกเลยทั้งสองเส้นทางที่กล่าวมานั้น มีทั้งข้อดีและข้อเสียอยู่ในตัวมันเอง ดังนั้นการเลือกเดินไปบนเส้นทางใดเส้นทางหนึ่ง เพื่อก้าวไปข้างหน้าของชีวิตคู่ระหว่างคำสองคำนี้ คงต้องขึ้นอยู่กับดุลพินิจ บวกกับวิจารณญาณในการรับฟังของแต่คนว่าจะเลือกเชื่อและยึดมั่นในเส้นทางใด ซึ่งวันนี้ MOVER ก็มีข้อคิดดี ๆ ของสองทางเลือกการใช้ชีวิตคู่ในยุค 2018 นี้มาแนะนำและบอกเล่ากัน
ใครเป็นผู้ริเริ่มที่จะถาม?
หลาย ๆ คู่รักคงเคยได้ยินคำถามที่ต้องเลือกตอบของคำสองคำนี้มาโดยตลอดทั้งจากในบ้าน จากเพื่อน จากคนรอบข้าง หรือแม้แต่จากคุณครู อาจารย์ และไม่ว่าจะมีคู่รักแล้วหรือยังไม่มีคู่รัก เราก็มักจะได้ยินหรือโดนถามคำถามนี้อยู่เสมอ แต่เคุณเคยสงสัยไหมว่าทำไม ทำไมเราถึงต้องมาพบเจอกัยคำถามเกี่ยวกับเรื่องส่วนตัวเหล่านี้อยู่ทุกวัน วันนี้ MOVER ลองมาวิเคราะห์เหตุและผลมาแล้วดังนี้…
ที่เป็นเช่นนี้ก็เพราะว่า มาจากการที่ประเพณี ขนบธรรมเนียมของการใช้ชีวิตคู่แบบไทย ที่มีมาแต่ครั้งโบราณกาลนั้น ฝ่ายหญิงและฝ่ายชายจะอาศัยแบบแยกกันอยู่ หรือถ้าหากต้องอยู่ร่วมชายคาเดียวกัน ก็จะมีการแบ่งพื้นที่อย่างชัดเจนว่า ตรงนี้คือเรือนของฝ่ายหญิง และตรงนั้นคือเรือนของฝ่ายชาย ดังนั้นกว่าที่ทั้งสองจะได้อยู่ร่วมกันก็จนกว่าจะเข้าพิธีแต่งงานที่มีครอบครัวของทั้งสองฝ่ายเป็นพยานหรือรับรู้จนเสร็จสิ้นพิธี จึงเป็นที่มาของคำว่า “ อยู่ก่อนแต่ง ” และถูกนำมาปฏิบัติ สอนกันมาจากรุ่นสู่รุ่น จนกลายเป็นวัฒนธรรมของคนไทยไป
แต่เมื่อกาลเวลาผ่านไป รูปแบบการดำเนินชีวิตได้เปลี่ยนไป ความเจริญทางเศรษฐกิจ และเทคโนโลยีได้เข้ามาสู่สังคมไทยมากขึ้น ทำให้พื้นที่ในเมืองหลวงกลายเป็นศูนย์กลางของความเจริญ ส่งผลให้เพื่อนๆ ที่อยู่ต่างจังหวัด ก็ต้องเดินทางเข้าสู่เมืองหลวงเพื่อหางานทำ และนั้นก็ทำให้รูปแบบการใช้ชีวิตของแต่ละคนเปลี่ยนไป บางคนก็ต้องมาหาที่พักตามคอนโด บางคนก็ดีหน่อยได้นอนพักบ้านญาติ หรือบางคนก็พักอาศัยที่อพาร์ทเม้นท์ ซึ่งแน่นอนว่า ก็มีเรื่องของค่าใช้จ่ายเข้ามาเกี่ยวข้อง
