KLANK Project ลำโพงที่ออกแบบผ่าน Lifestyle

 

เป็นโอกาสอันดีของเราในครั้งนี้ที่ได้คุณวริน ธนทวี แห่ง Cor Design หนึ่งในผู้ริเริ่ม Klank Project มาสัมภาษณ์เพื่อเปิดมุมมองได้การดีไซน์ กับโปรดักซ์สุดน่าสนใจ KLANK ลำโพงที่ผ่านการออกแบบมาอย่างพิถีพิถัน แถมยังดังไกลถึงต่างประเทศ รับรองว่าเมื่ออ่านจบหลายๆคนคงได้ไอเดียไปใช้กับโปรดักซ์ของตัวเองแน่นอน

MOVER : ตอนนี้คุณวรินมีผลงานหรือกำลังทำโปรเจ็คอะไรอยู่บ้างครับ

วริน : ผมทำงานด้านออกแบบด้านผลิตภัณฑ์เป็นหลักครับ ทำตั้งแต่ในเรื่องของการหาข้อมูล รีเสิร์ชแนวทางที่เราจะออกแบบ จนออกมาเป็นผลิตภัณฑ์ที่พร้อมออกสู่ตลาด มีบริษัท Cor Design ที่ผมทำมาได้ 2 ปีแล้วครับ จริงๆตั้งแต่เรียนจบด้านออกแบบผลิตภัณฑ์ ผมก็ได้สะสมประสบการณ์ทำงานในด้าน Consumer electronic product ให้กับแบรนด์ชั้นนำทั้งในประเทศ และต่างประเทศ ซึ่งไม่ใช่แค่ดีไซน์หน้าตาของผลิตภัณฑ์ แต่ผมได้มีโอกาสศึกษาตั้งแต่การทำ Branding, Product Design, Visual communication คือการทำสื่อนำเสนอผลิตภัณฑ์ให้สอดคล้องกับภาพลักษณ์ไปด้วย ถือว่าเป็นอีกมิติหนึ่งของงานออกแบบที่คนอาจจะยังมองข้ามไป

MOVER :  แนวคิดการทำงานออกแบบของคุณวรินมักจะเป็นไปในทิศทางไหนครับ

วริน : Design Creative and Solutions ครับ คือออกแบบยังไงให้เราใช้ชีวิตได้ดีขึ้น  สมาร์ทยิ่งขึ้น และงานดีไซน์นั้นสามารถแก้ปัญหาตามโจทย์ที่วางไว้ ใช้การออกแบบแก้ปัญหาที่เจอ ทั้งปัญหาในเรื่องสไตล์ เรื่องการผลิต เรื่องต้นทุน กระบวนการให้ได้มาซึ่งผลิตภัณฑ์ 1 ชิ้น เราจะเจอปัญหามากมาย อยู่ที่ว่าสุดท้ายเราเอาหลายๆปัญหามารวมกันจนเราลากเส้นเป็นจุดๆเดียว แล้วนำการออกแบบไปแก้ปัญหาเล่านั้นเรื่อยมาตั้งแต่กระบวนการผลิต จนมาจบงานในขั้น Working Prototype คือต้นแบบที่ใช้งานได้จริง

MOVER : พูดถึง Klank Project หน่อยครับ ว่ามีจุดเริ่มต้นหรือแนวคิดอย่างไรบ้าง

วริน : พอดีมีดีไซน์เนอร์ชาวเบลเยี่ยมคนหนึ่งมาฝึกงานกับบริษัท ก็เลยมีไอเดียทำ internal project เป็น bluetooth speaker กัน เราก็เลยค่อยๆพัฒนาไอเดียกัน ตั้งแต่สเก็ตแบบหาแนวทางเป็น Direction ว่าเราทำแบบนี้แหละ เป็นลำโพงที่เราสามารถใช้งานร่วมกับสมาร์ทโฟน แท็บเล็ต iPad และมีดีไซน์ที่สามารถเป็นของแต่งบ้านได้ด้วย พอชัดเจนแบบนี้ ทำให้เราไม่ต้องไปแข่งกับแบรนด์ใหญ่ๆ เพราะเราชัดเจนว่าเราขายความเป็น Smart Life

