เมื่อถึงช่วงวัยหนึ่งที่ความสนุกสนานจากการใช้ชีวิตเริ่มจางหายไป คนเราก็มักจะมองหาความมั่นคงให้กับชีวิตด้วยการลงทุนในสิ่งที่คาดว่าน่าจะเติบโตและให้ผลตอบแทนที่คุ้มค่า อย่างเช่น กองทุน ซึ่งมีความเสี่ยงและผลตอบแทนให้เลือกหลายระดับตามแต่ความต้องการของเรา ซึ่งในจุดนี้บางคนก็ให้ความเห็นว่ามันเหมาะกับมือใหม่หัดลงทุนมากกว่าที่จะไปลงทุนในหุ้นที่มีความผันผวนมากกว่า แต่ปัญหาของคนส่วนใหญ่ที่กำลังเริ่มสนใจในการลงทุนใน กองทุน นั้นคือยังไม่เข้าใจมันดีพอ ดังนั้น MOVER จึงขอสรุปความน่าสนใจและข้อควรระวังในการลงทุนต่าง ๆ มาให้ทุกคนได้อ่านเป็นแนวทางในในอนาคต
#1 | อย่าลงทุนโดยไม่มีความรู้และความเข้าใจ
การลงทุนที่เกิดจากความไม่เข้าใจนั้น แน่นอนว่าผลของการลงทุนนั้น ๆ ก็จะไม่เป็นไปตามที่ฝันอย่างแน่นอน ไม่ต่างอะไรจากการนำเงินไปเล่นการพนันแล้วเสียไปเปล่า ๆ และยิ่งถ้าคุณไปเชื่อคนอื่นมากไป โดยที่ไม่มีความรู้หรือไตร่ตรองให้ดีก่อนว่าจริงข่าวนั้นจริงหรือไม่ หรือหุ้นตัวนี้น่าลงทุนจริง ๆ หรือเปล่าและน่าเชื่อถือมากน้อยแค่ไหน แล้วคุณจะแน่ใจได้อย่างไรว่าคนที่มาบอกข่าวให้คุณนั้นเค้าไม่ได้ต้องการหลอกให้คุณลงทุนตามที่เขาบอกเพื่อผลประโยชน์อะไรบางอย่างของเขาเอง สุดท้ายแล้วคุณอาจจะเป็นแค่แมงแม่าตัวหนึ่งที่บินเข้ากองไฟก็เป็นได้
การที่เราพูดว่าควรจะต้องรู้ลึกรู้จริงในการลงทุนนั้น ๆ ก่อนที่จะเริ่มลงทุน อาจฟังดูเหมืนอจะง่ายแต่เอาเข้าจริงก็ติดปัญหาใหญ่ที่ว่าในวัยทำงานหลาย ๆ คนก็มีภาระมากมายทั้งจากหน้าที่การงานและครอบครัว จะหาเวลาไปศึกษาหรือเฝ้าพอร์ตหุ้นตัวเองตลอดเวลาก็คงจะไม่ไหวแน่ ๆ หรือถ้าจะเอาเงินไปออมในธนาคารไว้เฉยๆ ปลอดภัยก็จริง แต่ดอกเบี้ยเงินฝากตอนนี้ก็ต่ำเตี้ยเรี่ยดินเสียเหลือเกิน แล้วจะทำอย่างไรดีล่ะ? ทางออกของนักลงทุนมือใหม่เริ่มต้นด้วยการลงทุนในกองทุนรวมก็เป็นทางเลือกที่ไม่เลวเลยทีเดียว
เพราะ กองทุนรวม แต่ละกองทุน จะบริหารการลงทุนโดยมืออาชีพที่เรียกว่า “ผู้จัดการกองทุน” คอยบริหารดูแลการลงทุนให้เราเป็นอย่างดีตามนโยบายและวัตถุประสงค์ของแต่ละกองทุน แถมยังมั่นใจได้และน่าเชื่อถือเพราะกว่าจะเป็นกองทุนรวมสักกองทุนได้ ต้องมีการจดทะเบียนอย่างถูกต้องตามกฎหมายต่อหน่วยงาน ก.ล.