บทสัมภาษณ์: ‘คุณศักดิ์ชัย กาย’ หนึ่งในสามภัณฑารักษ์ผู้จัดนิทรรศการ พระราชาในดวงใจ

นิทรรศการ พระราชาในดวงใจ เป็นส่วนหนึ่งของโครงการ “น้อมรำลึกองค์อัครศิลปิน” ที่จัดแสดงผลงานพระบรมฉายาลักษณ์หาดูยากจากเหล่านักรวบรวมวัตถุสะสมอันเกี่ยวข้องกับพระบาทสมเด็จพระปรมินทรภูมิพลอดุลยเดช ในห้องแห่งแรงบันดาลใจ ณ บริเวณชั้น 8 หอศิลปวัฒนธรรมกรุงเทพมหานคร (BACC)

จากห้องแห่งแรงบันดาลใจเล็ก ๆ สู่การเป็นห้องจัดนิทรรศการให้ประชาชนคนไทยได้เข้าชมเหล่าภาพหายากและวัตถุสะสมอื่น ๆ Mover มีโอกาสได้พูดคุยกับหนึ่งในสามภัณฑารักษ์ผู้จัดงานครั้งนี้ ‘คุณศักดิ์ชัย กาย’ บรรณาธิการและผู้ก่อตั้งนิตยสาร LIPS ผู้ร้อยเรียงภาพหายากของเหล่านักสะสมมาให้ทุกคนมีได้สัมผัสที่ห้องโถงรูปวงรีสีน้ำเงิน Royal Blue และอีกสองภัณฑารักษ์ที่ร่วมจัดนิทรรศการนี้ ได้แก่ ศ.ดร.อภินันท์ โปษยานนท์ และ คุณธวัชชัย สมคง

อะไรเป็นจุดเริ่มต้นและแรงผลักดันให้เกิดการจัดนิทรรศการครั้งนี้

“ผมคิดจะทำนิทรรศการถวายพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ ๙ เพื่อต่อยอดในสิ่งที่ผมคิด ทำให้คนได้เห็นเยอะ ๆ ตอนแรกเราก็อาย ๆ เพราะเราไม่ได้คิดว่าเราจะทำเป็นเรื่องเป็นราวขนาดนั้น เพราะห้องนั้นเป็นส่วนตัวของเราเพื่อใช้งานเฉพาะกิจ มันไม่ได้ตั้งใจจริง ๆ แต่ว่าจากจุดนั้น ห้องของผมคือห้องแห่งแรงบันดาลใจนั้น กลายมาเป็น “ห้องหมายเลข ๙” ที่นี่ นั่นคือจุดเริ่มต้น”

คอนเซ็ปต์ของการจัดนิทรรศการนี้คืออะไร

“ผมเป็นคนถ้าทำจริง ๆ ผมทำเกินร้อย เราไม่อยากให้เรียกความท้าทาย ถ้าเราจะต้องทำอะไรที่เกี่ยวกับในหลวงรัชกาลที่ ๙ ผมก็คิดว่าทุกคนคิดว่ามันเป็นเรื่องสำคัญ ผมว่าเป็นลักษณะของแรงบันดาลใจมากกว่า เหมือนเราอยากทำให้เพื่อน ๆ คนไทยเขาได้เห็นว่าแรงบันดาลใจจากการใช้พระบรมฉายาลักษณ์มีพลังแฝงที่เรานึกไม่ถึง ผมก็เลยคิดว่าถ้าเราสามารถทำห้องแห่งแรงบันดาลใจเล็ก ๆ ของเราเหล่านั้นให้มันเกิดเป็นแรงบันดาลใจมันน่าจะดีนะ นั่นแหละคือคอนเซ็ปต์”

“เนื่องจากว่าผมไม่อยากให้คนที่เข้ามาในห้องนี้แล้วมีความรู้สึกในเรื่องของมูลค่าหรือขนาด ใคร ๆ ก็คิดจะทำอะไรที่มันยิ่งใหญ่ ใหญ่โต มากมาย ผมอยากให้เห็น “คุณค่า”​ มากกว่า “มูลค่า” เราอยากจะให้สิ่งที่เราทำเป็นพลังบวก ไม่อยากให้ใครเข้ามาแล้วรู้สึกว่ามันยิ่งใหญ่ เอาเข้าจริง ๆ มันไม่ได้มีเซนส์ของการทุ่มเทที่ยิ่งใหญ่ขนาดนั้น แต่พลังที่มันเกิดขึ้นมันเกิดจากคอนเซ็ปต์ที่เป็นคุณค่าของสิ่งที่เราทำมากกว่า เช่น คุณมองรอบ ๆ ตัวคุณ มันเป็นพลังของพระบรมฉายาลักษณ์ที่มีอยู่จริง”