ที่นี้… ถ้าคนรักหรือแฟนของเรา ก็มีสถานะแบบเดียวกับเราละ? ดังนั้นการย้ายเข้ามาอยู่ด้วยกัน และช่วยแชร์ค่าใช้จ่าย จึงเป็นทางออกที่ดีที่สุดในยุคแบบนี้นั้นเอง และเมื่อรวมเข้ากับวัฒนธรรมของยุโรปที่ค่อนข้างเปิดเสรีในเรื่องของการใช้ชีวิตคู่ที่เข้ามาสู่สังคมไทยในปัจจุบันด้วยแล้ว จึงทำให้รูปแบบการคบหาหรือคบกันของหนุ่มสาวต้องเปลี่ยนไป และคำว่า “แต่งก่อนอยู่” นำมาใช้ไม่ได้กับทุกคนอีกต่อไป “อยู่ก่อนแต่ง” จึงกลายเป็นทางเลือกที่อาจเหมาะสมกับบางคนแทนนั้นเอง แต่ก็ใช่ว่าทุกอย่างจะดีไปซะหมด อย่างที่ได้เกริ่นไปว่า ทั้งสองเส้นทางมีข้อดีและข้อเสียอยู่ในตัว ดังนั้นลองมาดูกันว่า ข้อดีและข้อเสียทีว่าของทั้งสองคำนั้น เป็นอย่างไรบ้าง
#แต่งก่อนอยู่คืออะไร
การแต่งก่อนอยู่ เป็นวิธีปฏิบัติของคู่รักหนุ่มสาวที่สืบทอดกันมาจากรุ่นสู่รุ่นในสังคมไทยแต่โบราณ แต่เมื่อกาลเวลาเปลี่ยนไป ความเจริญต่างๆ เข้ามา ทำให้ปัจจุบันสังคมไทย ที่จะเกิดทางเลือกนี้ขึ้นได้ อาจมีแค่ครอบครัวที่มีฐานะเท่านั้น แต่ก็ไม่ใช่ว่าจะเป็นแบบนี้ไปซะหมด เพราะถ้าช่วยกันฟันฝ่าอุปสรรคต่างๆ เก็บหอมรอมริบกันคนละเล็กละน้อย ก็ไม่ยากเกินความรักที่มีต่อกันแน่นอน
#5 ข้อดีของการแต่งก่อนอยู่
- ลดโอกาสการเกิดเหตุการณ์ “ท้องไม่พร้อม” ไปได้หลายเปอร์เซ็นต์ เพราะโอกาสที่จะได้เจอกันหรือทำกิจกรรมร่วมกันไม่เยอะเท่ากับคู่ที่อยู่ก่อนแต่ง แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นก็ไม่ใช่ว่าจะไม่เกิดขึ้นเลย เพราะการที่คู่รักรอให้มีแต่งงานอยู่แล้วค่อยมาอยู่ร่วมกันอย่างเป็นกิจลักษณะก็ไม่สามารถการันตีว่าทั้งคู่จะไม่มีอะไรกันเกินเลยก่อนจะถึงวันนั้น
- ไม่ต้องคิดมากว่าใครจะพูดอะไรลับหลัง เพราะหลายคู่ที่รอการแต่งงานนั้นก็มักจะคบกันแบบใส ๆ เช้าเจอกัน ทานข้าว คุยเล่น ดูหนัง พอตกเย็นก็แยกย้ายกันกลับบ้านใครบ้านมัน
- ตัดความกังวลของผู้ใหญ่ออกไปได้ เพราะอย่างไรก็ตามคนเป็นพ่อเป็นแม่ก็คงจะห่วงความสัมพันธ์ของเราอยู่แล้วไม่มากก็น้อย
- ลดการเกิดปัญหา “ชู้” ได้ในระดับหนึ่ง เพราะเราก็คงต้องมั่นใจในระดับหนึ่งก่อนแล้วว่าความสัมพันธ์และชีวิตคู่ของเราอยุ่ในเกณฑ์ที่น่าพอใจและสามารถลงหลักปักฐานกับคนคนนี้ได้ แต่ในโลกนี้ก็ไม่มีอะไรแน่นอน เพราะการที่ชีวิตคู่มั่นคงในตอนนี้ ไม่ได้เป็นการันตีว่าจะมั่นคงตลอดไป ดังนั้นก็อยู่ที่การปรับตัวเข้าหากันและกัน เรียนรู้ซึ่งกันและกันไปเรื่อย ๆ ด้วยเช่นกัน
