วันนี้ MOVER จะพาทุกคนมาทำความรู้จักกับ “พีท ทสร บุณยเนตร” ครีเอทีฟโฆษณาจาก J. Walter Thompson Bangkok ผู้คว้ารางวัล GOLD จาก Cannes Lions 2018 จากผลงาน Kleenex ‘Tiny Doll’
นับได้ว่าเป็นอีกหนึ่งความภาคภูมิใจของวงการโฆษณาไทยกับการคว้ารางวัล 2 รางวัล Gold และ Silver Lion ในหมวด Health & Wellness จากเวทีเมืองคานส์ จากผลงานโฆษณาชุด Kleenex ‘Tiny Doll’ โดยมี พีท ทสร บุณยเนตร ผู้อยู่เบื้องหลังเป็นครีเอทีฟผลงานชิ้นนี้ นอกจากนี้ พีท ทสร ยังมีอีกผลงานคือ Bronze Lion สาขา Media Lions จากผลงาน “บ้านไม่ใช่เวทีมวย” จาก Cannes Lions 2018 เช่นกัน มาทำความรู้จักกับพีทกันให้มากขึ้น พร้อมกับเรียนรู้ทัศนคติด้านการทำงานของเค้าไปด้วยกัน
#1 | ตอนที่รู้ว่าได้รับรางวัล ตอนนั้นรู้สึกยังไงบ้าง ลองเล่าให้ฟังหน่อย
ตอนที่ได้รางวัล ตอนนั้นเราอยู่ที่บริษัท ซึ่งตอนนั้นเราจะมีการนั่งประชุมกันทุกวันจันทร์กับทีมว่าสัปดาห์นี้มีอะไรน่าสนใจบ้าง ซึ่งสัปดาห์นี้ก็คือ Cannes แล้วเราก็เปิดสไลด์จนก็เพิ่งรู้ว่าได้ Final List เราก็ดูว่าเรามีคู่แข่งเป็นใครบ้าง ? แล้วอยู่ดีๆ ไผ่ ก็เดินเข้ามาบอกว่าเราได้รางวัล เราก็แบบได้รางวัลไรอะไร? เขาก็บอกว่า Gold ซึ่งจุดนั้นเราบอกแบบไม่สนความคูลเลยนะว่าดีใจมาก! ร้องไห้โทรหาแม่กับโทรมาเมียเลย ไม่อยากเชื่อว่าจะได้
#2 | ผลงาน Kleenex ‘Tiny Doll’ นี่คือบรีฟแรกที่ทำในนาม J. Walter Thompson Bangkok แล้วการทำงานบรีฟแรกนี้เป็นยังไงบ้าง ?
ใช่ๆ อาทิตย์แรกที่เริ่มงาน ก็เข้าไปรับบรีฟกะลูกค้าคลีเน็กซ์เลย กับโจทย์ทิชชู่ที่ดีที่สุดตั้งแต่คลีเน็กซ์เคยผลิตมา เราก็เสี้ยนเลย พลังเต็มเปี่ยมมาก (รู้ตัวว่าโดนใช้งานหนักแน่ๆ เลยไปพักมาเต็มที่ก่อนเริ่มงาน) วันนั้นจำได้ว่าลูกค้าใหญ่สุดของทีมเค้าพูดว่า “นอกจากทำให้เราได้ยอดแล้ว งานนี้ทำให้ไอได้รางวัลหน่อย” ผมนี่พลังพลุ่งพล่านเลยครับ โอกาสมาแล้ว ในใจคิดแบบนั้น ไม่ได้คิดว่าจะได้รางวัลรึเปล่า คิดว่างานแบบไหนที่คนอยากดูและตอบโจทย์ของแบรนด์มากกว่า