ทำไมถึงเลือกสร้างห้องสีน้ำเงินนี้ขึ้นมาไว้ในห้องจัดนิทรรศการ

“เราเป็นคนทำงานแล้วเราเรื่องมาก ค่อนข้างพิถีพิถัน เราทำอะไรเราต้องควบคุมสิ่งที่เราทำให้ได้ ถ้ามาที่นี่แล้วมันควบคุมไม่ได้ มันกลัวว่าเราจะสร้างปัญหาให้ทางศูนย์ กลัวงานเขาเสียหาย ก็เลยแบ่งรับแบ่งสู้ว่าผมขอไปดูห้อง พอมาถึงเราก็ตกใจเพราะมันใหญ่ ในใจเรารู้ว่าพระบรมฉายาลักษณ์ส่วนมากจะมีขนาดเล็ก คอนเซ็ปต์แรกที่สุดเลยก็คือ เราพยายามจะรวบรวมภาพที่เป็นออริจินัลไว้ ซึ่งภาพออริจินัลไม่มีภาพใหญ่หรอก เราก็เลยคิดว่าเราจะทำยังไง แล้วก็ทราบว่ามีงานจิตรกรรมอยู่ภายนอกด้วย มันไปด้วยกันค่อนข้างยากในแง่ของการจัดวาง อย่างเดียวที่มันจะรอดคือต้องมีห้อง เลยไปเสนอในที่ประชุมว่าผมขอมีห้องของผมเองได้ไหม”

ดูเหมือนเป็นการเล่าเรื่องในรูปแบบของนิตยสาร

“ตอนผมมาดูสถานที่ ผมมีภาพในใจเร็วมากว่าผมต้องทำห้องแน่ ๆ ท่ามกลางความเศร้าโศกเสียใจของประชาชนทั้งประเทศ แล้วเราจะทำยังไงให้ท่ามกลางความเศร้าโศกเสียใจนี้มันเกิดพลังบวกขึ้นมาได้ ผมก็เลยคิดว่าการที่เราเป็นคนทำหนังสือ เราอาจจะได้เปรียบในเรื่องของการเล่าเรื่อง ในเมื่อเราเล่าเรื่องภาพถ่ายของในหลวงรัชกาลที่ ๙ ภาพถ่ายมันก็คือกล้อง การเล่าเรื่องก็คือบอกผ่านหนังสือ ก็เลยคิดแบบนี้ว่า เราจะต้องจำลองห้องขึ้นมาเป็นห้องสมุด ซึ่งเป็นทั้ง library และเป็นทั้ง gallery แล้วก็จะต้องบอกด้วยคอนเทนต์ที่มันเข้าใจง่าย ไม่ต้องตีความอะไรมากมาย คนเข้ามาแล้วต้องเข้าใจเลย”

“คอนเซ็ปต์ต่อมาของผมคือผมต้องการห้องที่มันไม่มีเหลี่ยมไม่มีมุม มองไปที่ไหนมันก็ไม่มีเหลี่ยมไม่มี obstraction เลย เป็นวงรีด้วย เพราะในทุก ๆ ฝีเก้า คุณเดินไปไหนคุณก็จะเห็นว่าในหลวงท่านทรงทอดพระเนตรเราอยู่ ประมาณว่าห้องนี้เป็นดั่งสายพระเนตร เป็นดวงตา เป็นวงรี และในดวงตาจะมีตรงกลางซึ่งเป็นหมายเลข ๙ อยู่ตรงกลางด้วย นี่คือสายพระเนตรแห่งพระเมตตาของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช รัชกาลที่ ๙ ในทุก ๆ ฝีเก้าที่คุณเดินในห้องนี้ ก็เหมือนกับในทุก ๆ วันที่คุณมีชีวิตอยู่ คุณจะมีความรู้สึกว่าท่านไม่ได้จากเราไปไหน ไม่ว่าท่านจะประทับอยู่ที่ไหน ท่านก็อยู่ในใจของพวกเรา”

