‘๙ งานศิลป์’ ถวายอาลัยแก่ ในหลวงรัชกาลที่ ๙ ที่ควรค่าแก่การไปชม
Share
เปลี่ยนเมืองไทยให้เงียบเหงา กับบรรยากาศเศร้าโศกสุดอาลัยในชั่วพริบตา หลังประชาชนได้ทราบข่าวการเสด็จสวรรคตของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช เมื่อวันที่ 13 ตุลาคม 2559 และเมื่อวันนี้กำลังจะเวียนมาบรรจบอีกครั้ง Mover ขอพาทุกคนไปพบกับ ๙ งานศิลป์ ถวายอาลัยแก่ ในหลวงรัชกาลที่ ๙ ที่เกิดขึ้นจากการร่วมแรงร่วมใจของชาวไทย เพื่อพ่อหลวงผู้เป็นแรงบันดาลใจในชีวิต
๑. ประติมากรรมแสงเงา ในหลวงรัชกาลที่ ๙ ระลึก ๑๐๐ วัน เสด็จสวรรคต
สถานที่: คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่
ศิลปิน: คณาจารย์คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่
ใครมีโอกาสเข้าไปเยี่ยมคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ คงจะได้เจอกับแผ่นวงกลมสีขาวขนาดใหญ่ชั้นบนสุดของอาคาร ที่ถ้าดูเผิน ๆ แล้วก็อาจมองผ่าน แต่ถ้าคุณรอเวลาอีกสักหน่อย ก็จะได้พบกับแสงเงารูปพระพักตร์ของในหลวงรัชกาลที่ ๙ ประติมากรรมที่รำลึกนี้มีต้นแบบมาจากพระบรมฉายาลักษณ์ภาพดังของในหลวงรัชกาลที่ 9 เมื่อทรงรับดอกไม้จากแม่เฒ่า พร้อมคอนเซ็ปต์สุดกินใจ ของการนำพระองค์กลับมาด้วยแสงจากท้องฟ้า และพระพักตร์เอียงทำมุม 45 องศา เหมือนที่พระองค์จะทรงทอดพระเนตรปวงชนชาวไทยถึงแม้จะอยู่บนสรวงสวรรค์แล้วก็ตาม สามารถชมได้ชัดสมบูรณ์ที่สุดเมื่อเวลา 15.52 น. หรือเวลาที่พระองค์เสด็จสวรรคตนั่นเอง
ที่มา: https://news.mthai.com/general-news/545936.html
๒. พระบรมสาทิสลักษณ์ ในหลวงรัชกาลที่ ๙ ที่ใหญ่ที่สุดในโลก
สถานที่: หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร (BACC)
ศิลปิน: ตัวแทนนักศึกษาจากมหาวิทยาลัยศิลปากร วิทยาลัยช่างศิลป์ วิทยาลัยเพาะช่าง วิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลธัญบุรี และสถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง
ใครเดินผ่านไปผ่านมาแถวสยาม-มาบุญครองก็คงจะต้องเคยมองไปที่ตึกรูปทรงโมเดิร์น จุดศูนย์รวมอาร์ตเจ๋ง ๆ ที่จัดแสดงทั้งด้านนอกด้านใน และความพิเศษของที่นี่ก็คือ ทุกที่สามารถใช้เป็นพื้นที่ศิลปะได้ แม้กระทั่งกำแพงด้านนอก ที่มักเปลี่ยนเวียนงานเพ้นท์สวย ๆ ของศิลปินชื่อดังอยู่บ่อย ๆ เดินผ่านกี่ครั้งก็สะดุดตาจนต้องหยุดดูทุกครั้ง ซึ่งครั้งนี้ก็เป็นการสะดุดตาที่สะดุดใจด้วยคิดถึง เมื่อหอศิลป์เปิดให้ตัวแทนนักศึกษากว่า 200 ชีวิตจากสถาบันต่าง ๆ ได้ร่วมสร้างภาพพระบรมสาทิสลักษณ์ในหลวงรัชกาลที่ ๙ ที่ใหญ่ที่สุดในโลก ด้วยเทคนิค Wheat Pasting หรือการแปะภาพที่เพ้นท์เสร็จแล้วบนกำแพงด้วยกาวลาเท็กซ์ โดยใช้เวลาดำเนินงานกว่า 17 วัน นอกจากนี้หอศิลป์ยังเปิดให้ศิลปินมาวาดภาพตัวการ์ตูนถวายอาลัย บริเวณกำแพงเหนือประตูทางเข้าด้วย โดยสามารถชมได้จนถึงเดือนธันวาคม 2560