ทิชชู่มันเป็นที่รู้จักของมนุษย์มาเป็นร้อยๆ ปีแล้ว ถ้าจะเชิงลึกนะ ครั้งแรกที่มีการผลิตกระดาษทิชชู่ที่เช็ดหน้าก็ปี 1924 แบรนด์ที่คิดค้นก็คือคลีเน็กซ์นี่แหละ ลองคิดดูดิว่าโฆษณามาร้อยกว่าปีแล้ว จะยังพูดถึงแค่คุณสมบัติของมันเหมือนเดิมหรอ? ผมเลยพยายามหา social tension ที่ทิชชู่มันสามารถไปเกี่ยวข้องกันได้เช่น LGBT พอไปคุยกับพี่บาสที่เป็นผู้กำกับ เราก็ไปได้ประเด็นการ Bully มา แล้วก็ได้เจอตัวละครที่น่าสนใจคือ คุณริกะ อิชิเกะ เป็น MMA นักสู้หญิงคนแรกขอไทย ที่ตอนเด็กๆ เค้าเป็นเด็กผู้หญิงลูกครึ่งญี่ปุ่นแทนที่จะโดนชมว่าน่ารัก กลับโดนรุ่นพี่แกล้ง ดึงเสื้อ โดนล้อว่า ขี้กลาก อิชิเกะ จนเค้าอยู่แบบนั้นไม่ได้ก็เลยไปเรียนศิลปะป้องกันตัว แล้ววันนึงเขาอินกับมันขึ้นมา จนมาเป็นนักสู้ กระดาษทิชชู่ที่ดีจริงๆ มันควรจะซับเวลาที่หน้าเราอ่อนโยนที่สุด ก็คือเวลาที่มีแผล นี่คือการ Link logic ครับ ผู้หญิงเป็นเพศที่ถูกมองว่าอ่อนโยนกว่าผู้ชาย แต่ในชีวิตผม ผมเจอแต่คนที่แข็งแรงกว่าผมทั้งนั้น ทั้งแม่ทั้งเมีย(ขำแรง) พอได้เรื่องราว ได้สคริปต์มา #gentlenotweak ไลน์นี้จึงเข้ากับหนังเป็นอย่างดี
#3 | ได้คาดหวังรางวัลงานนี้ไว้ตั้งแต่แรกหรือป่าว แล้วกระแสตอบรับที่กลับมาเป็นยังไง ?
เวลาทำงานเราคิดถึงคนดูเป็นหลัก แต่เราใช้มาตรฐานรางวัลระดับโลกเป็นตัวผลักให้ผลงานมันสูงเทียบเคียงฝรั่ง จริงๆ มันเกินคาดกับการที่ได้รางวัล ตอนแรกเราแค่ตั้งใจว่าต้องการให้เป็นงานคลีเน็กซ์ที่ดีที่สุดที่เคยมีมา จริงๆ งานของคลีเน็กซ์เค้าจะเป็น Brand Talk ไม่ค่อยได้เข้าถึงคนดูเท่าไร อาทิตย์แรกที่ลงงานนี้ออกไป เป็นอาทิตย์ที่ไม่มีการซื้อมีเดียเลยซักบาท แต่คอมเมนท์ของคนที่เห็นงานนี้ มันทำให้เราฟินเลย น่าจะเป็นหนึ่งในงานของคลีเน็กซ์ที่คนดูมีการโต้ตอบสื่อสารกับตัวงานมากที่สุดหนึ่งงานเลยก็ว่าได้ ดีใจแทนทีมงานทุกคนที่ทำ ดีใจที่คนชอบริกะและมองริกะเป็นต้นแบบของผู้หญิงที่ต่อสู้การถูก Bully แต่ชนะมันมาได้ เรารู้สึกว่ามันได้ทำหน้าที่ได้มากกว่าทิชชู่ คือเราสู้กับงานชิ้นนี้ตั้งแต่เรื่อง budget เพื่อให้ได้ผู้กำกับคนนี้ นักแสดงคนนี้ สคริปต์นี้ จนได้งานที่ออกมาแล้วไม่ต้องแก้เยอะ จริงๆเราแฮปปี้ตั้งแต่งานมันเสร็จแล้ว แต่พอมันได้รางวัลเหมือนเราได้โบนัส เหมือนรางวัลเป็นโบนัสให้กับคนที่ทำงานทั้งทีมมากกว่า
#4 | อีกผลงานที่ได้รางวัลคือ “Bronze Lions” – Media Lions “บ้านไม่ใช่เวทีมวย” ผลงานนี้เริ่มต้นได้ยังไง การทำงานเป็นยังไงบ้าง
