พูดถึงเรื่องการสะสมของต่างๆเป็นงานอดิเรก ไม่ว่าจะเป็นของสะสมทั้งเสื้อผ้า นาฬิกา รองเท้า ของเก่า ของหายาก และอีกมากมาย แต่ละอย่างก็ล้วนมีเสน่ห์และเรื่องราวที่น่าค้นหาแตกต่างกันไป ซึ่งหนึ่งในงานอดิเรกที่น่าสนใจไม่แพ้กันคือ การสะสมหุ่นฟิกเกอร์ นั่นเอง แม้หลายคนอาจจะมองว่าการสะสมของประเภทนี้จะนิยมเฉพาะกลุ่มหนุ่มๆที่ดูเนิร์ด แต่สำหรับ ‘มิว – พิตตินันท์ จริยวิลาศกุล’ หนุ่มผู้หลงใหลและสะสมหุ่นฟิกเกอร์ กลับไม่ได้มองด้วยสายตาเช่นนั้น
MOVER ชวนอ่านเบื้องลึก เปิดมุมมองในความหลงใหลของการสะสมฟิกเกอร์ แหล่งซื้อขาย รวมถึงรายละเอียดที่อื่นๆ ที่น่าสนใจอีกมากมายในบทสัมภาษณ์นี้
แนะนำตัว
สวัสดีครับ ‘มิว พิตตินันท์ จริยวิลาศกุล’ เพิ่งจบจากสถาปัตยกรรม จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ครับ ฟังเพลงแนวอาร์แอนบี เกาหลี เพลงฝรั่ง เพลงไทยบ้าง ชอบดูหนังที่เน้นความภาพสวย เรื่ององค์ประกอบศิลป์ เรื่องอื่นๆ ก็เป็นคนติดเพื่อน ชอบออกไปนู่นไปนี่ ชอบเที่ยว แต่งตัวสบายๆ ตอนนี้ทำหลายอย่างมาก เป็นสถาปนิก เป็นนักแสดง มีถ่ายซีรีย์ เอ็มวี หนังสั้น ทำเพจท่องเที่ยวด้วย
จุดเริ่มต้นสะสมหุ่นฟิกเกอร์
เริ่มจากการที่ตอนเด็กๆ ชอบดูหนังแล้วรู้สึกว่าอยากเก็บสะสมอะไรก็ตามจากหนังที่เราชอบ เช่น สไปเดอร์แมน พ่อเห็นเราชอบมาก ก็ซื้อพวกชุดนอน กล่องดินสอให้ ทำให้เราชอบมากขึ้น
มีสะสมอย่างอื่นอีกไหม?
มีครับ แต่จริงๆ คือมีการ์ตูนอะไรออกมา เราก็ตามดูและสะสมหมดนะ พวกคาเมนไรเดอร์ ไอ้มดแดง อุลตร้าแมน ก็เพิ่มมาเรื่อยๆ พอโตมาเราก็อินกับอย่างอื่นเพิ่มขึ้นด้วย เช่น สตาร์วอร์ พรีเดเตอร์ ก็อตซิล่า เอเลี่ยน แต่ยังไงความชอบในสไปเดอร์แมนก็ยังคงอยู่อย่างแน่นอนครับ
แนะนำแหล่งตามล่าหุ่นฟิกเกอร์
ปกติก็ซื้อทางเฟซบุ๊กเพจ ราคาไม่แรงมาก แต่ถ้าราคาแพงมากๆ ก็จะนัดร้านเข้าไปดูสินค้า ที่ตึกเมกกะพลาซ่า ตรงสะพานเหล็ก เป็นตึกขายของเล่นที่ใหญ่มากๆ หรือบางครั้งก็ไปที่ญี่ปุ่น ซึ่งก็จะเป็นแดนสวรรค์ของเราเลยเหมือนกัน คือที่อากิฮาบาระ หรือสถานที่ที่ขายของมือสอง
มีสถานที่เก็บหุ่นฟิกเกอร์โดยเฉพาะหรือเปล่า
จริงๆ ที่เก็บก็คือห้องนอนแหละ แต่คือทุกวันนี้เราอยู่คอนโด พื้นที่เราน้อยมากๆ เราก็จะเลือกตัวที่เรากำลังอินอยู่ในตอนนั้นมาไว้ที่คอนโดด้วย นอกนั้นส่วนใหญ่ก็อยู่ที่บ้านหมดเลยครับ
ฟิกเกอร์มีกี่ประเภท
