ถึงฤดูกาล ลดหย่อนภาษี อีกครั้งในช่วงสิ้นปี หลายๆท่านยังรักพี่เสียดายน้อง เลือกไม่ถูกว่าลดหย่อนด้วยอะไรดี เพราะมีให้เลือกทั้งประกันชีวิต LTF และ RMF เอ๊ะ แล้วมันคืออะไร ต่างกันอย่างไร และเหมาะกับใคร
วันนี้ Money Avengers Ft. Mover ขอนำเสนอ ลดหย่อนภาษี ตัวไหนที่ใช่สำหรับคุณ (LTF vs RMF vs ประกัน)
LTF ตื่นเต้น เร้าใจ ไม่ผูกมัด
LTF หรือ Long Term Fund คือกองทุนรวมชนิดหนึ่งที่ให้สิทธิพิเศษเพิ่มเติมเรื่องของการลดหย่อนภาษีได้ เท่ากับว่าผู้ลงทุนจะได้กำไรถึงสองต่อ ทั้งจากการลงทุนและการลดหย่อนภาษี แต่สิทธิพิเศษนั้น ก็มาพร้อมกับเงื่อนไขที่เพิมขึ้นมา ได้แก่ 1.กำหนดให้ลงทุนในหุ้นไทยขั้นต่ำ 65% และ 2.กำหนดให้ผู้ลงทุนต้องถือครองไว้อย่างน้อย 7 ปีปฏิทิน
ซึ่งทำให้ผู้ลงทุนมีโอกาสได้รับผลตอบแทนที่สูง แต่ขณะเดียวกันก็มีโอกาสขาดทุนได้ เพราะเงินส่วนใหญ่ถูกจัดสรรไปลงทุนในหุ้น แต่ขณะเดียวกันรัฐบาลก็กำหนดให้ผู้ลงทุน ต้องถือครองอย่างน้อย 7 ปีปฏิทิน ซึ่งมีวัตถุประสงค์เพื่อ 1.ต้องการให้ประชาชนเก็บออมในระยะยาวมากขึ้น และ 2.การลงทุนในหุ้นยิ่งระยะยาวโอกาสที่จะขาดทุนจะน้อยกว่า แต่จณะเดียวกันก็เปิดช่องไว้ ให้ผู้ลงทุนสามารถเลือกซื้อได้เมื่อต้องการ โดยไม่มีภาระผูกมัด หรือการบังคับให้ซื้อต่อเนื่องทุกๆปีแต่อย่างใด
ทำให้ LTF เหมาะกับคนที่รับความเสี่ยงได้ระดับหนึ่ง ไม่ต้องการมีภาระผูกพันในการซื้ออย่างต่อเนื่อง เช่น Freelance, First Jobber, หรือคนที่มองหาโอกาสการเปลี่ยนงานในอนาคต
TIPS : หากไม่มีเวลาจับจังหวะในการซื้อ สามารถใช้บริการหักบัญชี หรือ บัตรเครดิตอัติโนมัติทุกๆเดือนได้ เพื่อเป็นการเฉลี่ยต้นทุนและลดความเสี่ยง
ประกันชีวิต คุ้มครอง ผูกพัน การันตี
ประกันชีวิต คือ สัญญาที่เกิดขึ้นระหว่างผู้ทำประกันชีวิตและบริษัทประกัน ที่ตกลงกันไว้ว่า หากอยู่ครบสัญญาจะได้รับเงินจำนวนเท่าใด กรณีเสียชีวิตก่อนจะได้รับเงินเท่าใด หรือระหว่างทางจะมีเงินคืนให้เท่าไหร่บ้าง นั่นหมายถึง ผลประโยชน์ทุกอย่าง ได้ถูกการันตีเอาไว้หมดแล้ว และบริษัทประกันไม่มีทางบิดพลิ้วได้ ทำให้ประกันชีวิตเป็นผลิตภัณฑ์ทางการเงินที่รัฐบาลสนับสนุนให้ประชาชนมีไว้เพื่อ เป็นหลักประกันให้แก่ครอบครัว เพื่อลดความเสี่ยงทางการเงินหากเสียชีวิต จึงทำให้มีเงื่อนไขเรื่องของระยะเวลาคุ้มครองที่ต้องมากกว่า 10 ปีจึงจะนำมาลดหย่อนภาษีได้ ส่วนเรื่องการชำระค่าเบี้ยนั้นไม่ได้ระบุเอาไว้ นั่นหมายถึง จะเป็นแบบส่งค่าเบี้ยกี่ปีก็ตาม หากคุ้มครองเกิน 10 ปีแล้วก็สามารถนำมาลดหย่อนภาษีได้
ประกันชีวิตที่นิยมทำเพื่อลดหย่อนภาษีไว้จะมี 2 แบบคือ
1.เน้นความคุ้มครอง ที่ค่าเบี้ยถูก ชำระค่าเบี้ยและคุ้มครองนาน แต่ให้ความคุ้มครองที่สูงมาก เช่น ชำระ 10 ปี คุ้มครองจนถึงอายุ 99 ปี โดยอาจจะเสียค่าเบี้ยแค่หลักหมื่น แต่คุ้มครองเป็นล้านก็มี