ไอเดียเริ่มต้นของงานนี้ต้องยกเครดิตให้ทีมบอมบ์ จา น้องพิมพ์เพื่อนผม เค้าไปคุยกับมูลนิธิหญิงชายก้าวไกล เรื่องผู้ชายทำร้ายผู้หญิง มูลนิธิเลยโยนโจทย์มา เราก็กลับไปคิด ไปนั่งดูงานย้อนหลัง ก็ไปเจอว่าโฆษณาและการรณรงค์ส่วนมากมักจะพูดกับผู้เสียหาย แต่ไม่พูดกับเหยื่อให้ออกมาสู้เพื่อตัวเอง เลยคิดว่าถ้าพูดตรงๆ คงหยุดเค้าไม่ได้ แต่ถ้าเราหาวิธีขโมยซีนในช่วงเวลาที่คนกำลังเสพกีฬาที่มีความรุนแรงอยู่ แล้วเอาประโยคที่ชัดๆ คำนึงฝังเข้าไปในหัวของเค้าได้เลยก็คงดี เลยไปลองติดต่อสนามมวยเวทีอ้อมน้อย แล้วก็เกิดงานที่เห็นนี่แหละครับ
ซึ่งตอนที่พี่ผู้หญิงเค้าชูป้ายนั้น คนในสนามลุกขึ้นปรบมือให้ เราขนลุกกับสิ่งที่เกิดขึ้น งานที่ออกมามันจริงมาก ไม่ได้ถูกเซตขึ้นมา รวมไปถึงตัวละครพี่ผู้หญิงที่ออกไปชูป้ายไฟ เคสนี้มันเซ้นส์ซิทีฟมากๆ ต้องหาอาสาสมัครที่พร้อมจะเปิดเผยเรื่องราวของตัวเอง ลองคุยมาสองสามคน เราก็เลือกพี่คนนี้เพราะพี่เค้าอยากสู้เพื่อสิทธิสตรีและตัวเค้าเอง สามีเขาเข้าคุกข้อหาทำร้ายร่างกาย เธอโดนแทงทั้งๆ ที่ท้อง โดนเอามีดฟันหัว แต่สามีกลับติดคุกแป๊บเดียวเอง เดี๋ยวก็ออกมาแล้ว มันใช่หรอ? พี่คนนั้นเค้าหวังว่าแคมเปญนี้จะช่วยจัดการคนเลวๆ แบบนั้น ซึ่งเราก็เห็นแบบเดียวกัน
#5 | เนื่องจากกงานนี้เป็นงานรณรงค์ ได้คาดหวังสิ่งที่จะเกิดขึ้นหลังจากงานตัวนี้มั้ย ?
งานนี้เป็นงานที่เสี่ยงงานนึงเลย เรามองว่าการที่พี่ผู้หญิงเขากล้าออกมาพูดในส่วนนี้เขากล้ามาก เราอยากให้เค้าเป็นเคสที่มีคนเห็นและจำได้ว่าเค้าคือใคร จากการที่เห็นงานชิ้นนี้ จากการสัมภาษณ์ต่างๆ พอมีคนจำเค้าได้สามีเค้าที่กำลังจะออกจากคุกในอีกไม่กี่เดือนข้างหน้าจะได้ไม่ไปยุ่งกับเค้าอีก เราเชื่อว่าอย่างน้อยมันจะช่วยอย่างนั้น แล้วเราอยากให้งานนี้มันช่วยทำให้กฏหมายเข้มงวดมากขึ้น เราอยากให้มันอิมแพคกับคน อยากให้งานนี้ออกมาแล้วสามารถช่วยแก้ปัญหาได้ แม้จะช่วยพี่คนนี้ได้คนเดียวมันก็ยังดี
#6 | รู้สึกยังไงที่งานทั้ง 2 งานนี้ออกมาแล้วได้ Inspire สร้าง impact ให้กับคนทั่วไป
ปกติคนทำโฆษณาทุกคน เราว่าจะมีความตั้งใจอย่างนึง คืออยากจะเปลี่ยนสังคม จะไปพึ่งหวังมูลนิธิเรื่อยๆ มันก็แค่นั้น สังเกตจากพี่ต่อ ธนญชัย เขาทำงานหนังโฆษณา เขาจะผูกเรื่องของสังคมทุกเรื่องเพื่อจะพูดออกมาจากงานของเค้า แล้วมองว่าเราห่างกับเค้ามากเราเพิ่งก้าวเข้ามา มันทำให้รู้สึกดีที่ได้ช่วยสังคม ได้เล่าประเด็นบางอย่างกับสังคม มันอาจแก้ปัญหาตรงๆ ไม่ได้หรอก แต่เราได้ support ตรงนั้น เราก็รู้สึกดีแล้ว
#7 | จากงานที่ออกมา จะเรียกได้ว่าชอบทำแต่งานเพื่อสะท้อนสังคมหรือเปล่า?