อย่างแรกก็คือ แอคชั่นฟิกเกอร์ ก็จะเป็นตัวเล็กๆ ขนาด 1:12 1:16 แต่อีกประเภทหนึ่งคือ งานปั้น ที่ลงดีเทลเยอะๆ สวยๆเลยตัวละประมาณสองสามหมื่นบาท เราจะเก็บพวกตัวเล็กๆ ซะมากกว่า แล้วเวลาปัดฝุ่นทีก็คือฝุ่นเยอะมากๆ แค่โซนสไปเดอร์แมนก็กินเวลาไปประมาณเกือบสองชั่วโมงแล้ว
และจะมีอีกแบบคือ งานฟิกเกอร์แบบ Hot Toy คืองานที่ออกมาสมจริงที่สุด อันนี้จะทำความสะอาดยากมาก เพราะวัสดุของมันต้องอยู่ในที่ห้ามร้อนเกินไป ห้ามเย็นเกินไป ต้องเอามาขยับบ่อยๆ ด้วย เพราะบางดีเทลเป็นหนังเทียม เป็นวัสดุผ้าบ้าง เวลาปัดฝุ่นก็ต้องค่อยๆ ใช้แปรงปัด
คนที่เล่นฟิกเกอร์ตรงนี้ก็จะมองว่ามันเป็นอีกขั้นแล้ว มันเหมือนเป็นงานศิลป์ แล้วของเล่นพวกนี้เมื่อก่อนสมัยเด็กๆ เราไม่มีปัญญาซื้อ พอโตมาหาเงินได้เองแล้วก็ยินดีที่จะดูแลมัน
ตัวที่ซื้อมาแพงที่สุดและถูกที่สุด
ตัวที่แพงที่สุด ก็คือพวก ฮอททอย มีความละเอียดเรื่องดีเทล
ส่วนของที่ถูกที่สุดก็พวกสแตมป์ ตั้วปั๊มตามร้านมินิโซ ที่มาสก์หน้าญี่ปุ่น อะไรเล็กๆ น่ารัก เก็บหมด รวมถึงกาชาปองเล็กๆ น้อยๆ 40-60 บาท ด้วย แต่ไม่ว่าจะราคาถูกหรือแพง ทุกตัวก็มีคุณค่าทางจิตใจสำหรับผมหมดเลยครับ
ถ้าโลกแตกแล้วเอาฟิกเกอร์ไปได้ตัวเดียว จะเลือกตัวไหน
ถ้าหวงมากสุดคือ ฮอททอย แต่ถ้าในวันโลกแตกจริงๆ ก็จะเอาตัว Chogokin Heroes Iron Spider Collectibles Figure ไป เพราะมันเล็ก กะทัดรัดดี เพราะเราคงไม่อยากเอาตัวที่เรารักมากที่สุดไป เพราะเราต้องเอาเวลาไปดูแลชีวิตตัวเองด้วย
แต่จริงๆ มีตัวหนึ่งที่ไม่ใช่ฟิกเกอร์และอยากเอาไปด้วยคือ กล้องฟิล์มสไปเดอร์แมน อันนี้คือหายากมากๆ แล้วไม่เคยแกะมันออกมาเลยครับ
ความหลงใหลในการสะสมหุ่นฟิกเกอร์
เป็นความชอบที่มีมาตั้งแต่เด็กๆ เพราะชอบความเท่ของตัวการ์ตูน แต่พอโตมาเราก็มองในแง่ของมิติตัวละครมากขึ้น เช่น สไปเดอร์แมนที่เราชอบ จริงๆเบื้องหลังชีวิตเขารันทดมากนะ ไม่มีครอบครัว อยู่กับป้า มีปัญหาวัยรุ่น โดนเพื่อนแกล้ง ยากจน ซึ่งพอถ้าเราเอาไปเทียบกับตัวละครอื่นๆ อย่างไอรอนแมน ที่เขาค่อนข้างจะมีทุกอย่างครบและพร้อมอยู่แล้วเนี่ย ทำให้เราอินทูกับตัวละครสไปเดอร์แมนมากยิ่งขึ้น
คือต่อให้โลกจะโหดร้ายกับเขาแค่ไหนแต่สไปเดอร์แมนก็ไม่เคยหมดศรัทธาในการทำความดี เพราะเขาคือฮีโร่ ซึ่งเราคิดว่าเขาเป็นตัวละครที่มีมิติมาก สังคมเราต้องการคนแบบนี้จริงๆ ไม่ว่าจะเจออะไรมาแย่คนไหน ยังคงทำความดีต่อไป อันนี้คือความรู้สึกจริงๆที่ชอบ หลังจากโตมากับตัวละคร
คอมมูนิตี้ของนักสะสมฟิกเกอร์