MOVER : แล้วทำไมถึงชื่อว่า Klank สื่อความหมายอะไรหรือเปล่า

วริน : ครับ ตรงตัวเลย Klank แปลว่า เสียง เป็นคำในภาษาดัตช์ ซึ่งตอนเราทำโปรเจ็คร่วมกันเรา เราก็ถามสเตฟานว่าคำว่าซาวน์ในภาษาดัตช์เขาเรียกว่าอะไร ซึ่งก็เจอคำว่า Klank รู้สึกว่ามันฟังติดหูง่ายดี และเท่ด้วย สื่อให้เห็นความเป็น Sound + Design เช่นเดียวกับคอปเซ็ปต์การออกแบบที่นำมาใช้กับแบรนด์เสมอ ก็คือออกแบบยังไงให้มันสมาร์ท และสามารถแก้ปัญหา เรื่องสไตล์ เรื่องต้นทุน

MOVER : พอมาถึงขั้นตอนการผลิต มันดูเป็นอีกสเต็ปของงานออกแบบอื่นๆ เพราะมีเรื่องเทคโนโลยีเครื่องเสียงเข้ามาเกี่ยวข้องด้วย

วริน : พอเสร็จขั้นตอนการสเก็ตแบบ ก็โชคดีที่เราได้เป็นพาร์ทเนอร์มาร่วมทุน และยังให้อิสระในการทำงานกับเราอยู่ โดยจะเข้ามาช่วยดูแลภาพรวมและธุรกิจ ภายใต้บริษัท โนโมโน จำกัด (Nomono Co., Ltd.)  ประกอบไปด้วย วริน ธนทวี,ชีวิน ศิริศักดิ์, ธิติพันธุ์ อนะวัชพงษ์ และศรัณย์ เกียรติเมธา ครับ ก็ทำให้สามารถลุยงานการผลิตไปได้อย่างราบรื่น โดยนำแบบของเรา ไปพัฒนาร่วมกับบริษํทพาร์ตเนอร์ทางด้าน engineer และ production ที่ฮ่องกง และมีโรงงานการผลิตอยู่ที่ประเทศจีน ซึ่งจีนเองก็มีเทคโนโลยีที่มีคุณภาพและซับซ้อนมากกว่าในไทย เช่น โทรศัพท์มือถือ จากจีนก็ถือว่าดีนะครับ มีหลายแบรนด์ที่ได้คุณภาพไม่น้อยหน้าไปกว่าเกาหลีใต้หรือญี่ปุ่นเลย และเขาพร้อมจะผลิตตามดีไซน์เนอร์ในแบบที่ดีไซน์เนอร์อยากได้ บางทีเราอย่างลองวัสดุใหม่ๆแปลกๆเขาก็พร้อมที่จะลองดู ทำให้กระบวนการทำงานในขั้นตอนนี้สนุกและท้าทายมากครับ

MOVER : ระหว่างฟังก์ชั่นการเป็นของตกแต่งบ้าน กับลำโพงเราเน้นหนักไปทางไหนมากกว่ากัน

วริน : ควบคู่กันเลยครับ คือเรารู้ว่าเราไปชนตลาดกับตลาดลำโพงเจ้าใหญ่ๆไม่ได้ในแง่ของความคมชัดของเสียง เลยไม่ได้วางตัวว่าเป็นเครื่องเสียง เราเลยหันไปโฟกัสที่กลุ่มคนที่ชอบฟังเพลงแต่ไม่ได้เน้นเรื่องเสียง 100% ยังอยากได้ดีไซน์ที่ดูดีด้วย แล้วที่ผ่านมาก็เห็นลำโพงหลายๆรุ่นที่เสียงดีนะ แต่พอมาวางในบ้านแล้วมันดูแปลกแยก ไม่สามารถกลมกลืนไปการตกแต่งของบ้าน หรือห้องๆนั้นได้ ผมเชื่อว่ามีคนจำนวนไม่น้อยเลยที่อยากได้ลำโพงที่วางในบ้านแล้ว เข้ากับการตกแต่งสไตล์โมเดิร์นได้อย่างลงตัวและดูมีราคามีคุณค่า ซึ่งเป็นที่มาในการเลือกใช้วัสดุด้วยครับ ทั้งอะลูมิเนียมและผ้า

