Soil and Stones, Souls and Songs นิทรรศการระดับโลก ถ่ายทอดเรื่องราวระหว่างผืนดินและจิตวิญญาณของมนุษย์
Share
หอศิลป์บ้านจิม ทอมป์สัน นำเสนอนิทรรศการ Soil and Stones, Souls and Songs ที่ถ่ายทอดเรื่องราวความสัมพันธ์ระหว่างผืนดิน ธรรมชาติ อารยธรรม สังคม และจิตวิญญาณของมนุษย์ ผ่าน 50 ผลงานศิลปะ ครั้งแรกในประเทศไทย
หอศิลป์บ้านจิม ทอมป์สัน ร่วมกับมูลนิธิคาดิสต์ (KADIST) และพารา ไซต์ (Para Site) โดยการสนับสนุนของสถานเอกอัครราชทูตฝรั่งเศสประจำประเทศไทย นำเสนอนิทรรศการสัญจรชุดใหม่ครั้งแรกในประเทศไทย “ซอยล์ แอนด์ สโตนส์, โซลส์ แอนด์ ซองส์” (Soil and Stones, Souls and Songs) นิทรรศการระดับโลกจากฝีมือสร้างสรรค์ของศิลปินทั่วโลกกว่า 35 ท่าน ที่จัดแสดงผลงานศิลปะจำนวนกว่า 50 ชิ้น
ในหลากหลายรูปแบบทั้งผลงานภาพถ่าย วิดีโออาร์ต ประติมากรรม ภาพวาด ดนตรี ฯลฯ เพื่อบอกเล่าเรื่องความสัมพันธ์อันแน่นแฟ้นระหว่างผืนดินและธรรมชาติที่เปรียบได้กับที่อยู่และทรัพยากรอันมีค่าของมนุษย์ อันเป็นวัตถุดิบสำคัญในการสร้างอารยธรรม สังคม ความเป็นชาติ และจิตวิญญาณแห่งความเป็นมนุษย์ในหลากหลายมิติ เริ่มจัดแสดงตั้งแต่วันนี้ถึงวันที่ 31 ตุลาคม 2560 เวลา 9.00 น. ถึง 20.00 น. เข้าชมฟรี โดยไม่เสียค่าใช้จ่าย
คุณกฤติยา กาวีวงศ์ ผู้อำนวยการหอศิลป์ บ้านจิม ทอมป์สัน กล่าวว่า “นิทรรศการ “ซอยล์ แอนด์ สโตนส์, โซลส์ แอนด์ ซองส์” (Soil and Stones, Souls and Songs) นับเป็นครั้งแรกในประเทศไทยที่ได้จัดแสดงผลงานระดับโลก ภายใต้การดูแลของมูลนิธิคาดิสต์ (KADIST) ที่เก็บรวบรวมผลงานศิลปินร่วมสมัยทั่วโลกเอาไว้มากมาย โดยผลงานในนิทรรศการสร้างสรรค์จากศิลปินหลากหลายเชื้อชาติกว่า 35 ท่าน อาทิ ศิลปินชาวจีน ธิเบต ฮ่องกง มองโกเลีย ญี่ปุ่น ฟิลิปปินส์ อินเดีย โรมาเนีย ออสเตรเลีย สหรัฐอเมริกา รวมถึงศิลปินชาวไทย อาทิ คุณจุฬญาณนนท์ ศิริผล คุณสุทธิรัตน์ ศุภปริญญา คุณปรัชญา พิณทอง โดยผลงานทั้งหมด 50 ชิ้นได้รับการคัดสรรโดย คุณคอสมิน คอสตินาส และ คุณอินทิ เกเรโร่ ภัณฑารักษ์ประจำนิทรรศการ”
คุณคอสมิน คอสตินาส ภัณฑารักษ์ประจำนิทรรศการ เล่าถึงแนวคิดของนิทรรศการในครั้งนี้ว่า “สำหรับแนวคิดของนิทรรศการได้แฝงอยู่ในชื่อของนิทรรศการ “ซอยล์ แอนด์ สโตนส์, โซลส์ แอนด์ ซองส์” (Soil and Stones, Souls and Songs) ไว้แล้ว กล่าวคือ ‘Soil’ หมายถึงพื้นดิน ที่สื่อความหมายได้ผืนดินที่เราอาศัยอยู่ รวมถึงทรัพยากรภายในพื้นดินที่มนุษย์ต้องใช้ในการดำรงชีวิตทั้งทางสังคมและเศรษฐกิจ