จริงๆ ในไทยก็มีไม่ค่อยเยอะครับ จะเป็นกลุ่มเฉพาะตามเฟซบุ๊กที่มีการซื้อขายแลกเปลี่ยนกันมากกว่า ก็จะเจอเพื่อนหรือไม่ก็พวกพ่อค้าอะไรแบบนี้ แล้วพอเรามีปฏิสัมพันธ์กันบ่อยๆ คนเขาก็จะจำเราได้ว่าเราสะสมอะไร ตามหาอะไร บางคนก็อาจสนิทกันจนไปเดินดูของด้วยกัน เป็นความสัมพันธ์แบบพี่น้อง แบบเพื่อน มากกว่าความสัมพันธ์แบบแค่การซื้อขายเท่านั้น
คิดอย่างไรกับคำพูดที่บอกว่า “คนชอบการ์ตูนดูเนิร์ด”
จริงๆ มันเป็นเรื่องของความชอบแหละ เราทุกคนสามารถเนิร์ดกับทุกๆ อย่างได้หมดนะ อย่างคนที่บ้าหนังมากๆ หรือบ้ารถ บ้ากล้องฟิล์ม มันก็เป็นอะไรที่เนิร์ดมากๆ เหมือนกัน เพราะฉะนั้นอย่าเพิ่งไปตีความว่าเนิร์ดต้องเป็นแบบนั้นแบบนี้ โอตาคุต้องเป็นแบบนั้นแบบนี้ไปก่อน อยากให้ลองเปิดใจเรียนรู้ในสังคมนั้นๆ อย่างเราเข้ามาอยู่ในวงการสะสมฟิกเกอร์นี้ เราก็รู้เลยว่า มีทุกเพศ ทุกวัย ทุกกลุ่มอายุจริงๆ ที่สะสมของแบบนี้ จนกระทั่งคนอายุ 50-60 ก็มีให้เห็น เช่นๆ พี่ โอม-ปัณฑพล ประสารราชกิจ (โอมวงค็อกเทล) พี่พิง ลำพระเพลิง คนทุกกลุ่มสายอาชีพเลย ซึ่งมันทำให้เรารู้ว่า มันเป็นโลกที่กว้างมาก
เศรษฐกิจ VS ของสะสม
หลักๆ เนี่ยมันอยู่ที่ความพอดีเลยครับ อย่างช่วงโควิด-19 ก็ต้องคิดว่าตัวไหนเรารับแล้วมันเกินตัวเราหรือเปล่า เราอาจจะซื้อหนักแบบเมื่อก่อนไม่ได้นะ เราก็ควรจะดูสถานการณ์การเงินของตัวเองก่อนด้วยก่อนที่จะซื้อ แต่ถ้าในแง่ของความจำเป็นหรือไม่เนี่ย ก็ขึ้นอยู่กับแต่ละคนจริงๆ อยากให้ทำทุกอย่างแบบที่ไม่เกินตัว แบบพอดีในทุกๆ ด้าน
ปัจจุบันมีฟิกเกอร์กี่ตัว
เอาตรงๆ ไม่เคยนับจริงจังเลย แต่เคยประมาณไว้ว่าน่าจะเกือบ 300 ตัวครับ คือเราไม่เคยขายตัวไหนไปเลย เป็นคนตัดใจขายอะไรพวกนี้ไม่ค่อยได้ บางครั้งมีคนซื้อมาให้เราก็จำได้หมดว่าใครซื้อมาให้ อย่างตอนรับปริญญา มีคนซื้อสไปเดอร์แมนมาให้ซ้ำ 4 ตัว เราก็ไม่ขาย เพราะเราไม่ได้มองมันเป็นแค่ของชิ้นหนึ่ง แต่เรามองในแง่ความทรงจำ คนที่ให้เราในวันนั้น เรามองตรงนี้มากกว่า
ฝากถึงคนที่ติดตาม
ในเรื่องการสะสมฟิกเกอร์ เราจะเข้าใจดีว่าพอโตมาแล้วเราสามารถหาเงินมาซื้อเองได้ มันเติมเต็มในด้านจิตใจเรามาก เราไม่ต้องสนใจว่าใครมองว่าเราเนิร์ดหรือเปล่า เราทำตามที่เราชอบ เหมือนเราชอบงานศิลปะ อยากมอง อยากสัมผัส มันสามารถจับต้องได้ มันคือความสุข
ฟังเสียงหัวใจตัวเองมากๆ เพราะสิ่งเล็กๆ น้อยๆพวกนี้มันเติมเต็มให้โลกน่าอยู่ขึ้น อยากเป็นอะไร อยากทำอะไร ทำให้เต็มที่ แต่ต้องบาลานซ์ทุกอย่างให้มันพอดีกันในทุกๆ ด้านครับ