MOVER :  สิ่งเหล่านี้คือผ่านการหาข้อมูลมาทั้งหมด?

วริน : ครับ ดีที่ตอนเริ่มโปรเจ็คนี้มันไม่ได้มีเดดไลน์ เราเลยจะค่อยๆทำค่อยๆศึกษากันไป ซึ่งขั้นตอนนี้ก็เป็นอีกขั้นตอนที่สนุก เพราะเราได้ศึกษาผลิตภัณฑ์ลำโพงทั่วโลกเลย นำทุกแบรนด์มาวิเคราะห์ว่ามีจุดไหนที่ดี จุดไหนที่ควรปรับ แต่ถ้าเป็นงานที่มีเดดไลน์เราจะมีข้อจำกัด เช่น เรามีเวลารีเสิร์ชแค่อาทิตย์เดียวมันก็อาจจะไม่ได้ข้อมูลที่ครอบคลุมทุกปัญหาเท่าไหร่นัก

MOVER : ในประเด็นของการทำรีเสิร์ช บางทีเป็นจุดที่นักออกแบบอาจมองข้ามไป คุณวรินช่วยแนะนำได้มั้ยครับว่าควรให้น้ำหนักในขั้นตอนนี้มากน้อยแค่ไหน

วริน : ก่อนอื่นก็ต้องรู้ว่าแบรนด์ที่อยู่ในกลุ่มเดียวกับผลิตภัณฑ์ของเราแบรนด์ไหนมีอะไร เราก็ต้องดีไซน์ไม่ให้ไปคล้ายเขา หรือถ้าจะพูดกันถึงเรื่องแนวทางการออกแบบมันก็มีอยู่ 2 เรื่องหลักๆ คือเรื่องหนึ่งเราต้องเข้าใจกลุ่มเป้าหมาย ไม่ใช่แค่เรื่องอายุเท่าไหร่ อาชีพอะไร รายได้เท่าไหร่ แต่เราต้องรู้ไปถึงไลฟ์สไตล์ของเขา  ของใช้ของเขาเป็นยังไง แต่งตัวแบบไหน มีแนวคิดต่อสังคมยังไง เรื่องต่อมาคือเรื่องตลาด การทำ Visual Mapping และ Positioning ของโปรดักซ์ ทำออกมาแล้ว มันจะอยู่ในมุมไหนเมื่อเทียบกับแบรนด์คู่แข่ง และอีกเรื่องที่เสริมเข้ามาแต่มีส่วนสำคัญในการออกแบบก็คือเรื่องเทรนด์ อิทธิพลต่างๆที่อาจจะมาเกี่ยวข้องวัสดุหรือฟอร์มซึ่งส่งผลในการตัดสินใจ อย่างในกรณีของ Klank เราดีไซน์จนออกมาได้เป็นไดเร็กชั่น 3 แนวทาง การออกแบบแต่ละครั้ง อย่างน้อยๆผมต้องมี 3แนวทางมาเลือกกันอีกที เพื่อให้ได้สิ่งที่ดีที่สุด

เราต้องเข้าใจกลุ่มเป้าหมาย ไม่ใช่แค่เรื่องอายุเท่าไหร่ อาชีพอะไร รายได้เท่าไหร่ แต่เราต้องรู้ไปถึงไลฟ์สไตล์ของเขา  ของใช้ของเขาเป็นยังไง แต่งตัวแบบไหน มีแนวคิดต่อสังคมยังไง

