Type to search

Business Make A Move

How To: เล่นหุ้นอย่างไรให้ปลอดภัย ห่างไกลจากการเป็นแมงเม่าติดดอย

Share

“เล่นหุ้น” ถือเป็นการลงทุน ที่นักลงทุนทั่วโลกต่างให้ความสนใจ เนื่องจากเป็นสินทรัพย์ที่ไม่ว่าจะทำกำไรระยะสั้น หรือระยะยาว ก็มักจะให้ผลตอบแทนที่คุ้มค่า หุ้นถือเป็นการลงทุนชนิดหนึ่งที่จะจ่ายปันผลเป็นผลตอบแทนให้แก่ผู้ถือหุ้น นอกจากนี้ยังสามารถทำกำไรจากการขายหุ้นออกไปเมื่อมูลค่ามากขึ้น จึงมีนักลงทุนที่แบ่งออกเป็นสองกลุ่มคือนักลงทุนระยะสั้นและระยะยาว แต่ทั้งสองกลุ่มนี้ต่างมีความต้องการเดียวกันคือ “ผลตอบแทน”

ทำไมต้องเล่นหุ้น? มันดีกว่าการลงทุนอื่นอย่างไร?

หุ้น ถือเป็นสุดยอดทรัพย์สินอย่างหนึ่งที่นักลงทุนระดับเทพทั่วโลกให้ความสนใจ โดยการลงทุนที่ประสบความสำเร็จมากที่สุดคือ การลงทุนระยะยาวหรือภาษานักลงทุนคือ การลงทุนแบบเน้นคุณค่า VI (Value Investment) ที่จะเน้นการลงทุนในหุ้นที่มีพื้นฐานธุรกิจดี โดยนักลงทุนที่ถือเป็นศาสดาของการลงทุนประเภทนี้ก็คือ Warren Buffet ที่มีทรัพย์สินมากมายจากการลงทุนในหุ้น Warren Buffet กล่าวไว้ว่าการลงทุนแบบ VI นั้นจำเป็นจะต้องเลือกหุ้นที่มีพื้นฐานทางธุรกิจที่ดี มีกำไรที่ดี และการบริหารที่ดูน่าเชื่อถือ ต้องเป็นธุรกิจที่มีความเติบโตอย่างต่อเนื่อง หรือเป็นธุรกิจที่จะอยู่ไปในระยะยาว ซึ่งการลงทุนแบบนี้เองเป็นการลงทุนที่ทำให้เกิดรายได้ Passive Income อย่างแท้จริง

ทำไมธุรกิจเพื่อนของคุณนั้นถึงน่าสนใจ?

การลงทุนแบบ VI นั้นคือการลงทุนในตัวธุรกิจจริง ๆ ไม่ได้มองเรื่องของการขายเป็นหลัก แต่มองเปรียบเสมือนว่าคุณกำลังลงทุนในธุรกิจกับเพื่อนของคุณ คุณต้องเข้าใจและถามตัวเองว่าทำไมธุรกิจเพื่อนของคุณนั้นถึงน่าสนใจ? แน่นอนว่าตามหลักการ VI แล้ว จะไม่ได้เน้นไปที่การขาย แต่การลงทุนในหุ้นก็เหมือนกับการลงทุนในธุรกิจ เมื่อธุรกิจมีการแข่งขันหรือเกิดการเปลี่ยนแปลง ส่งผลให้ผลกำไรหรือพื้นฐานธุรกิจเปลี่ยนแปลงไป เราจึงต้องมีการเตรียม Exit Plan เอาไว้ด้วย

เล่นหุ้น

บางครั้งการขายหุ้นออกไป อาจจะไม่ได้เพราะมีการเปลี่ยนแปลงทางพื้นฐานเพียงอย่างเดียว แต่บางครั้งอาจจะขายไปเพราะเป็นกลยุทธ์การลงทุนอย่างหนึ่ง คือเมื่อหุ้นที่ซื้อมามีมูลค่ามากขึ้นเกินเท่าตัวของราคาที่เราเคยซื้อในอดีตมาแล้ว เราก็อาจจะขายหุ้นครึ่งหนึ่ง เพื่อนำทุนออกมาซื้อหุ้นอื่น ๆ ต่อเป็นการขยายพอร์ต การเล่นหุ้นถือเป็นคำที่นักลงทุนสาย VI ไม่ค่อยใช้กันนัก ถ้าหากคุณต้องการจะสำเร็จจากการลงทุนในสอนทรัพย์ประเภทนี้ ก็ควรจะเลิกเล่นหุ้นและเปลี่ยนมา “ลงทุน” กับหุ้นแทน ซึ่งคำ ๆ นี้จะทำให้คุณเปลี่ยนทัศนคติเกี่ยวกับหุ้นจากเล่น ๆ ไม่ได้จริงจัง กลายเป็นลงทุนกับมันอย่างจริงจังนั่นเอง 