นอกจากนี้ยังสื่อถึงพื้นที่หรือขอบเขตความเป็นประเทศชาติที่แบ่งมนุษย์เราออกเป็นกลุ่มเป็นชาติต่างๆ ‘Stones’ หมายถึง ภูมิประเทศ และเครื่องมือต่างๆ ที่มนุษย์ประดิษฐ์ขึ้นเพื่อสร้างอารยธรรม (Civilization) และความเจริญต่างๆ ทั้งด้านอุตสาหกรรม และความเจริญทางจิตใจ ทั้งศาสนา ความเชื่อ และวัฒนธรรม ส่วนสุดท้ายได้แก่ ‘Souls and Songs’ ที่สื่อความหมายถึงจิตวิญญาณและวัฒนธรรมของความเป็นมนุษย์ ที่เชื่อมต่อกับพื้นดินและเครื่องมือต่างๆ รวมถึงสังคมที่มนุษย์สร้างขึ้น เช่น การสร้างชาติและการแบ่งกลุ่มทางสังคม รวมถึงชนกลุ่มน้อยต่างๆ”
คุณอินทิ เกเรโร่ ภัณฑารักษ์ประจำนิทรรศการ กล่าวเสริมว่า “ศิลปินแต่ละท่านจะนำเรื่องราวในประเทศ บ้านเกิดหรือสิ่งที่ได้พบเห็นและสนใจมาเป็นแรงบันดาลใจในการสร้างสรรค์ผลงาน อาทิ ผลงานของคุณ โตกุลดูร์ ยอนโคนัมทส์ (Tuguldur Yondonjamts) ศิลปินชาวมองโกเลียที่สร้างสรรค์ผลงาน ‘Fin Soup & Black Lemon’ ซึ่งเป็นภาพเขียนรูปฉลามที่มีรูปร่างคล้ายภูมิประเทศของมองโกเลีย
โดยฉลามตัวใหญ่นี้ ศิลปินตั้งใจสื่อถึงชาวจีนที่เข้ามากัดกินทรัพยากรทางธรรมชาติของชาวมองโกเลีย เพื่อนำไปพัฒนาอุตสาหกรรมและขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศจีนในปัจจุบัน นอกจากนี้ศิลปินยังตั้งใจวาดฉลามตัวนี้ให้ไม่มีครีบ เพื่อสื่อถึงค่านิยมของชาวจีนที่นิยมทานหูฉลามอีกด้วย
หรืออย่างผลงานของคุณซิมริน กิล (Simryn Gill) ศิลปินชาวฟิลิปปินส์ที่ถ่ายทอดผลงานชุด ‘Vegetation’ ผลงานภาพถ่ายขาวดำรูปสวนปาร์มน้ำมันในประเทศฟิลิปปินส์ที่แม้ว่าจะนำความเจริญมาให้ประเทศอย่างมากมายแต่ก็ทำลายทรัพยากรธรรมชาติอย่างมากมายเช่นกัน”
คุณจุฬญาณนนท์ ศิริผล หนึ่งในศิลปินชาวไทยผู้สร้างสรรค์และจัดแสดงผลงานในนิทรรศการครั้งนี้ กล่าวถึงผลงานของตนเองว่า “ผมได้สร้างสรรค์ผลงานออกมาในรูปแบบของวิดีโออาร์ต (VDO Art) ภายใต้ชื่อ ‘มิธ ออฟ โมเดิร์นนิตี้ – Myth of Modernity’ ซึ่งได้หยิบยกเรื่องราวของการชุมนุมทางการเมืองในประเทศไทยปี พ.ศ. 2557 มาเป็นไอเดียในการสร้างสรรค์ โดยพยายามเชื่อมโยงเรื่องอุดมการณ์ทางการเมืองเข้ากับพระพุทธศาสนา ซึ่งทำให้เห็นความขัดแย้งระหว่างความเชื่อและตำนานโบราณของไทยกับการก้าวเข้าสู่ยุคสมัยใหม่ของประเทศ”
