“รถยนต์” น่าจะเป็นอีกหนึ่งสิ่งในชีวิตวัยทำงาน ที่เชื่อว่าหลายคนมีความคิดอยากจับจองเป็นเจ้าของกันอยู่ แต่อาจมีเหตุผลบางอย่างเกิดขึ้นในใจจนนำไปสู่การลังเล และทำให้ตัดสินใจยังไม่ได้ เพราะการมีรถยนต์เป็นของตนเองสักคันหนึ่ง ย่อมมาพร้อมกับภาระค่าใช้จ่ายที่จะตามมาในแต่ละเดือน แต่ละปี รวมทั้งยังมีเรื่องของพื้นที่ที่ใช้จอดรถด้วย
ทำให้เพื่อนๆ ที่อาศัยอยู่ในเมืองและใช้ชีวิตอยู่คอนโดฯ ก็ยิ่งลำบาก เพราะมีพื้นที่ในการจอดที่จำกัด แต่ถ้าจะไม่มีก็ไม่ได้อีก เพราะบางครั้งเราก็ไม่สามารถฝากชีวิตไว้กับรถสาธารณะได้เท่าไร และยิ่งถ้าใครที่ประกอบอาชีพค้าขายหรือเป็นเซลส์ตามบริษัทต่างๆ ก็ยิ่งยากเลย แล้วแบบนี้จะตัดสินใจยังไงดี? เรามีข้อแนะนำดีๆ เกี่ยวกับการ เลือกซื้อรถ สักคันมาเป็นเพื่อนร่วมทางในชีวิต รวมทั้งถ้าอยู่คอนโดฯ ด้วย จะมีแนวทางในการเลือกรถอย่างไร มาดูคำตอบไปพร้อมกัน
| กำหนดรายการ (Plan) |
ก่อนที่จะถึงขั้นตอนการเลือกรถ เราต้องลิสต์รายการต่างๆ ที่เป็นปัจจัยในการเลือกซื้อรถของเราออกมาให้หมดก่อนว่าตอนนี้ตัวเรามีสถานะเป็นอย่างไร เช่น
- รายได้ต่อเดือน : แน่นอนว่าการเลือกซื้อรถยนต์ สิ่งแรกที่เราควรคิดก็คือ เรื่องของรายได้ต่อเดือนที่จะนำมาผ่อนกับทางไฟแนนซ์ที่เราเลือกจัดด้วยว่า เพียงพอแค่ไหน ซึ่งเราไม่ควรวางแผนไว้ให้ตึงมือมากไป และอย่าลืมมองไปไกลๆ ว่า ต้องมีเรื่องของประกันรถยนต์, พ.ร.บ. และค่าภาษีรถยนต์ต่อปี รวมไปถึงค่าดูแลที่ผู้ผลิตรถยนต์ส่วนมากจะกำหนดไว้ปีละ 2 ครั้ง เป็นอย่างน้อยด้วย
- ที่พักอาศัยและการเดินทาง : เป็นอีกปัจจัยที่เราควรคิดถึงเป็นอย่างต่อมา เพราะการที่เราพักอยู่คอนโดฯ ซึ่งมีพื้นที่จำกัด ยิ่งทำให้เราต้องเลือกรถที่ไม่ใหญ่มากเกินไป รวมทั้งเรื่องของการเดินทางไปทำงานด้วยว่า เราต้องมีรายจ่ายในส่วนไหนเพิ่มอีกไหม และระยะทางไกลแค่ไหน
| เลือกรถยนต์ที่ใช่ ให้เหมาะกับเรา |
เมื่อเราลิสต์สิ่งต่างๆ ออกมาแล้ว ต่อมาก็มาถึงขั้นตอนเลือกรถยนต์ที่ใช่ของเรากัน โดยการเลือกรถที่จะเป็นเพื่อนร่วมเดินทางในชีวิตเรานั้น จริงๆ แล้วแต่ละคนจะมีหลักการหรือกฎเกณฑ์การเลือกส่วนตัวกันอยู่แล้ว ดังนั้น ขอแชร์ในมุมของผู้เขียนให้ได้ฟังเป็นข้อมูลแทน โดยมีหลักการเลือกรถยนต์หลักๆ ดังนี้
- เลือกรถที่ชอบ : ด้วยปัจจุบันมีรถหน้าตาดูดี มีชาติตระกูลออกมามากมายหลายแบรนด์ ทุกแบรนด์ มีจุดเด่นที่แตกต่างกันไป แต่โดยส่วนตัวแล้วจะเลือกรถที่เราชอบมากกว่ารถที่คนรอบตัว หรือเพื่อนๆ แนะนำ เพราะอย่าลืมว่า เราต้องอยู่กับเขาไปนานอย่างน้อย 5-7 ปี หรืออาจนานกว่านั้น ดังนั้น ถ้าเราเลือกรถที่เราชอบ เราก็จะมีความสุขไปตลอดการขับขี่ เพราะความชอบแต่ละคนไม่เหมือนกัน ก็คงเป็นฟีลเดียวกับการซื้อข้าวกิน เราชอบกินข้าวผัด แต่เพื่อนสั่งผัดผักรวมมิตรที่ตัวเองชอบมาให้ ผลคือ ก็กินได้ แต่! ก็ไม่อร่อยเท่าของที่เราชอบจริงไหม?