จริงๆ ถ้าเราคิดจะทำงานนั้นอย่างเดียวมุมมองเราจะแคบมากนะ โจทย์ทุกโจทย์ไม่ใช่ว่ามันต้องแก้ปัญหาเหมือนกัน แค่โจทย์นั้นมันมีสิ่งที่ทำให้เราสามารถได้ดึงเรื่องบางเรื่องมาเล่ามากกว่า เราไม่ได้มองว่ามันสะท้อนสังคม แต่เราสะท้อนรอบด้านมากกว่า วิชาชีพโฆษณา สิ่งที่เราต้องทำก็คือขายของให้ลูกค้าไม่ว่าจะแบรนด์ไหนก็ตาม แต่วิธีมันจะไม่เหมือนกัน แล้วถ้าเราได้มีโอกาสได้ทำ ได้เล่าเรื่องเพื่อสังคมบ้างมันก็จะดีต่อใจเรามาก จริงๆ งานที่เล่าเรื่องสังคมมันก็คือการขายนะ เพียงแค่เราไม่ได้ต้องการเงินจากสิ่งนั้น แต่เราต้องการเป็นคุณค่าของมันมากกว่า
#8 | เคยไปทำงานที่เซี่ยงไฮ้มา ได้ข่าวว่าเป็นช่วงที่เฟลมาก ตอนนั้นเกิดอะไรขึ้นกับชีวิตบ้าง ?
นั่นเป็นอีกหนึ่งเกมส์ที่ยากในชีวิตที่เราเจอ เราอ่อนแอมากจากการไปที่นั่น ตอนที่ตัดสินใจไปทำงานที่เซี่ยงไฮ้ตอนนั้นไปเพราะ 3 เหตุผลเลย ข้อแรกคืออยากพิสูจน์ตัวเองให้ออฟฟิศเก่าเห็นว่าเราไม่ใช่เด็กน้อย เรามีความคิดของเรา เราควรได้รับการโปรโมต ข้อสองคือในวันที่เรารู้สึกแย่สุดๆ ในช่วงเวลาทำงาน อยู่ๆ มีคนมาให้โอกาสเรา ซึ่งบริษัทที่มาติดต่อเรานั้นเขาก็มีสองครีเอทีฟในตำนานอยู่ อันนี้ก็ยิ่งฟินเข้าไปใหญ่ ข้อที่สามก็เพราะคุณแม่นี่แหละ
ส่วนเรื่องเฟลๆ ในเซี่ยงไฮ้นั้น เราว่ามันเป็นเพราะว่าที่นี่นิยาม คำว่า “งานดี” ต่างกับครีเอทีฟในไทย การที่พูดว่า “งานดี” มันเป็น Business Game ไม่ใช่ Cannes Award, D&AD หรือ The Best Creative Idea เกมส์ ซึ่งเราตัดสินใจไปเพราะอย่างหลัง ไม่ใช่อย่างแรก ก็เลยเฟลมากๆ อาจจะมีอาการซึมเศร้าเล็กๆ ด้วยซ้ำมันเป็นจุดที่เราเจ็บใจมาก จนเราสามรถเลิกบุหรี่ได้เพราะเราอยากได้รางวัลจากการทำงาน แต่เพราะมันไม่ได้จากการทำงานแน่นอน การเลิกบุหรี่นี่แหละเป็นอีกรางวัลจากการมาทำงาน ถือว่าเป็นการทำอะไรบางอย่างให้กับตัวเอง แต่พอกลับมาก็เพิ่งรู้ว่าได้รางวัลจากงานที่นั่นเหมือนกัน เป็นรางวัล Bronze Lion เกี่ยวกับด้าน Marketing แต่ว่าการเลิกบุหรี่มันยากกว่าเราเลยภูมิใจมากกว่า(หัวเราะ) เราเลิกบุหรี่ได้ตั้งแต่ปีแรก แล้วปีที่ 2 ช่วงนั้นเครียดมาก เราก็ต้องหาวิธีคลายเครียดไม่ว่าจะออกกำลังกายหรือเล่นดนตรี เราเล่นดนตรีจนทำเพลงของตัวเองออกมา 1 อัลบัม
เราใช้มันเป็นจุดผ่อนคลาย แต่การทำงานเรายังเต็มที่กับเราเหมือนเดิม จริงๆ ตอนนั้นเราก็อ่อนแอนะ แล้วก็คือตัวเราเองนี่แหละ ที่ผลักดันตัวเองขึ้นมาจากการไปอยู่เซี่ยงไฮ้ ถ้าไม่มีมันก็ไม่น่าจะมีวันนี้ เราไปเจอสิ่งที่ไม่ชอบแต่ก็ได้เรียนรู้ไปกับมัน เหมือนเราเจอเกมส์ที่ยากที่สุดแล้ว เจอเกมส์อื่นเราก็เลยไม่รู้สึกยากเลย เราเติบโตจากงานนั้นทำให้เราเป็น นาย พีท ทสร จนวันนี้
#9 | จากการเจอสิ่งที่ผิดหวังมาเคยอ่อนแอ หรือหมดแรงที่จะทำงานโฆษณาบ้างไหม ?