ต. (สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์) จึงจะสามารถจัดตั้งเป็นกองทุนรวมอย่างถูกต้องได้แถมยังต้องถูกกำกับดูแลให้แต่ละกองทุนรวมดำเนินธุรกิจไปอย่างถูกต้องเสมออีกด้วย ซึ่งจะได้กำไรหรือขาดทุนก็ขึ้นอยู่กับผู้จัดการกองทุนนั่นเองว่าจะสามารถจัดการ เอาเงินที่ระดมทุนมาได้จากนักลงทุนทั้งหลายไปลงทุนแล้วได้ผลกำไรมาเฉลี่ยตอบแทนให้นักลงทุนได้มากน้อยแค่ไหน
#2 | ประโชน์ของกองทุนรวม
การลงทุนแบบ กองทุนรวม นั้นมีข้อดีตรงที่เราสามารถอุ่นใจได้มากกว่าการลงทุนด้วยตัวเอง เพราะมีผู้จัดการกองทุนรวมคอยเฝ้าและทำทุกวิถีทางให้ได้ผลตอบแทนในกองทุนรวมให้ได้สูงที่สุดแล้วข้อดีอีกอย่างหนึ่งของการลงทุนในกองทุนรวมก็คือ แม้คุณจะมีเงินไม่มาก ก็สามารถลงทุนได้ จะลองเป็นหลักร้อยหรือหลักพันบาทก็ไม่มีปัญหา
#3 | เลือกกองทุนอย่างไรให้เหมาะกับเรา?
ถึงแม้การลงทุนในกองทุนรวมจะอุ่นใจได้ระดับหนึ่งเนื่องจากมีมืออาชีพคอยจัดการให้ แต่อย่างที่บอกตั้งแต่ต้นทุกการลงทุนมีความเสี่ยง กองทุนรวมก็เช่นกัน ดังนั้นหน้าที่นักลงทุนอย่างเราก็ต้องเลือกกองทุนที่ดีให้ผลตอบแทนเยอะพอสมควร และมีความเสี่ยงในระดับที่เรายอมรับไหว ซึ่งแต่ละคนแน่นอนว่ายอมรับความเสี่ยงได้แตกต่างกัน เรามาพิจารณากันสักหน่อยดีกว่าว่าปัจจัยอะไรบ้างที่เรามีความสามารถในการรับความเสี่ยงได้มากน้อยแตกต่างกัน
#3.1 | อายุ
แต่ละช่วงวัยจะมีเป้าหมายในการหาเงินที่แตกต่างกันไป เช่น ช่วงอายุ 22 – 30 ปี เป็นช่วงเก็บเงินสร้างเนื้อสร้างตัวเงินเดือน เงินเก็บอาจจะยังไม่มากนัก แต่ยังเป็นวัยแห่งการเรียนรู้ ลองสิ่งใหม่ ๆ ยังไม่มีภาระอะไรต้องดูแลมากนัก และยังมีเวลาหาเงินอีกมาก ก็อาจจะลงทุนไม่มาก แต่อาจจะรับความเสี่ยงได้มากหน่อย หรือช่วงอายุ 50 ปีขึ้นไป เป็นวัยใกล้เกษียรแล้วต้องมีเงินเก็บสำหรับใช้หลังเกษียร และเหลือเวลาในการทำงานหาเงินอีกไม่นานนักเป็นวัยเหมาะกับการลงทุนที่ความเสี่ยงต่ำถ้าไม่ได้ชำนาญจริง ๆ
#3.2 | รายได้
การลงทุนแน่นอนก็ต้องใช้เงิน ซึ่งก็ควรจะเป็นเงินเย็นที่เราแบ่งออกมาต่างหากไม่เดือดร้อนส่วนที่เราต้องใช้จ่ายอยู่เป็นประจำ ดังนั้นจะลงทุนมากหรือน้อยก็ต้องดูให้เหมาะกับเงินที่เรามี เอาแบบไม่ทำให้เราเดือดร้อนหรือต้องกระเบียดเกษียณเงินกินอยู่ใช้จ่ายมากนัก เพราะเอาเงินมาใช้ลงทุนเสียหมด และเรายังต้องตระหนักไว้เสมอว่า อย่างไรการลงทุนก็มีความเสี่ยง ถ้าบังเอิญขาดทุนขึ้นมา เงินส่วนที่หายไปจะกระทบกับเรามากน้อยแค่ไหน ตรงนี้ก็เป็นอีกหนึ่งปัจจัยที่นักลงทุนหน้าใหม่ต้องพิจารณา