หุ้น ถือเป็นการลงทุนที่ต้องใช้ความอดทนสูง เพราะจะต้องรอให้ธุรกิจของคุณนั้นค่อย ๆ เติบโตและจ่ายปันผลให้กับคุณจึงจะต่อยอดได้ ด้วยเหตุนี้เองทำให้มีนักลงทุนหลายคนไม่ชอบตรงข้อเสียนี้ จึงเลือกไปลงทุนในทรัพย์สินอย่างอื่นก่อน พอมีเงินก้อนแล้วจึงนำมาลงทุนในหุ้นทีเดียวแล้วรอเงินปันผลอย่างเดียวก็อยู่สบาย

“การลงทุนมีความเสี่ยง ควรศึกษาให้ดีก่อนที่จะลงทุน”

จริง ๆ ประโยคเด็ดนี้อาจจะมาจากการเล่นหุ้นก็เป็นได้ เพราะจริงอยู่ที่เมื่อคุณเลือกหุ้นที่ดีแล้ว แต่มันก็ยังมีปัจจัยอีกมากมายที่คุณควบคุมไม่ได้ การลงทุนในหุ้นจึงถือว่าเป็นการลงทุนที่มีความเสี่ยงมากที่สุดอย่างหนึ่งเพราะไม่สามารถคาดการณ์สถานการณ์ภายในบริษัทได้ล่วงหน้า ทำให้มีบางคนที่หันไปทำกำไรระยะสั้นจากการเทรดหุ้นหรือการ ซื้อ-ขาย อย่างเดียว เป็นการเล่นหุ้นในระยะสั้นแทน

การเล่นหุ้นในระยะสั้น ต้องรู้จักเลิกเล่นหรือ “Cut Loss”

การ Cut Loss หรือการขายทิ้งเพื่อตัดขาดทุน เป็นศัพท์เชิงเทคนิคที่จะได้ยินอยู่บ่อยครั้งในวงการเทรดหุ้นระยะสั้น เพราะเมื่อมีการเกร็งกำไรของหุ้นเกิดขึ้นแน่นอนว่าต้องมีฝ่ายที่ต้องขาดทุน แต่การขาดทุนไปเรื่อย ๆ จะทำให้สูญเสียโอกาสในการลงทุนหุ้นอื่น ๆ ได้ นักลงทุน จึงต้องมีการทำ Cut Loss เพื่อตัดขาดทุนไม่ให้ขาดทุนมากเกินไปนั่นเอง โดยนักลงทุนแต่ละคนก็อาจจะมีการตั้งจุด Cut Loss ไว้แตกต่างกันออกไป ขึ้นอยู่กับว่านักลงทุนคนนั้นรับความเสี่ยงได้แค่ไหน บางคนอาจจะตั้งเป็นเปอร์เซ็นต์ว่าหากขาดทุนเกินกี่เปอร์เซ็นต์ก็จะขาย หรือบางคนอาจจะ Cut Loss เมื่อราคาหลุดแนวรับของกราฟเทคนิค

เล่นหุ้น

การลงทุนในหุ้นนั้น หลายคนน่าจะคุ้นเคยคำว่า “การลงทุนมีความเสี่ยง” ซึ่งเป็นเรื่องจริง! เพราะต่างคนต่างมีกลยุทธ์ที่แตกต่างกันออกไป บางคนชอบความปลอดภัยและอดทนรอได้ก็จะลงทุนในสาย VI แต่บางคนต้องการทำกำไรระยะสั้นก็อาจจะเล่นในเชิงของเทคนิค หรือบางคนก็แบ่งพอร์ทผสมผสานกันก็มี ถึงการลงทุนในหุ้นจะเป็นสุดยอดการลงทุนประเภทหนึ่ง แต่สุดท้ายแล้วเราก็ควรที่จะต้องทำความเข้าใจและรู้ให้จริงซะก่อน ก่อนที่จะเปิดประตูสู่โลกของการลงทุนเพื่อจะได้ไม่ตกเป็นเหยื่อของตลาดหุ้นที่เรียกว่า “แมงเม่า” นั่นเอง


บทความนี้เรียบเรียงขึ้นโดย ทีมงาน MOVER

mover.in.th@gmail.com
Tags