เราไม่เคยที่จะหยุดทำงานนี้นะ แต่คิดว่าแต่ละที่มันเหมาะกับเราหรือป่าว ซึ่งตอนที่เราตัดสินใจย้ายกลับมาอยู่ไทย กลับมาอยู่ที่ JWT ทั้งๆ ที่ตอนนั้นมีทางเลือกคือย้ายกลับมาไทย ไปบริษัทใหม่ที่ฮ่องกง หรืออยู่ที่เดิมเพื่อเลื่อนตำแหน่ง แต่เราเลือกกลับมาไทย กลับมาทำงานต่อที่ไทย เลือกที่ที่เหมาะสมกับเรามากที่สุดดีกว่า เพราะเราไม่คิดจะหยุดทำงานด้านนี้อยู่แล้ว จริงๆ เราเปนคนที่ค่อนข้างอ่อนแอ ไม่ได้แข็งแรงขนาดนั้น แต่ในชีวิตนึงเราต้องมีสิ่งนึงแหละที่เรารู้สึกเก่งและจะเอากับมันจริงๆ แม้ว่าเรื่องอื่นเราจะห่วย งานโฆษณานี่แหละคือจุดนั้นของเรา จุดที่เราเข้มแข็ง มันไม่มีคำว่าอ่อนแอในระยะยาวแน่ๆ บางทีเราอาจจะรู้สึกแย่ เพราะปัจจัยภายนอก หรือเรื่องงานมันต้องมีแน่ๆ แต่งานที่จะออกมาดีได้คือมันต้องผ่านความอ่อนแอมาหมด ผ่านหลายกระบวนการเพื่อทำให้งานนั้นเข้มแข็งก่อนจะออกมาสมบูรณ์ มันไม่มีงานไหนง่ายหรอก มันอยู่ที่ว่าเราจะเอาจริงกับมันหรือป่าว
#10 | อะไรที่ทำให้เข้มแข็งยังสู้ต่อ ใครคือแรงผลักดันให้ออกมาจากความอ่อนแอ
ผมได้กำลังใจที่ดีจากแม่และแฟนผม ทุกวันผมจะโทร Wechat Video กับแฟนแล้วก็เล่าเรื่องงานกับสิ่งที่เกิดขึ้นให้เค้าฟัง เล่าถึงปัญหา ปรึกษาวิธีแก้ปัญหา พอได้พูดออกมา มันก็ช่วยบรรเทาความเครียดเหมือนแฟนผมเป็นยาดมเวอร์ชั่น Wifi ให้กับผมเลย แต่ทีเด็ดจริงๆ คือแฟนผมเป็นคนไม่ compromise นี่แหละ เค้าพร้อมจะมอบยาแรงฉีดใส่ผมได้โดยไม่ต้องเกรงใจ นั่นแหละทำให้ผมออกจากความอ่อนแอได้
#11 | คิดว่าตัวเองเป็นคนบ้างานมากขนาดไหน ?
