“ปรัชญาชีวิตญี่ปุ่น ทำให้คนญี่ปุ่นมีอายุที่ยืนยาว และถูกยกย่องให้เป็นประชาชนที่มีคุณภาพ”
- ญี่ปุ่นมีปรัชญาชีวิตที่น่าสนใจอยู่ 5 อย่าง อิคิไก, คินสึงิ, อิจิโกะ อิจิเอะ, วาบิซาบิ และ โคดาวาริ
- หนังสือที่เขียนเกี่ยวกับ อิคิไก เป็นเล่มแรกคือ The Little Book of Ikigai : The secret Japanese way to live a happy and long life โดยอาจารย์เคน โมหงิ
ในทุกวันนี้ คุณหาความสุขได้หรือไม่ ?
… มันอาจจะดูเป็นคำถามที่แปลกไปเสียหน่อย แต่ผมจำได้ดี ตอนที่เคยโดนถามด้วยคำถามนี้ มันทำให้ได้คิดย้อนกลับคำถามที่ถามขึ้นมา “แล้วความสุขคืออะไรละ ?” ความสุขสำหรับผม คือคำคำหนึ่งที่ใช้แทนความรู้สึกที่ดี “วันนี้คุณแม่ชมเรา เพราะเราเป็นเด็กดี เรารู้สึกเบิกบานใจเป็นอย่างมาก” อันนี้ก็ถือเป็นความสุขหนึ่ง หรือ “วันนี้ผมได้อยู่กับคนที่ผมรัก ช่วงเวลาที่พระอาทิตย์ ผมได้กุมมือของเธอ มันเป็นช่วงเวลาที่ยอดเยี่ยมที่สุดในชีวิตนี้แล้ว” นี่ก็น่าจะเป็นความสุขเช่นกัน จริงๆ แล้วความสุขเป็นคำที่กว้างมากครับ และมันสามารถเกิดได้หลากหลายวิธี และหลากหลายรูปแบบมากๆ
แล้ว จะทำอย่างไรให้มีความสุขละ ?
เมื่อเราเข้าใจว่า ความสุขมันคืออะไรแล้ว มันก็น่าจะไม่ใช่เรื่องยากที่เราจะสร้างมันขึ้นมาถูกต้องไหมครับ ? แต่คุณเชื่อไหมว่า พอเราโตขึ้น เรายิ่งรู้จักสิ่งที่จะก่อเกิดความสุข ความคาดหวังก็จะยิ่งสูงขึ้น สิ่งเหล่านี้จะทำให้เราหาความสุขได้ยากขึ้นมากกว่าเดิม เพราะ มันคงไม่มีการบ้านให้เราได้ทำสำเร็จทุกวัน คงไม่มีใครที่จะกุมมือเราอยู่ตลอดเวลา และคงจะไม่มีใครที่จะประสบความสำเร็จได้ทุกวัน
อิคิไก (Ikigai) (生き甲斐)
หากจะหาความสุขที่ดีให้กับตนเอง มันล้วนแล้วมีหลากหลายวิธีให้เราได้ลองทำ แต่สิ่งหนึ่งที่ยืนยันแล้วแน่นอนว่าสามารถทำได้แน่ๆ นั่นก็คือการปรับเปลี่ยนมุมมองในการดำเนินชีวิต หรือรูปแบบในการดำเนินชีวิตของตนเอง และปรัชญาหนึ่งที่ผมอยากแนะนำในวันนี้ก็คือ “อิคิไก” หนึ่งในปรัชญาชีวิตของคนญี่ปุ่น ที่จะทำให้เราค้นหาความสุขในชีวิตได้ง่ายขึ้น
อิคิไก ประกอบขึ้นด้วยคำ 2 คำคือ อิคิ (iki) ที่แปลว่า “ชีวิต” และ ไก (gai) ที่แปลว่า “คุณค่าทางจิตใจ” ซึ่ง อิคิไก หมายถึง จุดมุ่งหมาย หรือ เหตุผลของการมีชีวิตอยู่ คือปรัชญาเซนที่ต้องการให้มนุษย์ชื่นชมความงามของสิ่งรอบตัว ด้วยการการสร้างความสุขและสุขภาพที่ดีของร่างกาย จิตใจ และจิตวิญญาณ ผ่านการรู้สึกตัวและการค้นพบตัวตน
อิคิไก ไม่ใช่สิ่งพิเศษที่จะต้องค้นหา เพราะเป็นแนวคิดที่ฝังลึกในวัฒนธรรม ประเพณี และวิถีชีวิต จุดมุ่งหมายของปรัชญานี้คือการสร้างวงกลมที่สมดุลของตัวเราเองขึ้นมา ซึ่งหากเราสามารถค้นหาตัวเองจนพบ ว่าตัวเราชอบอะไร และ ทำอะไรได้ดี ก็สามารถวางเป้าหมายชีวิตของเราเองได้อย่างชัดเจน และสามารถทำการฝึกฝน ลงมือทำจนสำเร็จ พร้อมตอบแทนคืนสู่สังคมได้ สิ่งเหล่านี้จะทำให้เราตระหนัก และเห็นคุณค่าของการใช้ชีวิตอย่างมีความสุขได้