MOVER : เราสังเกตว่างานที่รู้จักในสายงานประกวด มักจะยังไม่เป็นที่รู้จักในแง่งานขาย

วริน : ก็คงจะมีบ้างที่เป็นอย่างนั้นครับ แต่สำหรับ Klank ผมมีประสบการณ์มาก่อนในการออกแบบงานที่ Mass มากๆ (อาทิ โทรศัพท์มือถือ) ขายทีเป็นหลักหมื่นหลักแสน บางตัวก็เป็นหลักล้าน ซึ่งผมก็เอาวิธีคิดแบบนั้นมาใช้ด้วยนะ คือจะทำยังไงให้มันเป็นโปรดักซ์ที่ทำเงินได้ แต่ตอนนี้เราแค่ไม่ใช่ผู้ประกอบการรายใหญ่ที่จะผลิตอะไรได้ Mass ขนาดนั้น วางขายได้ห้างทุกห้างก็คงไม่ใช่ พอเราผลิตได้น้อยต้นทุนเราก็สูงขึ้น เราเลยต้องหันมาคิดว่าจะทำยังไงให้ผู้บริโภครู้สึกคุ้มที่จะจ่ายไปแทน มันก็เกิดการคัดกรองกลุ่มผู้บริโภคระดับหนึ่ง กลายเป็นตลาดเฉพาะ โจทย์ของเราเลยต้องทำยังไงให้กลุ่มลูกค้าของเราชอบเรามากที่สุด ผมยกตัวอย่างง่ายๆก็ได้ แค่ถ้าเราเปลี่ยนผ้าออกเป็นตะแกรงเหล็กแบบทั่วไปฟีลลิ่งมันก็จะเปลี่ยนล่ะ ต้นทุนลดลงอาจทำให้ขายได้มากขึ้น แต่มันก็จะหลุดตัวตนของเรา ฉะนั้นทำตามแนวทางของเราแล้วขายให้ได้ครอบคลุมกลุ่มลูกค้า ผมว่าแค่นี้มันก็เป็นการขายที่ประสบความสำเร็จในมุมของมันแล้วครับ

MOVER : ล่าสุดมีไปออกงานแสดงที่เกาหลีใต้ ช่วยเล่าให้เราฟังหน่อยครับว่าไปได้อย่างไร และในงานเป็นอย่างไรบ้าง

วริน : พอดีกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศเขามีโครงการ Talent Thai เราก็เอา Klank ไปเข้าร่วมด้วย งานแรกก็ออกงาน  BIG+BIH 2015 ในไทยก่อน แล้วเดือนต่อมาก็มีงาน Design Business Fair 2015 ที่โซล เกาหลีใต้ นอกจาก Klank ก็มีแบรนด์ไทยไปอี ก 4 แบรนด์ ลักษณะก็จะคล้ายๆงาน  BIG+BIH ของไทย คือมีเจรจาการค้าและจัดแสดงผลงาน ภายในงานก็มีงานน่าสนใจเยอะมาก โดยเฉพาะงานสายอิเล็คทรอนิค อย่างที่รู้กันว่าเกาหลีเขาเก่งเรื่องนี้มาก เพราะเขาเป็นต้นตำรับทั้ง Samsung ,LG ซึ่งใช้กันทั่วโลก