๓. พระบรมสาทิสลักษณ์ ในหลวงรัชกาลที่ ๙ ที่ยาวที่สุดในโลก
สถานที่: ลานกิจกรรม ด้านหน้า (Ampri) ศูนย์การค้าเซ็นทรัลเวิลด์ ระหว่างวันที่ 2-31 ตุลาคม 2560
ศิลปิน: สุวิทย์ ใจป้อม
“กว่าจะเป็นมหาราชา” (ตั้งชื่อภาพโดย ท่าน ว. วชิรเมธี) ภาพไฮไลท์จากงานนิทรรศการภาพเขียนในหลวงรัชกาลที่ 9 ที่ยาวสุดในโลก ด้วยขนาดกว้าง 2.20 ยาว 20 เมตร ที่บรรจงวาดโดยสุวิทย์ ใจป้อม ศิลปินแถวหน้าที่วาดภาพในหลวงมาตลอดชีวิต ใช้เทคนิคสีเครยอน ด้วยแท่งถ่านบนผืนผ้าใบ ประติดประต่อเรื่องราวพระราชประวัติ ตั้งแต่วันพระราชสมภพ ขณะทรงพระเยาว์ ที่เมืองโลซาน ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ เสด็จขึ้นครองราชย์ ราชาภิเษก ทรงพระผนวช ทรงงาน พระราชกรณียกิจต่าง ๆ พระอัจฉริยภาพด้านต่าง ๆ ทั้งด้านดนตรี, ศิลปะ, กีฬา และการเกษตร จนถึงเสด็จสวรรคต
๔. พระบรมสาทิสลักษณ์ จ.เชียงราย
สถานที่: ด้านหน้าขัวศิลปะ จ.เชียงราย (จากนั้นอาจจะนำไปเก็บไว้ที่ศาลาธรรมวัดร่องขุ่น)
ศิลปิน: ศิลปินเชียงราย
ต้องมาร์คไว้ในหน้าประวัติศาสตร์แล้ว เพราะวันที่ 24 ตุลาคม 2560 ที่ขัวศิลปะ จ. เชียงราย เป็นครั้งแรกของการรวมตัวกันของรวมศิลปินกว่า 100 ชีวิตทั่วเมืองเชียงรายเพื่อสร้างสรรค์งานศิลปะ แต่เพื่อพ่อหลวง ทุกอย่างย่อมเกิดขึ้นได้ นำโดยอาจารย์เฉลิมชัย โฆษิตพิพัฒน์ ศิลปินแห่งชาติ ภาพวาดพระบรมสาทิสลักษณ์ขนาดความสูง 2.50 เมตร ยาว 17 เมตรนี้ เรียงร้อยพระราชประวัติในหลวงรัชกาลที่ 9 ตั้งแต่ทรงพระเยาว์จนถึงวันที่พระองค์ทรงครองสิริราชสมบัติครบ 60 ปี โดยมีจุดเริ่มต้นมาจากอาจารย์สุวิทย์ ใจป้อม ศิลปินเชียงรายที่ขึ้นชื่อเรื่องการวาดภาพในหลวง ผู้วาดภาพพระบรมสาทิสลักษณ์ที่ยาวที่สุดในโลก เป็นผู้จุดประกายการรวมตัวในครั้งนี้ เริ่มต้นจากการสเก็ตภาพโดยอาจารย์สุวิทย์ ประชุมปรึกษา ตัดสินใจ และแบ่งงานร่วมแรงร่วมใจกัน สร้างสรรค์ผลงานชิ้นโตให้เสร็จได้ในวันเดียว
ที่มา: http://mediastudio.co.th/2016/10/25/63871/, http://www.tnews.co.th/contents/210009
๕. กราฟิตี้พระบรมฉายาสาทิสลักษณ์ จ. ภูเก็ต
สถานที่: สี่แยก ถ.ดีบุก จ.ภูเก็ต
ศิลปิน: กลุ่ม 4Studio