รู้สึกอย่างไรกับการมีโอกาสได้ถวายงาน

“ผมก็เป็นคนไทยคนหนึ่งที่เกิดในรัชกาลที่ ๙ การที่เราได้มีโอกาสชื่นชมพระบารมี ความรู้สึกเราดีใจ มันเป็นบุญ มันเป็นความรู้สึกที่เราไม่รู้จะเอาอะไรมาเปรียบเทียบ ผมเคยจัดโต๊ะถวายครั้งหนึ่งที่หัวหิน ในหลวงเสด็จมาส่วนพระองค์มาเสวยโต๊ะที่เราต้องจัด คุณจะต้องคิดหาของดีสุดแพงสุด ผมคิดตรงข้ามหมดเลย ท่านก็คงไม่ชอบหรอก ท่านเป็นพระเจ้าแผ่นดิน ท่านเห็นของที่ดีที่สุด มันที่สุดของที่สุดไม่ว่าท่านจะเสด็จแห่งไหน ทำไมเราไม่ทำสิ่งสามัญให้มันเกิดพลัง เราก็ไปหาของที่คนอื่นไม่ใช้ เช่น หญ้า ดอกไม้ริมรั้ว ไม่ซื้อดอกไม้อิมพอร์ตหรือดอกไม้แพงเลย การจัดดอกไม้ของผมทำให้ผมมีโอกาสได้เฝ้าท่านหลายหนมากเลย”

พระองค์ทรงเป็นต้นแบบของ Simplicity

“พระองค์ท่านเป็นแม่พิมพ์ เป็นแบบอย่างให้ใครก็แล้วแต่ที่ได้เข้าเฝ้า ใครที่ได้พบ ใครที่ได้รู้สึก เราจะรู้สึกว่าท่านเป็นอย่างนั้นจริง ๆ คือท่านทรงเป็นแบบอย่างของ simplicity จริง ๆ ท่านไม่ได้เป็นพระมหากษัตริย์ในจินตนาการที่ต้องมีพิธีรีตองหรือมีอะไรที่มีเส้นกั้น”

สำหรับนิทรรศการครั้งนี้ คุณศักดิ์ชัยได้มีโอกาสจัดองศาการวางมุมต่าง ๆ ของภาพ รวมถึงแสงและสีของงานได้ดีไซน์เองเลยหรือเปล่า

“เรามีมืออาชีพมาช่วย เราทำเองทั้งหมดไม่ได้ เรามี Conceptual Design เราก็แก้ปัญหาไปทีละเปราะ จำนวนภาพไม่พอ ขนาดภาพไม่เวิร์ก เราก็ต้องไปหยิบยืมของจากนักสะสม ซึ่งของแต่ละอย่างมีมูลค่าเกิดขึ้นแล้ว พอเอาของมาแล้วเราต้องดูแลทุกอย่าง เพราะภาพบางภาพโดนแสงมากไม่ได้ ผมพยายามหาด้านที่มันไม่ได้ดูอันตรายมาก โชคดีที่เรามีผู้เชี่ยวชาญมาช่วยในการทำ illumination เขาก็มาปรับให้ผมดูว่าแสงผมต้องการประมาณไหน เพราะเราไม่ต้องการให้เน้นมาก ได้แค่เป็น ambience มีระยะของการ illuminate แบบชัดเจน ไม่ต้องการไป spot ทั้งหมด เขาก็มากับเครื่องมือไฮเทคมาก เขามากับ iPad มีแอปจัดไฟให้เห็น ปรับเปลี่ยนกันสองสามครั้งก็ใช้ได้ เพราะว่ามันจะเป็นช่วงเวลาด้วยนะครับ อย่างถ้าคุณมาช่วงเช้าจะเป็นแสงอีกแบบหนึ่ง ช่วงเย็นจะเป็นแสงอีกแบบหนึ่ง ความรู้สึกต่างกัน ซึ่งแสงก็สำคัญมาก”

ส่วนเรื่องสีของห้อง ทำไมถึงเลือกเป็นสีน้ำเงิน

“ตอนแรกคิดอยู่สองสี น้ำเงินแรกพอเข้ามาเทียบกับแสงจริงแล้วมันไม่ได้ เลยเลือกสีรอยัลบลู (Royal Blue) เป็นสีเทาน้ำเงิน เป็นสีกลาง ๆ มองดูแล้วไม่ดึงอะไรมากเกินไป ตอนแรกเราก็ลองให้เขาทาสีเหลืองมัสตาร์ด (Mustard) แล้วคิดว่าเหลืองนั้นไม่รอดแน่เลย มันขับทำให้เกิดกราฟิกเกิดขึ้น เฟรมมันจะชัด รูปมันจะกลายเป็นอีกแบบหนึ่ง ก็เลยเลือกสีนำ้เงิน Royal Blue”