MOVER : มีต่างชาติเข้ามาสนใจพูดคุยกับเราบ้างไหมครับ

วริน : มีครับ เขาสนใจผลงานของเราอยากที่จะเอาไปขาย ก็อยู่ในขั้นตอนที่คุยๆตกลงกันอยู่  ซึ่งผมก็แปลกใจนิดนึงเพราะว่างานแนวนี้ถ้ามันอยู่ในเมืองไทยแล้วบอกว่าคนไทยออกแบบ ก็อาจจะยังไม่ค่อยมั่นใจ เพราะเราก็ไม่ใช่แบรนด์ใหญ่อะไร แต่พอไปอยู่ที่นู้น เหมือนคนบ้านเขาจะเก่งเรื่องนี้อยู่แล้วและมีความรู้ด้านอิเล็คทรอนิค ทำให้เขาให้ความสนใจเยอะ และดูทุกรายละเอียด อย่างตัวแท่นวางแท็บแล็ต อะไรพวกนี้มันยังไม่มีมาก่อน เขาก็ชอบตรงนี้กัน คนก็เข้ามาเล่นเยอะ คือด้วยตัวดีไซน์มันสามารถดึงดูดให้คนเข้ามาชมได้ ก็เป็นฟีดแบ็คที่ดีครับ

MOVER :  ตอนนี่โปรดักซ์ถือว่าอยู่ตัวหรือยัง? อยากพัฒนาอะไรอีกไหมครับ

วริน : จริงๆก็อยากพัฒนาตัวต่อไปที่ให้มันต่อยอดไปอีก แต่เป็นอีกโปรดักซ์หนึ่งไปเลย เพราะว่าตัวนี้มันจบของมันแล้ว มันทำหน้าที่ของมันดีแล้ว ทั้งเรื่องดีไซน์ ทั้งเรื่องระบบมันดีของมันแล้ว เราก็โอเคกับมันแล้วครับ ตอนนี้ห่วงเรื่องการผลิตเพิ่มมากกว่า เพราะด้วยดีไซน์ของมันผมว่าสามารถเข้าไปขายในตลาดยุโรปและอเมริกาได้ จริงๆก็มีคนสนใจที่จะนำไปขายที่อเมริกาเข้ามาแล้วด้วย แต่ก็ยังอยากรอให้พร้อมกว่านี้อีกหน่อยครับ รวมทั้งเรื่องยอดในการผลิตด้วย เพราะล็อตแรกไม่ได้ผลิตมาเยอะ

MOVER : คุณวรินมีแนวคิดอย่างไรกับช่องทางการขายออนไลน์บ้างครับ

วริน : จริงๆก็ดีครับเป็นช่องทางที่คนสามารถเข้าถึงได้ง่าย แต่บางทีมันเป็นข้อจำกัดเล็กๆน้อยๆของลำโพงมากกว่า เพราะบางคนเขาก็จะอยากฟังเสียงก่อน ถ้าบ้างคนไม่ได้ใส่ใจเรื่องเสียงขนาดนั้น เห็นภาพลักษณ์ก็โอ.เค.ล่ะ ชอบ ก็สั่งออนไลน์เข้ามาก็มีทาง Facebook หรืออีเมลล์มา แต่ก็ยังไม่ได้โปรโมทมากเพราะอย่างที่บอกว่าของอาจจะยังไม่ได้มีจำนวนเยอะมาก

MOVER : ในฐานะนักออกแบบผู้มีประสบการณ์ คุณวรินมีอะไรอยากจะแนะนำน้องๆนักออกแบบรุ่นใหม่ไหมครับ

วริน : ต้องทำการบ้านเยอะๆครับ รีเสิร์ชข้อมูลเยอะๆเลย เพราะไม่ว่าน้องๆจะทำโปรดักซ์ประเภทไหนมันก็ต้องมีคู่แข่งแน่ๆ แต่จะทำยังไงให้เราดีกว่าเขา หรือแบ่งส่วนการตลาดจากเขาได้บ้าง หมั่นพัฒนาตัวเองอยู่เสมอ งานดีไซน์มันเป็นอะไรที่ต้องทำอยู่ตลอด ไม่ใช่จะติสอย่างเดียวแต่มันต้องอินกับการขายด้วย

ช่องทางการติดตาม

Facebook : soundxdesignproject

Website : klankproject.com


บทความนี้เรียบเรียงขึ้นโดย ทีมงาน MOVER

mover.in.th@gmail.com


บทความนี้เรียบเรียงขึ้นโดย ทีมงาน MOVER

mover.in.th@gmail.com