ด้านศิลปินต่างชาติชาวอินเดีย คุณประภาการ์ พัชปุเต ผู้สร้างสรรค์ผลงานภาพวาดและประติมากรรมที่ต่อเนื่องเป็นเนื้อเรื่องเดียวกันชื่อ “โบรเค่น วาราฮา ทู – Broken Varaha II” กล่าวว่า “เรื่องราวการทำเหมืองในประเทศอินเดีย บ้านเกิดของผมเป็นแรงบันดาลใจในการสร้างสรรค์ผลงานศิลปะชิ้นนี้ โดยผมเริ่มค้นคว้าหาข้อมูลด้วยการไปเหมืองต่างๆ ทั่วโลกตั้งแต่ปี พ.ศ. 2554 ซึ่งทำให้เห็นว่ามีการขยายตัวของการทำเหมืองมากขึ้นเรื่อยๆทั่วโลก
ส่งผลให้เกิดการขยายตัวของผลิตผลจากการทำเหมือง ความเจริญ รวมถึงความเชื่อด้านจิตวิญญาณไปในทุกภาคส่วนของโลก ผมจึงสร้างสรรค์ผลงานออกเป็นตุ๊กตาปั้นดินที่เกิดจากดินในเหมืองที่ผมได้ไปสำรวจ กำลังเดินข้ามมหาสมุทร เพื่อเข้าประตูสู่อีกเขตดินแดนหนึ่ง โดยมีหนุมานนอนทอดตัวยาวเป็นดั่งสะพาน ตามความเชื่อเรื่องรามเกียรติ์ของชาวอินเดียที่หนุมานมักทอดตัวยาวให้พระรามและกองทัพวานรข้ามอุปสรรคต่างๆ อยู่เสมอ ผนวกกับหลักฐานทางธรรมชาติอย่างสะพานอดัม หรือ Adam’s Bridge สะพานธรรมชาติที่เชื่อมต่อระหว่างอินเดียและศรีลังกา ที่เชื่อว่าเป็นสะพานโบราณที่พระรามใช้ข้ามไปกรุงลงกา ผลงานชิ้นนี้จึงผสมผสานระหว่างความจริงบนโลกและความเชื่อทางจิตวิญญาณของมนุษย์ ที่ถูกถ่ายทอดผ่านผลงานประติมากรรมที่มีรูปทรง จับต้องได้ และผลงานทัศนศิลป์ที่จับต้องไม่ได้ อย่างกลมกลืนและเข้ากันได้เป็นอย่างดี”
ผลงานศิลปะโดย:
ตาเร็ค อาตุย / มาเรียน่า กาสติโย่ เดบาล / จิมมี่ เดอแรม / ซุไลมาน เอซา / เอ็ดการ์ เฟร์นันเดซ / เมชัค กาบา / ซิมริน กิล / อิยอน กริกอเรสคู / ตาลอย ฮาวินิ / โหว ซิว-กี / เจมส์ ที. หง / ฮ่องกง ฟาร์ม / ปีเตอร์ เคนเนดี้ & จอห์น ฮิวจ์ / เจน จินไคเซง / คยองแมน คิม / โซยัง คิม / จอง คิม / โอเชียน เหลียง / ลี่ ปินหยวน / หลี่ หราน / โฆเซ่ มาเซดา / ประภาการ์ พัชปุเต / ปรัชญา พิณทอง / เรดซา ปิยาดาสา / โร แจ อึน / รีตู สัตตาร์ / ชิตะมิจิ โมโตยูกิ / จุฬญาณนนท์ ศิริผล / วอลเตอร์ สเมทาค / สุทธิรัตน์ ศุภปริญญา / ชึง คอง ตุง / แฮก หยาง / เทรเวอร์ ยัง / โตกุลดูร์ ยอนโดนัมทส์
นอกจากนี้ ยังมีผลงานที่น่าสนใจอีกมากมาย โดยท่านที่สนใจสามารถเข้าชมนิทรรศการ “ซอยล์ แอนด์ สโตนส์, โซลส์ แอนด์ ซองส์” ( Soil and Stones, Souls and Songs ) ได้ที่ หอศิลป์ บ้าน จิม ทอมป์สัน ตั้งแต่วันที่ 15 กรกฎาคม ถึงวันที่ 31 ตุลาคม 2560 เวลา 9.00 น. ถึง 20.00 น. โดยไม่เสียค่าใช้จ่ายในการเข้าชม หรือสอบถามข้อมูลและรายละเอียดเพิ่มเติม ได้ที่โทร.02-612-6741 อีเมล์: artcenter@jimthompsonhouse.com เพจเฟซบุ๊ก The Jim Thompson Art Center และเว็บไซต์ www.jimthompsonartcenter.org
บทความนี้เรียบเรียงขึ้นโดย ทีมงาน MOVER
mover.in.th@gmail.com