| ดูสเป็ก |
- เทียบกับความต้องการ และงบที่มี : ลำดับต่อมาเมื่อมีแคนดิเดทรุ่นรถที่เข้าตาแล้ว ก็เริ่มที่จะมองหาสเป็กรถยนต์มาเทียบกับความต้องการของตัวเรา โดยสเป็กหลักๆ ที่มองก็คือเรื่องของความประหยัดน้ำมันของตัวรถที่แน่นอนเยอะไว้ก่อนก็ดี เรื่องของแรงม้า แรงบิด ก็สำคัญว่าพอเพียงกับการขับขี่เราไหม ถ้าขับในเมืองส่วนใหญ่ นานมากๆ ถึงออกต่างจังหวัด ก็ไม่ต้องเยอะก็ได้ สุดท้ายก็นับมาเทียบกับงบที่ได้ตรงไหนก็เอาตรงนั้น
- ที่จอดรถก็สำคัญ : เมื่อมีรถ จะไม่มีที่จอดไม่ได้ เพราะถ้าไปหาจอดตามริมถนน บนฟุตปาธ ก็คงจะถูกพี่ตำรวจล็อคล้อ หรืออาจโดนโจรขโมยงัดได้ ดังนั้น เราควรหาข้อมูลหรือสถานที่จะจอดรถไว้ก่อน เพื่อจะได้ไม่ต้องมานั่งกลุ้มใจในภายหลัง
| ที่จอดรถคอนโดฯ เรื่องสำคัญที่ต้องรู้ |
โดยปกติที่จอดรถภายในโครงการคอนโดฯ มักจะคิดพื้นที่จอดรถออกมาเป็นเปอร์เซ็นต์ โดยเทียบจากจำนวนยูนิตห้องทั้งหมด ซึ่งโครงการคอนโดฯโดยส่วนมากมักจะไม่ได้มีที่จอดรถมาให้สำหรับทุกห้องเสมอไป รวมทั้งบางโครงการยังมีการเก็บค่าใช้จ่ายในการจอดรถเพิ่มเติมด้วย และนั่นก็ไม่ใช้ปัญหาของคนที่มีรถเท่านั้น เพราะยังส่งผลไปถึงเพื่อนบ้านที่อยู่กับเรา แต่ไม่มีรถอีกด้วย ดังนั้นเรามีข้อมูลการจอดรถในคอนโดฯ มาฝากกันด้วย
- คิดปริมาณพื้นที่การจอดเป็นเปอร์เซ็นต์ : หากว่ากันไปตามกฎหมายแล้ว โครงการที่มีห้องคอนโดฯ ห้องขนาด 60 ตร.ม.ขึ้นไปต้องมีที่จอดรถให้กับผู้ที่อยู่อาศัย 1 คัน ซึ่งแน่นอนว่าห้องขนาดใหญ่แบบนั้นในกรุงเทพมีจำนวนไม่มาก จึงทำให้ต้องใช้กฎการใช้พื้นที่ร่วมกัน โดยคิดเป็น 120 ตร.ม. ต่อที่จอดรถหนึ่งคัน ดังนั้น สมมติว่า ถ้าทุกห้องมีขนาด 30 ตร.ม.ที่จอดรถจะมี 1 ที่ต่อ 4 ห้อง หรือคิดเป็นเปอร์เซ็นต์ก็ประมาณ 35% ดังนั้น เราควรลองสอบถามเรื่องนี้ให้ดีก่อน
- มีค่าจอดด้วยนะ : แน่นอนว่าการอยู่ห้องคอนโดฯ ทางโครงการคอนโดฯ ก็ต้องมีการคิดค่าจอดรถสำหรับห้องที่มีความต้องการจะใช้ที่จอดรถด้วย ดังนั้น เราก็ควรคำนวณรายจ่ายตรงส่วนนี้เข้าไปด้วย แต่อย่าลืมว่า ค่าจอดรถ ไม่ใช่ค่าที่จอดนะ!