เรือใบมด สิ่งประดิษฐ์ที่ในหลวง ร.๙ ทรงออกแบบและต่อขึ้นด้วยพระองค์เอง

คนไทยทุกคนคงจะคุ้นเคยกันดีกับเรื่องราวของในหลวงรัชกาลที่ ๙ ที่ท่านทรงล่องเรือใบด้วยตัวพระองค์เพียงคนเดียวข้ามอ่าวไทย จากหัวหินไปยังสัตหีบ แต่จะมีใครรู้บ้างว่านอกจากจะทรงเชี่ยวชาญในการแล่นเรือแล้ว ท่านยังทรงประดิษฐ์คิดค้น “เรือใบมด” ขึ้นมาเพื่อใช้แล่นเองอีกด้วย

memocent.chula

ความคิดริเริ่มในการประดิษฐ์ที่ชาญฉลาดนั้นเกิดขึ้นตั้งแต่เมื่อครั้งทรงศึกษาอยู่ในประเทศสวิตเซอร์แลนด์ในวัยเยาว์ พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชนั้น ท่านทรงสนพระราชหฤทัยในงานช่างและงานฝีมือเป็นอย่างมาก ทรงทั้งศึกษาและทดลองประดิษฐ์ของเล่นด้วยพระองค์เอง เช่น เครื่องร่อนและเรือรบจำลอง เป็นต้น แต่เมื่อครั้งเสด็จกลับประเทศไทยและขึ้นครองราชย์สมบัติแล้ว ก็ทรงมีพระราชภารกิจต่าง ๆ ค่อนข้างเยอะ จึงทำให้พระองค์ทรงงานช่างน้อยลงกว่าสมัยที่ยังอยู่สวิตเซอร์แลนด์

sportringside

แต่ถึงจะทรงงานเพื่อประชาชนอย่างหนักเท่าไร พระองค์ยังไม่ละทิ้ง เรือใบ กีฬาที่พระองค์ทรงโปรดมากที่สุด และเมื่อมีโอกาสจึงโปรดต่อเรือใบพระที่นั่งด้วยตัวพระองค์เอง โดยศึกษาวิธรการเขียนแบบแปลน รวมถึงข้อบังคับต่าง ๆ ของเรือแต่ละประเภทจากตำราทั่วโลกอย่างละเอียดจนรู้จริง และทรงประดิษฐ์ด้วยความละเอียดถี่ถ้วนจนสมารถที่เรียกว่าวัดกันเป็นมิลลิเมตรเลยทีเดียว ดังนั้น เรือที่พระองค์ทรงต่อขึ้นจึงเป็นเรือที่สมบูรณ์แบบ โดยพระองค์ทรงทดลองแล่นเรือที่สระน้ำภายในพระราชวังสวนจิตรลดา

khaosod

“ที่ชื่อมดนั้นเพราะมันกัดเจ็บ ๆ คัน ๆ ดี”

โดยเรือใบฝีพระหัตถ์จากพระอัจฉริยภาพของในหลวงรัชกาลที่ ๙ ที่สำคัญมีทั้งหมด ๓ ประเภทด้วยกันคือ เรือใบประเภทเอ็นเตอร์ไพรส์ (International Enterprise Class) เรือใบประเภทโอเค (International OK Class) และเรือใบประเภทม็อธ (International Moth Class) ซึ่งพระองค์ทรงมีรับสั่งไว้ว่า

“ที่ชื่อมดนั้นเพราะมันกัดเจ็บ ๆ คัน ๆ ดี” 

นอกจากนี้ เรือใบมด ยังถูกพัฒนาแบบขึ้นมาใหม่จนกลายเป็น เรือใบซุปเปอร์มด และ เรือใบไมโครมด

khaosod

เรือใบมดนั้นมีขนาดตัวเรือยาว ๑๑ ฟุต กว้าง ๔ ฟุต ๗ นิ้ว มีเสาเดียวและมีเนื้อที่ใบ ๗๒ ตารางฟุต ถือเป็นเรือใบขนาดเล็ก เหมาะสำหรับคนไทย มีน้ำหนักจึงเบาจึงสะดวกในการเคลื่อนย้ายไปยังที่ต่าง ๆ การเก็บรักษาดูแลก็ง่าย มีคุณสมบัติเด่นคือ ว่องไว แล่นได้เร็ว และมีราคาไม่แพง จึงทำให้เรือใบมดที่ทรงออกแบบได้มาตรฐานสากล

prd

ซึ่งเรือใบมดที่พระองค์ทรงประดิษฐ์ขึ้นนั้นได้ถูกนำไปจดลิขสิทธิ์เป็นเรือใบสากลประเภท International Moth Class ที่ประเทศอังกฤษ และพระองค์ก็ยังทรงเคยนำเรือใบซุปเปอร์มดเข้าร่วมแข่งขันกีฬาเอเชียนเกมส์ครั้งที่ 13 เมื่อปี พ.ศ.2541 มาแล้วอีกด้วยเช่นกัน จนถึงในปัจจุบันนี้เรือใบซุปเปอร์มดยังคงโลดแล่นอยู่ในท้องทะเลในการแข่งขันที่มีขึ้นอยู่เสมอ

nichax

นอกจากพระองค์จะเป็นนักประดิษฐ์ที่มีพระปรีชาสามารถอย่างมากแล้ว ท่านก็ยังทรงเป็นนักกีฬาที่ประสบความสำเร็จมากด้วยเช่นกัน เพราะในวันที่ 16 ธันวาคม พ.ศ. 2510  พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช และสมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าอุบลรัตนราชกัญญาฯ ทรงคว้าชัยการแข่งขันเรือใบประเภทโอเคด้วยเรือที่พระองค์ทรงประดิษฐ์เองและพระราชทานชื่อว่า “นวฤกษ์” ในการแข่งขันกีฬาแหลมทอง ครั้งที่ 4 ณ ประเทศไทย

matichon

จากความสำเร็จในการแข่งขันกีฬาครั้งนั้น พระองค์ทรงจึงได้ถือว่าเป็นพระมหากษัตริย์พระองค์แรกและพระองค์เดียวในแถบเอเชียที่ได้รับรางวัลชนะเลิศการแข่งขันเรือใบในระดับนานาชาติ ยิ่งไปกว่านั้นยังทรงเป็นพระมหากษัตริย์ไทยเพียงพระองค์เดียวที่ทรงให้ความสนใจกีฬาอย่างจริงจัง ตามพระราชดำรัสที่ว่า

“การกีฬามีความสำคัญเป็นอย่างยิ่งสำหรับชีวิตของแต่ละคนและชีวิตบ้านเมือง”

khaosod

หลังจากชัยชนะในครั้งนั้นพระองค์ยังมีพระราชกระแสรับสั่งอย่างน่าสนใจว่า

“การชนะการแข่งขัน ความจริงคือ การชนะตนเองนั่นแหละ”

ซึ่งสะท้อนถึงปรัชญาลึกซึ้งที่ทรงตระหนักถึงความสำคัญและประโยชน์ต่าง ๆ ในเกมกีฬา ถือเป็นขวัญและกำลังใจของนักกีฬาไทยทุกคนตลอดมา


บทความนี้เรียบเรียงขึ้นโดย ทีมงาน MOVER

mover.in.th@gmail.com


บทความนี้เรียบเรียงขึ้นโดย ทีมงาน MOVER

mover.in.th@gmail.com