เสน่ห์อีกอย่างของการท่องเที่ยวภูเก็ต ก็คงจะหนีไม่พ้นการเดินเสพย์งานอาร์ตบนฝาผนังที่กระจายอยู่ทั่วเมือง และหนึ่งในภาพแลนด์มาร์คที่ต้องไปดูก็คือ ภาพพระบรมสาทิสลักษณ์ของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช สร้างสรรค์เพื่อถวายความอาลัยโดยกลุ่มศิลปิน 4Studio ครูสอนศิลปะและกลุ่มลูกศิษย์เยาวชนของจังหวัดภูเก็ต เป็นภาพพระองค์ท่านในพระอิริยาบทต่าง ๆ ซึ่งโดยมากจะเป็นตอนกำลังทรงงาน พระพักตร์มองไปหลายทิศทางสื่อถึงความห่วงใยใส่พระทัยที่พระองค์มีให้แก่ปวงชนชาวไทยทุกแห่งหนตลอดระยะเวลาครองราชย์ ประกอบกับข้อความพระราชดำรัสเกี่ยวกับความสามัคคี ที่นอกจากภาพจะทำให้เราระลึกถึงพระองค์แล้ว ข้อความยังช่วยเตือนใจให้คนไทยเราสามัคคีกันอีกด้วย
ที่มา: www.phuketemagazine.com
๖. ประติมากรรมนูนต่ำ “พ่อหลวงในดวงใจ”
สถานที่: วิทยาลัยเพาะช่าง
ศิลปิน: แผนกวิจิตรศิลป์ วิทยาลัยอาชีวะศึกษาเสาวภา
หลังจากที่หลายคนได้เลือกทำอะไรสักอย่างเพื่อถวายความอาลัยแก่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวในพระบรมโกศ ในมุมมองของตัวเองและวิธีที่ถนัด กลุ่มครูและนักเรียน รวมไปถึงศิษย์เก่า แผนกวิชาวิจิตรศิลป์ วิทยาลัยอาชีวศึกษาเสาวภา ก็เลือกใช้ประติมากรรมนูนต่ำ จากรูปคุ้นตาที่ยังก้องอยู่ในใจของในหลวงรัชกาลที่ ๙ พระราชกรณียกิจ และโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริมากมายที่บำบัดทุกข์บำรุงสุขราษฎรทุกหมู่เหล่า มาร้อยเรียงเรื่องราวจากก้อนดิน ประกอบกับเทคนิคอีกหลาย ๆ อย่าง ในหัวข้อ ‘ในหลวง’ จากจินตนาการและหัวใจของทุกคน ลงบนกระดานไม้อัด 3 แผ่น ความยาวรวมกว่า 7 เมตร ด้วยมืออีกหลายคู่ในระยะเวลา 1 เดือนที่ร่วมแรงร่วมใจทำเพื่อพ่อ โดยจะจัดแสดงรวมต่อกันเป็นเรื่องราว หรือจัดแสดงแยกก็ทำได้ ซึ่งหลังจากหล่อไฟเบอร์กลาสแล้วก็ได้จัดแสดงที่หน้าโรงเรียนเป็นเวลา 3 เดือน ก่อนจะย้ายไปจัดแสดงที่สิทยาลัยเพาะช่าง เพื่อให้ประชาชนได้เข้าชม
ที่มา: https://youtu.be/8tG_z3Dlfxk
๗. พระบรมสาทิสลักษณ์ บนฝาผนัง ม.ศิลปากร
สถานที่: อาคารศูนย์ทัศนศิลป์สิรินธร มหาวิทยาลัยศิลปากร วิทยาเขตพระราชวังสนามจันทร์ จ.นครปฐม
หลังจากทราบข่าวการเสด็จสวรรคตของในหลวงรัชกาลที่ 9 ทางกลุ่มนักศึกษาคณะจิตรกรรมประติมากรรมและภาพพิมพ์ มหาวิทยาลัยศิลปากร ก็ได้ร่วมกันวาดภาพพระบรมสาทิสลักษณ์ในพระอิริยาบททรงงาน ในกรอบวิจิตรสวยงาม ขึ้นบนผนังอาคาร เพื่อน้อมเกล้าฯ ถวายอาลัย ตั้งแต่เวลาเที่ยงคืนจนถึงช่วงสายของวันที่ 14 ต.ค. 2559
ที่มา: https://campus.campus-star.com/variety/21599.html