2.สะสมทรัพย์ ที่ค่าเบี้ยมักจะสูงขึ้นมา แตชำระและคุ้มครองสั้น เช่น ชำระ 6 ปี คุ้มครอง 12 ปี แต่มีจุดเด่นที่ให้ผลตอบแทนที่สูงกว่าเงินฝากประจำทั่วๆไป
ทำให้ก่อนตัดสินใจทำประกันชีวิต ควรกำหนดวัตถุประสงค์นอกจากการลดหย่อนภาษีด้วยว่า ต้องการเน้นในเรื่องใด ผลประโยชน์ หรือ ความคุ้มครอง
ด้วยผลตอบแทนที่การันตี ความคุ้มครองที่มีให้ แต่เป็นภาระผูกพันในการชำระค่าเบี้ย ทำให้ประกันชีวิตเหมาะกับผู้ที่ต้องการสร้างหลักประกัน รับความเสี่ยงได้ไม่มาก เพราะผลตอบแทนน้อยแต่การันตี เช่น ผู้ที่มีรายได้มั่นคง ผู้ที่เป็นเสาหลักของครอบครัว หรือมีภาระหนี้ก้อนใหญ่ เช่น บ้านหรือรถ
TIPS : หากเวนคืนกรมธรรม์ประกันชีวิตก่อนครบสัญญาอาจส่งผลให้ได้รับเงินต้นไม่ครบได้ โดยเฉพาะในช่วงปีแรกๆ ที่อาจขาดทุนได้ถึง 80-90% จึงควรวางแผนให้ดีก่อนตัดสินใจทำประกันชีวิต
RMF ได้หมดถ้าสดชื่น
RMF หรือ Retirement Mutual Fund คือกองทุนรวมอีกชนิดที่มอบสิทธิพิเศษการลดหย่อนภาษีให้ แต่มีจุดแตกต่างจาก LTF คือ
1.RMF ไม่กำหนดสินทรัพย์และประเทศที่ลงทุน ซึ่งหมายถึง สามารถลงทุนได้ทุกอย่าง ทุกที่ทั่วโลก ไม่ว่าจะเป็น เงินฝาก ตราสารหนี้ หุ้น จนไปถึง ทอง และน้ำมัน ทำให้ผลตอบแทนและความเสี่ยงของ RMF นั้นมีตั้งแต่ต่ำมากไปจนถึงสูงมาก ขึ้นอยู่กับRMF ที่เราตัดสินใจลงทุน
2.RMF บังคับการถือครองที่ยาวนานกว่า คือ อย่างน้อยต้องถือครอง 5 ปีบริบูรณ์และต้องอายุ 55 ปี จึงจะขายได้ครั้งแรก ทำให้เงินที่จะนำมาลงทุน ต้องมั่นใจว่าจะไม่ต้องการใช้ก่อนครบกำหนด แต่ RMF ก็ยังเปิดช่องให้นักลงทุนซื้อแบบปีเว้นปีได้ หรือ ซื้อขั้นต่ำเพียง 5,000 บาทในปีภาษีนั้นๆก็ทำได้
ด้วยคุณสมบัติเด่นๆ 2 ข้อนี้ ทำให้ RMF เหมาะกับผู้ที่ต้องการวางแผนทางการเงินระยะยาว ไม่ว่าจะอายุมากหรือน้อย เรื่องของความเสี่ยง ผู้ลงทุนเองก็สามารถเลือกได้ว่าต้องการลงทุนแบบใด คาดหวังผลตอบแทนเท่าไหร่ และรับความเสี่ยงได้มากน้อยแค่ไหน
TIPS : เนื่องจากการถือครองที่ยาวนาน และบังคับให้ซื้อต่อเนื่อง ผู้ซื้อจึงควรเก็บหลักฐานการซื้อ เช่น สมุดกองทุน หรือใบยืนยันการซื้อ เอาไว้ เพื่อสะดวกต่อการจดจำ และนำไปยื่นกับธนาคาร เมื่อทำการขาย
สุดท้ายนี้ ข้อมูลข้างต้น เป็นเพียงตัวอย่างคร่าวๆเท่านั้น มิใช่หลักสูตรตายตัวแต่อย่างใด เราไม่จำเป็นต้องเลือกแค่อย่างใดอย่างหนึ่ง สามารถซื้อผสมกัน เพื่อสร้างทั้งผลตอบแทน วางแผนเกษียณ และสร้างความคุ้มครองก็ได้
แต่ต้องมีการวางแผน เพื่อไม่ให้ผิดพลาด และกลายเป็นภาระผูกพันที่ยาวนาน ซึ่งการวางแผนเหล่านี้ ก็สามารถปรึกษาได้ที่ธนาคารใกล้บ้านท่านทุกสาขา หรือ นักวางแผนทางการเงินที่มีความรู้ความสามารถเฉพาะทาง
หากไม่มีใครร่วมวางแผนแล้ว Money Avengers ก็ยินดีรับปรึกษาทุกรายไป เพื่อสร้างพอร์ทการลงทุน วางแผนเกษียณอายุ อย่างมีคุณภาพและตรงโจทย์ของทุกๆท่าน
ติดตาม Tips การเงิน การลงทุนได้ที่ : Money Avengers
บทความนี้เรียบเรียงขึ้นโดย ทีมงานเพจ Mover
mover.in.th@gmail.com