“วงกลมแห่งความรู้สึก 4 วง”
– แก่นของอิคิไก –
การเข้าถึงหลักแห่ง อิคิไก สามารถเข้าถึงได้ด้วยหลักการวงกลม 4 วง ที่วาดทับตัดกันอยู่ ได้แก่
- วงกลมของสิ่งที่เรารัก หรือชอบ (What you LOVE) : ชอบเล่นเกม ปลูกต้นไม้ ทำงานบ้าน ฯลฯ
- วงกลมของสิ่งที่เราทำได้ดี (What you are GOOD AT) : ทำอาหารอร่อย, เลี้ยงลูกจนได้ดิบได้ดี, สร้างบ้านได้คงทนแข็งแรง ฯลฯ
- วงกลมของสิ่งที่เราทำแล้วได้รับสิ่งตอบแทน (What you can be PAID FOR) : ขายอาหาร, ขายต้นไม้, พัฒนาเกม ฯลฯ
- วงกลมของสิ่งที่โลกต้องการ (What the world NEEDS) : ผู้คนต้องการแอปพลิเคชันด้านการเงิน โรงเรียนต้องการคนทำอาหาร ผู้กำกับต้องการนักแสดง ฯลฯ
เมื่อวงกลมทั้ง 4 วาดทับตัดกันจะก่อเกิดอีก 4 หลักการขึ้นมา
- สิ่งที่เรารัก + สิ่งที่เราทำได้ดี = ความหลงใหล (Passion)
- คุณชอบเรื่องอาหาร + คุณทำอาหารได้อร่อย = คุณจะรู้สึกสนุก และมีความสุขมากๆ กับการทำอาหาร
- คุณชอบเกม + คุณทำอาหารได้อร่อย = คุณสามารถออกแบบเกมเกี่ยวกับการทำอาหารได้อย่างหลงไหล
- สิ่งที่เรารัก + สิ่งที่โลกต้องการ = หน้าที่ (Mission)
- คุณชอบเรื่องอาหาร + โลกต้องการพ่อครัว = คุณต้องทำอาหารให้เป็น และอร่อยให้ได้
- คุณชอบเกม + โลกต้องการพ่อครัว = คุณต้องเป็นพ่อครัวที่สามารถสร้างเกมจากการทำอาหารขึ้นมาให้ได้
- สิ่งที่โลกต้องการ + สิ่งที่เราทำแล้วได้รับสิ่งตอบแทน = งาน (Vocation)
- โลกต้องการพ่อครัว + ขายอาหาร = งานของคุณคือการทำอาหาร
- โลกต้องการนางแบบ + ขายอาหาร = งานของคุณคือการทำตัวให้โดดเด่นเพื่อเป็นจุดขายของอาหาร
- สิ่งที่เราทำได้ดี + สิ่งที่เราทำแล้วได้รับสิ่งตอบแทน = อาชีพ (Profession)
- คุณทำอาหารได้อร่อย + ขายอาหาร = อาชีพของคุณคือ พ่อครัว เชฟ ฯลฯ
- คุณเขียนบทความได้ดี + ขายอาหาร = อาชีพของคุณคือ นักเขียนตำราทำอาหาร นักรีวิว ฯลฯ
“แก่นของอิคิไก”
– ไม่จำเป็นต้องยิ่งใหญ่ ไม่ใช่เป้าหมายของชีวิต แต่มันคือสมดุล และภายใน –
อิคิไก มอบความรู้สึกที่มากกว่าความสุข นั่นคือ “ความหมายของการได้ตื่นขึ้นมาในทุกเช้า” หรือพูดง่ายๆ ก็คือ การที่ในทุกวันเรารู้ว่าเราควรจะทำอะไรนั่นเอง เพราะฉะนั้นอิคิไกไม่จำเป็นต้องยิ่งใหญ่ เราก็สามารถสร้างมันขึ้นมาได้ เพราะอิคิไกคือสิ่งเล็กๆ ที่เรากระทำอยู่ในทุกวัน เช่นการตื่นนอนขึ้นมาเพื่อรับแสงแดดยามเช้า การมีที่อยู่อาศัยที่ หรือการได้กินอาหารอร่อยๆ เป็นต้น
นอกจากนี้ แม้ว่าอิคิไก จะเป็นปรัชญาเพื่อให้เราค้นหาเป้าหมายในการดำเนินชีวิตได้สำเร็จ แต่มันก็ไม่ใช่เป้าหมายของชีวิตแต่อย่างใด เพราะเมื่อเราทำตามที่วางแผนเอาไว้ อิคิไกของเราก็จะจบลงทันที หลังจากนั้นเราก็ต้องสร้างอิคิไกวงใหม่ของเราขึ้นมา เพื่อให้ชีวิตพบกับความท้าทาย และทำให้ชีวิตยืนยาว เพราะเรามีเป้าหมายที่มากพอที่จะทำให้เราอยากมีชีวิตอยู่ต่อไปเรื่อยๆ