นักสะสมที่เราไปรวบรวมภาพรู้จักเป็นการส่วนตัวหรือเปล่า

“รู้จักบ้าง ผู้ใหญ่แนะนำบ้าง ส่วนเราก็เก็บบ้าง ไม่อยากใช้คำว่าสะสม เพราะนักสะสมมืออาชีพเขามีแบบมหัศจรรย์มาก และโจทย์ของนักสะสมเขามีเยอะมาก เขาไม่ให้เราแกะออกมาจากกรอบของเขานะ เพราะว่าหนึ่งกลัวความชื้น กลัวความเสียหาย บางคนเขาก็อยากจะเก็บในเรื่องของออริจินัล เฟรมนั้นกระจกนั้น ด้านหลังห้ามเปิด ปัญหาคือแล้วจะแขวนอย่างไร ผมมีหลักอยู่อย่างหนึ่งในการทำงาน คือ “Problem suggests solution.” อย่างเฟรมมันแขวนไม่ได้เพราะมันหนักมันยุ่ย บางอัน 50-60 ปีแล้ว แต่อย่างการจัดวางของที่นี่คือเขามีบริษัทที่เป็นมืออาชีพมาแขวนให้ มีบริษัทรับประกัน คุณเห็นแบบนี้คุณไม่รู้หรอกว่าข้างหลังมันมีวิธีของเขาป้องกันเพื่อไม่ให้ภาพหล่น เขามีเครื่องไม้เครื่องมือ mechanic ข้างหลังภาพ น้ำหนักของกระจก อายุของกรอบรูปไม่แข็งแรงพอบ้าง เราก็ต้องดีไซน์ใหม่เลย บางอันที่เป็นออริจินัลเราไม่แตะของเขาเลย ใช้เครื่องไม้เครื่องมือที่ด้านหลังแทน บางอันต้องใช้กรอบสองอันเพื่อมาล็อกให้มันอยู่พอดี มีแนวทางแบบนี้หลายรูปเลย อันนี้เป็นปัญหาในการติดตั้ง”

คุณศักดิ์ชัยชื่นชอบภาพชิ้นไหนชอบมากที่สุด

“ตอบไม่ได้จริง ๆ เนื่องจากว่าเรามองไปในแต่ละภาพ เราก็จะนึกถึงเบื้องหลังที่เราได้มา ทุกภาพมันมีเรื่องราว บางรูปมีการขยายสเกลด้วยเครื่องพิมพ์ (Printer) จากข้างนอก เพราะบางรูปแขวนไปแล้วไม่ได้พลัง อย่างรูปที่อยู่ตรงทางออกทางเข้าก็จะ symetric มาก”

“ส่วนในตู้เราจะจัดกลุ่ม ตั้งแต่ทรงพระเยาว์ ไปเรื่อย ๆ กลุ่มพระอัจฉริยภาพด้านการดนตรี ด้านการช่าง ทรงผนวช เสด็จต่างประเทศ ไม่อยากให้คนเข้ามาแล้วมีความรู้สึกดูอะไรที่อึดอัดเกินไป ภาพมันก็เป็นเรื่องของกล้อง สิ่งที่ได้โบนัสขึ้นมาก็คือเราสะสมกล้องโบราณเยอะมาก พระบรมฉายาลักษณ์องค์นี้เป็นกล้องรุ่นที่ท่านถืออยู่ในมือจริง ๆ คือ Contax อีกตัวหนึ่งเป็นกล้อง Nikon ที่ท่านทรงอยู่เป็น Nikon รุ่นเดียวกับที่เราหามาตกแต่ง กล้องบางอันเป็นร้อยปี เช่น กล้อง Leica ที่ใช้ในสงครามโลก คล้าย ๆ ว่าเป็น ambience ให้เกิดความร่วมสมัยในภาพแต่ละภาพ”

“มีไวโอลินที่สร้างโดยนักสร้างไวโอลินหนึ่งในสามของนักไวโอลินที่ดีที่สุดในโลกเขาเรียกว่า Luthier (ลูเทียร์) เขาเดินทางมาประเทศไทยในช่วงที่ประชาชนกำลังเฉลิมฉลอง 60 ปีแห่งการครองราชย์ใส่เสื้อเหลืองโบกธง เขาก็มีความรู้สึกว่า King of Thailand เป็นแบบนี้เลยเหรอ เขาเลยเกิดความประทับใจ เขาเลยซื้อธงกลับไปแล้วในทรงนั้นมีสัญลักษณ์ ภปร. เขาจึงขออนุญาตสร้างไวโอลินทูลเกล้าถวาย เขาก็ได้ยินยอมให้เรานำมาจัดแสดง