๘. ภาพวาดชุด “อัครศิลปิน”
สถานที่: ถนนหน้าพระลาน มหาวิทยาลัยศิลปากร วังท่าพระ
จัดแสดงถาวรไปตลอดร่วมกับงานพระราชพิธีฯ แบบไม่มีกำหนด
ศิลปิน: นักศึกษาคณะจิตรกรรมประติมากรรมและภาพพิมพ์ มหาวิทยาลัยศิลปากร
“อัครศิลปิน” ๙ ภาพวาดพระบรมฉายาทิสลักษณ์ในหลวงรัชกาลที่ ๙ ที่ได้รับแรงบันดาลใจมาจากพระอัฉริยภาพทางด้านดนตรี กีฬาและศิลปะ ที่เปรียบเสมือนแรงบันดาลใจในการศึกษาเล่าเรียนของเหล่านักศึกษามหาวิทยาลัยศิลปากร ที่ผู้คนแห่กันไปชมมากมายตลอดทั้งวันตั้งแต่วันแรกที่ทำการติดตั้ง ณ ถนนหน้าพระลาน ตลอดแนวกำแพงมหาวิทยาลัยศิลปากร วังท่าพระ ฝั่งตรงข้ามพระบรมมหาราชวัง มีตั้งแต่ภาพขณะทรงพระเยาว์ ทรงวาดภาพฝีพระหัตถ์ ทรงเปียโนกับคุณติโต แมวทรงเลี้ยง ทรงถ่ายภาพ ไปจนถึงทรงเรือใบ
ที่มา: http://www.manager.co.th/Campus/ViewNews.aspx?NewsID=9590000104623
๙. กราฟิตี้พระบรมสาทิสลักษณ์ บนสังกะสี
สถานที่: ชุมชนตลาดเก่า คลองเจ็ด อ.ธัญบุรี จ.ปทุมธานี
ศิลปิน: มือบอน
ภาพพระบรมสาทิสลักษณ์ของในหลวงรัชกาลที่ ๙ ในรูปแบบงานศิลป์บนพื้นผิวผนังสังกะสีเรือนแถวเก่าแก่ มีอยู่ด้วยกัน 2 ภาพ ซึ่งดูเผิน ๆ แล้วอาจจะมีรูปแบบเหมือนกราฟิตี้ธรรมดา แต่จริง ๆ แล้วงานศิลป์ชิ้นนี้ทำมาจากการลงสีบนกระดาษขนาดใหญ่ อัดกาว แล้วนำมาติดลงบนแผ่นสังกะสีอีกที ให้อารมณ์เก่า ๆ ที่เต็มไปด้วยเรื่องราวที่มีคุณค่า ช่วยสื่อความภาพวาดให้ออกมาสวยงามและมีความหมายยิ่งขึ้น นอกจากนี้ยังมีตัวการ์ตูนรูปนกเป็นสัญลักษณ์แทนตัวเอง ที่แสดงถึงความเป็นอิสระในการทำความดีเพื่อในหลวงรัชกาลที่ ๙ ที่เราทุกคนสามารถสื่อถึงตัวเองได้
งานศิลป์ชิ้นนี้สร้างสรรค์โดยศิลปินฉายา “มือบอน” ผู้คร่ำหวอดในวงการศิลปะมานาน สร้างขึ้นเพื่อเป็นมรดกทางแรงบันดาลใจส่งต่อไปยังผู้อื่น ดังเช่นพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ผู้สร้างแรงบันดาจใจให้ผู้อื่นทำสิ่งที่ยิ่งใหญ่มากมาย นอกจากนี้ “มือบอน” ยังได้ตระเวนสร้างสรรค์ผลงานในชุมชนเก่าแก่อีกหลายแห่ง โดยหวังจะทลายกำแพง ให้ผู้คนได้สัมผัสกับศิลปะได้มากขึ้น
ที่มา: https://youtu.be/zz4qq0IPkjY, https://youtu.be/8-D6IMX0SEY
จบไปแล้วกับ ๙ ภาพวาดที่กลั่นออกมาจากหัวใจและความอาลัยคิดถึงของเหล่าศิลปิน และด้วยสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณของ ในหลวงรัชกาลที่ ๙ ด้วยแนวคิดที่ว่าเราจะทำอะไรให้พ่อได้บ้าง ผ่านสิ่งที่ตนเองถนัด ที่ส่งความรู้สึกมาสู่ใจผู้พบเห็นทุกคน
บทความนี้เรียบเรียงขึ้นโดย ทีมงาน MOVER
mover.in.th@gmail.com