เราเป็นคนบ้างานมาก เราพูดกับตัวเองทุกวันว่า งานต้องดีได้มากกว่านี้ มีคนเคยถามเราว่า มึงเคยหยุดคิดงานบ้างมั้ย? เราก็เคยลองหยุดนะ เสาร์อาทิตย์ เพราะเคยกลัวว่าจะไม่มีชีวิตเป็นของตัวเอง จริงๆ เราเป็นคนที่เบื่ออะไรง่ายมาก เราเคยซื้อกล้องมาแล้วก็เล่นมันได้สักพักก็เบื่อมันตายไปจากเรา แต่งานโฆษณาเราไม่เคยเบื่อมัน มันไม่เคยหายไปจากเรา เราไม่ได้มองว่ามันเป็นงาน แต่มันคือสิ่งที่เราชอบไปแล้ว เราชอบดูงานคิดงานตลอด ยิ่งมีคนที่ทำงานดีๆ ออกมา เรายิ่งอยากทำงานของเราออกมาให้ดีมากขึ้น
#12 | การเดินทางในงานสายโฆษณา อะไรคือแรงผลักดัน ได้แนวคิดมาจากใคร ?
คนที่มีอิทธิพลกับเรามาตั้งแต่เด็กก็คือ แม่ เราได้เค้ามาหมด การพูด แนวคิด เราได้เค้ามาโดยไม่รู้ตัว ซึ่งแม่เราก็เป็นครีเอทีฟโฆษณาเหมือนกัน เขาชอบเอางานกลับมาทำที่บ้าน เด็กคนอื่นอาจจะดูงานทีวี แต่เราจะดู shots เป็นเทปที่รวบรวมหนังโฆษณาจากทั่วทุกมุมโลก เรายังจำงานโฆษณาในนั้นได้เลย ก็เลยมีความคิดว่าอยากทำงานโฆษณาที่อยู่ในนั้น แล้วก็มีอีกคือ จากหนังสือ Lürzer’s Archive ที่รวบรวมงานโฆษณาทั่วโลก แล้วเราไปเปิดเจองานขอแม่ตัวเองในนั้น ซึ่งก้เป็นอีกหนึ่งอย่างที่ทำให้เราอยากทำงานได้แบบนั้น ตอนที่เราเข้ามาทำงานโฆษณาเค้าก็ไม่เชื่อว่าเราจะทำงานสายนี้ เขาไม่เคยบอกเราว่าเค้าภูมิใจกับเรา แต่เขาจะชอบพูดกับเพื่อนเสมอแล้วเพื่อนเขาก็จะมาบอกเราอีกที
#13 | มองวิชาชีพโฆษณาว่าเป็นยังไง ?
หลายคนชอบมองว่า อาชีพนี้เป็นอาชีพคูลๆ ฮิปเตอร์ เราว่าอาชีพนี้มันคือวิชาชีพจริงๆ ไม่ใช่ว่าจะมาเท่ๆ คุณต้องมีวินัย ทำการบ้าน วิเคราะโจทย์ คุณต้องนั่งดูโฆษณาทุกวันเพื่อศึกษา case study คุณต้องเข้าใจปัญหาว่าแต่ละแบรนด์มีปัญหาแบบไหน แล้วมันเคยเกิดปัญหานี้เคยแก้ด้วยวิธีไหน แล้วเราไม่ต้องแก้แบบเค้าเราแก้ในแบบของเรา ดูงานเยอะๆเพื่อศึกษาไม่ใช่การเอาเรฟมาใช้ การที่เราให้งานน้องไปดูงานมาเยอะๆ เราไม่ได้ต้องการให้ดูเฉยๆ เราให้ดูศึกษาและเข้าใจมัน
#14 | มีความคิดยังไงกับ #อ่อนโยนแต่ไม่อ่อนแอ
อ่อนโยนแต่ไม่อ่อนแอ มันเหมือนกับฟ้าหลังฝนที่มันสวยงามเสมอ ตามหลักศาสนาพุทธ ไม่ว่าเราเจอปัญหาอะไรเรามีสิทธิที่จะรู้สึกเสียใจ เวลาเจอสิ่งดีๆ เราก็มีสิทธิที่รู้สึกดีใจ เราต้องรู้ว่า ดีใจ เสียใจ มันเป็นยังไงแล้วเก็บภาวะนั้นไว้เพื่อให้เราเรียนรู้กับตัวเอง เราไม่ต้องดำดิ่งไปกับความรู้สึกนั้น การแก้ปัญหาที่ดีที่สุดคือแก้ที่ตัวเอง เราไม่ต้องเปลี่ยนทุกอย่าง เราแค่เปลี่ยนความคิดเรา เวลาเราอ่อนแอเราก็รู้จักมันไว้ แต่ไม่ต้องไปยึดติดกับมัน เมื่อเรารู้จักมันเราจะเข้าใจและปล่อยวางมัน