- ตามสถิติแล้วฝ่ายหญิงจะมีคุณค่ากับฝ่ายชายมาก ๆ โดยเฉพาะในช่วงก่อนแต่งงาน เพราะผู้ชายจะต้องดูแลและเทคแคร์คุณผู้หญิงอย่างสุดความสามารถจนกว่าจะพอใจและยอมรับในคำขอของคุณ ดังนั้นผู้ชายก็จะได้รู้ว่าคุณทำดีที่สุดเพื่อคนคนหนึ่งได้มากแค่ไหน และในขณะเดียวกันคุณผู้หญิงก็จะได้รู้ว่าผู้ชายคนนี้สามารถเป็นคนดีที่สุดได้มากแค่ไหนด้วยเช่นกัน
#4 ข้อเสียของการแต่งก่อนอยู่
- คู่รักบางส่วนอาจจะพอใจกับการรอทุกอย่างให้พร้อมแล้วจึงตกลงปลงใจกันเป็นเรื่องเป็นราว แต่ในขณะเดียวกันก็มีไม่น้อยเลยที่ความรักจบลงก่อนจะถึงวันที่ได้แต่งงาน เพราะฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งทนรอไม่ไหว
- เพราะในความเป็นจริง งานแต่งงานไม่ใช่เรื่องของคนสองคน แต่เป็นเรื่องของครอบครัวสองครอบครัว ซึ่งถ้าคุณพ่อคุณแม่ของฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งไม่ยินยอมที่จะให้มีงานแต่งงาน ทุกอย่างที่ทุ่มเทและแพลนกันมาก็เป็นอันจบ
- พิธีแต่งงานจะกลายเป็น event บังคับที่คุณต้องจัดขั้นอย่างสมศํกดิ์ศรี ดังนั้นเงินเก็บที่ช่วยหันสะสมมาก็อาจจะหมดไปในงานนี้งานเดียวก็เป็นได้
- อย่างที่บอกกันไปแล้วว่าทุกอย่างล้วนไม่มีความแน่นอน เพราะสุดท้ายเมื่อได้แต่งงานกันไปจริง ๆ แล้ว ก็อาจจะเกิดเหตุการณ์บางอย่างเช่น ปรับตัวเข้ากันไม่ได้ มีใครคนหนึ่งเปลี่ยนไป หรือมีมือที่สามเข้ามา จนทำให้เลิกกันไปในที่สุด
#อยู่ก่อนแต่งคืออะไร
การอยู่ก่อนแต่งนั้นอาจจะนิยมง่าย ๆ ว่าการอยู่กินหรือใช้ชีวิตร่วมกันโดยที่ไม่มีพิธีแต่งงานตามหลักศาสนาหรืองานเลี้ยงฉลองที่ใหญ่โต รวมไปถึงการที่คู่รักเลือกที่จะไม่จดทะเบียนสมรสที่มีผลทางกฏหมายนั้่นเอง บางคนอาจจะอยู่ก่อนแต่งเพื่อทดลองใช้ชีวิตแล้วจึงค่อยตัดสินใจจัดงาน แต่ว่าก็มีหลายคู่ที่อยู่ก่อนแต่งและพบว่ากันอยู่ด้วยกันไปเรือ่ย ๆ แบบนี้ตอบโจทย์กว่า จึงเลือกที่จะไม่จัดงานแต่งเลยก็ได้ ซึ่งหลาย ๆ คู่ก็อาจคิดว่าตัวเลือกนี้เหมาะกับไลฟ์สไตล์คนรุ่นใหม่ แต่ก็ไม่ใช่ว่ามันจะเหมาะกับทุกคนเสมอไป เพราะทุกอย่างล้วนมีทั้งข้อดีและข้อเสียในตัวอยู่แล้วเป็นเรื่องปกติ