“อย่างหนังสือ Time ในเมื่อเราจัดห้องนี้ให้เป็นห้องสมุด เราก็นึกขึ้นได้ว่าเรามีหนังสือ Time ในปี 1950 มาวางให้ประชาชนได้เห็น มัน blend ทำให้เกิดสุนทรียภาพ ส่วนบางอันที่เป็นของออริจินัลผมก็ไม่ไปแตะ บางอันอาจจะดูเก่า เพราะเขาเป็นแบบนี้จริง ๆ พระบรมฉายาลักษณ์บางองค์ที่มีลายเซ็น กรอบรูปที่มีพระปรมาภิไธยย่อก็แน่นอนอยู่แล้วว่าถ้าไม่เป็นของที่พระราชทานให้ทูตานุทูตก็ต้องเป็นพระบรมวงศานุวงศ์ที่ได้รับพระราชทานไป แต่ภาพนี้พอเราเห็นปุ๊บเรารู้ว่าใครเป็นคนถ่าย พระบรมฉายาลักษณ์องค์ผู้ที่ถวายครั้งนั้นก็เป็นคุณจำนงค์ ภิรมย์ภักดี ผมก็เลยรู้ว่าภาพนี้จริง ๆ ถ่ายที่ไหน ผมก็เลยไปอัดภาพนี้เต็มภาพมาไว้บนข้างฝานี้ด้วย อยากให้เห็นว่ารูปจริงเป็นอย่างไร”

“ส่วนในกลุ่มนี้เราตั้งใจให้เป็น Portrait Gallery มีภาพที่มีออริจินัลจากแหล่งเดียวกันหลายภาพ ถ้าดูดี ๆ จะเห็นว่านักสะสมเขาก็จะมีศัพท์เรียก เช่น ‘ในหลวงเหรียญเดี่ยว’ ตั้งแต่สมัยท่านทรงพระอิสริยยศเป็นสมเด็จพระอนุชา ‘ในหลวงสองเหรียญ’ ซึ่งหายากมาก แล้วก็ ‘ในหลวงสามเหรียญ’ ออริจินอลจริง ๆ จะเป็นภาพขาวดำแบบนี้ ประมาณนี้ ภาพนี้อัดเมื่อปี 2504 ท่านทรงพระชันษาประมาณนี้เป็นพระเจ้าอยู่หัวแล้ว ซึ่งยังไม่มีฟิล์มสี ยังไม่มีภาพสี ในยุคสมัยนู้นก็ต้องระบายสีลงบนภาพขาวดำ มันก็จะเกิดภาพแบบนี้เกิดขึ้น ช่างสมัยนู้นมีความเข้าใจในเรื่องของเครื่องราชอิสริยาภรณ์ก็จะเขียนได้ถูก ก็เลยเกิดความร่วมสมัยเกิดขึ้น มารวม ๆ กันเป็น Portrait Gallery เหมือนจากภาพ ๆ เดียวจากหลากหลายศิลปิน ให้เกิด variety เกิดขึ้นด้วย”

สุดท้ายนี้คุณศักดิ์ชัยมีอะไรอยากฝากสำหรับนิทรรศการครั้งนี้

“แค่อยากให้ทุกคนถ้ามีโอกาสได้มาชมนะครับ เพราะว่าเป็นโอกาสสำคัญที่เราจะได้มาชื่นชมพระบรมฉายาลักษณ์แบบนี้ในครั้งนี้ หาโอกาสนี้ได้น้อยมากที่เราจะได้เห็นของรักของหวงของบุคคลหลายท่านเอามาไว้ให้เราได้ดู อยากให้ทุกคนได้เข้ามาชมเพื่อที่จะได้รับพลังบวกในการกลับไปใช้ชีวิตอย่างปกติ”

ร่วมเป็นส่วนหนึ่งของนิทรรศการพระราชาในดวงใจด้วยการเข้าชมภาพถ่ายหายากจากเหล่านักสะสมได้ที่หอศิลป์ ชั้น 8 เข้าชมได้ถึงวันที่ 26 พฤศจิกายน


บทความนี้เรียบเรียงขึ้นโดย ทีมงาน MOVER

mover.in.th@gmail.com


บทความนี้เรียบเรียงขึ้นโดย ทีมงาน MOVER

mover.in.th@gmail.com