#4 ข้อดีของการอยู่ก่อนแต่ง
- มีโอกาสได้เรียนรู้และใช้ชีวิตแบบคู่รักจริง ๆ ก่อนจะเลือกที่จะจัดงานแต่งงาน เพราะบางครั้งสิ่งที่เราคาดหวังไว้ อาจจะไม่เป็นเช่นนั้นเสมอไป คุณจะรู้ได้อย่างไรว่าเขาจะนอนกรน นอนดิ้น สะอาดหรือซกมก ฯลฯ ถ้าหากคุณไม่ลองได้อยู่ด้วยกันจริง ๆ ตลอดเวลา ทุกวัน เป็นระยะเวลานาน ๆ เสียก่อน
- ถ้าเกิดได้อยู่กันแล้วไม่คลิกกันจริง ๆ ก็มีโอกาสที่จะเลิกลาและจากกันไปแบบเงียบ ๆ ไม่ต้องมีการบอกกล่าวและจดทะเบียนหย่าให้เป็นเรื่องใหญ่โต
- เรื่องการแบ่งสินสมรสเป็นเรื่องใหญ่ของหลาย ๆ คู่ที่เลิกลากันไปแล้วมีทะเบียนสมรสเป็นตัวผูกมัด ซึ่งถ้าคุณไม่ได้จดทะเบียนสมรสก็จะหมดปัญหาจุกจิกเรื่องข้อกฏหมายหลาย ๆ อย่างนี้ไป แต่ก็มองได้ว่าเป็นทั้งข้อดีและข้อเสีย เพราะถ้าเกิดมีฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งคิดตุกติก การมีทะเบียนสมรสก็เป็นหลักประกันได้เช่นกันว่าคุณจะได้รับส่วนแบ่งที่เป็นธรรม
- บางทีพิธีแต่งงานก็อาจจะไม่ใช่ปัจจัยสำคัญของชีวิตคู่อีกต่อไป เราจึงสามารถนำเงินที่จะจัดงานตรงนั้นไปลงทุนหรือทำอย่างอื่นกับชีวิตคู่และต่อยอดไปได้ดีกว่าจะเอาไปลงกับงานแค่งานเดียว
#3 ข้อเสียของการอยู่ก่อนแต่ง
- สำหรับฝ่ายหญิงถ้าคุณเจอคู่รักที่ไม่ดีพอ คุณอาจจะต้องแบกรับภาระหลายอย่างเพียงคนเดียว โดยเฉพาะเรื่องของการมีลูก ซึ่งแน่นอนว่าถ้าคุณอยู่ก่อนแต่งนั่นหมายความว่าคุณจะไม่มีทะเบียนสมรส ดังนั้นถ้าเกิดผู้ชายเลือกที่จะไม่รับผิดชอบก็คงจะต้องขึ้นโรงขึ้นศาลใช้กฏหมายบังคับกันให้วุ่นวาย เสียทั้งเงินทั้งเวลากันไป
- การโดนนินทาจากคนรอบข้างนั้นคงเป็นเรื่องที่เลี่ยงไม่ได้สำหรับการอยู่ก่อนแต่ง แต่ถ้าคุณทำใจและมองข้ามมันได้ ก็ถือว่าโชคดีไป เพราะเก็บเอาคำพูดลบ ๆ แบบนั้นมาคิดมากก็ไม่ได้ประโยชน์อะไรขึ้นมาอยู่ดี
- ถ้าฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งไมมั่นคงพอ คุณก็ต้องเตรียมรับมือกับปัญหาต่าง ๆ ที่จะเข้ามาแบบไม่หยุดหย่อน ไม่ว่าจะเป็นเรื่องมือที่สาม, การลดความสำคัญลง หรือการเอาเปรียบเรื่องเงิน ๆ ทอง ๆ แต่ก็ใช่ว่าคู่ที่แต่งก่อนอยู่จะไม่เจอกับปัญหาแบบนี้ เพียงแต่การอยู่ก่อนแต่งจะมีโอกาสเจอได้มากกว่าเท่านั้นเอง