#3.3 | อาชีพ
ถ้าคุณเป็นพนักงานเงินเดือนมีอาชีพที่มั่นคงทุกเดือนก็คงสบายหน่อย แต่ถ้าเป็นอาชีพอิสระ เงินที่ได้แต่ละเดือนไม่แน่นอน มากบ้างน้อยบ้างคละเคล้ากันไป การจะแบ่งเงินมาลงทุนเท่าไหร่ก็ต้องคิดหน้าคิดหลังให้ดี เพราะการลงทุนกับกองทุนรวม แม้ว่าจะขายคืนได้ แต่บางกองทุนก็มีระยะเวลาที่จะต้องถืออย่างน้อยกี่เดือน หรือขายวันนี้ต้องรออีก 3 วันจึงจะได้เงิน ถ้าคุณมีอาชีพที่มีเงินไม่แน่นอน และเกิดเหตุฉุกเฉินขึ้นมา ก็อาจจะทำให้เดือดร้อนได้ต้องระวังให้มาก
#3.4 | นิสัยความกล้าได้กล้าเสีย
ความเสี่ยงและการลงทุนเป็นของคู่กัน โดยส่วนใหญ่แล้วยิ่งผลตอบแทนมากความเสี่ยงก็ยิ่งมากเป็นเงาตามตัว คุณลองถามใจตัวเองก่อนลงทุนดูอีกครั้ง พิจารณาปัจจัยต่าง ๆ รวมกันและลองคิดดูว่า ถ้าการลงทุนครั้งนั้น ใน 1 ปี มีโอกาสได้กำไรซัก 20% แต่ถ้าเลวร้ายที่สุด ก็อาจขาดทุน 10% เลย คุณรับได้ไหม ถ้ารับได้ ก็แสดงว่าคุณรับความเสี่ยงสูงได้ แต่ถ้ามีโอกาสกำไร 10% แต่ถ้าขาดทุนก็เต็มที่ประมาณ 5% คุณก็ยังรับไหวก็เป็นความเสี่ยงที่รับได้ในระดับปานกลาง แต่ถ้าบางคนบอกว่า ไม่ต้องกำไรเยอะมากมายนักก็ได้ ขอไม่ขาดทุนก็พอ ขอกำไรสัก 5% ก็พอใจแล้ว แสดงว่าคุณรับความเสี่ยงต่ำได้เท่านั้น
ซึ่งปกติแล้ววัดความสามารถในการรับความเสี่ยงของนักลงทุน สามารถทำแบบทดสอบบนเว็บของ ตลท. (ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย : SET) ได้ตามลิงค์ต่อไปนี้ เมื่อทำเสร็จจะมีการประเมินและแนะนำให้คุณเรียบร้อยว่าคุณน่าจะยอมรับความเสี่ยงได้มากน้อยแค่ไหนเพราะเหตุใด และควรจะจัดสัดส่วนรายได้ของคุณสำหรับการลงทุนอย่างไร รวมถึงควรลงทุนในอะไรบ้างให้คุณเข้าใจตัวเองและเป็นแนวทางในการเลือกลงทุนได้อย่างมีหลักการ
#4 | เลือกกองทุนรวมอย่างไรให้ได้กำไร?
หลังจากที่เราวิเคราะห์ตัวเองเรียบร้อยแล้วว่ารับความเสี่ยงได้มากหรือน้อย และควรจะกันเงินไว้เท่าไหร่ดีให้การลงทุนของเราสมดุล ไม่เดือดร้อน ทีนี้ปัญหาต่อไปก็คือ … แล้วเราจะลงทุนกองทุนรวมไหนดีล่ะ ในตลาดตอนนี้มีเยอะแยะมากมายไปหมด เลือกไม่ถูกเลย ถ้าตอบแบบกำป้นทุบดิน ก็คงจะต้องต้องตอบว่า ก็เลือก กองทุน ที่ทำกำไรให้เราเยอะที่สุดไงล่ะ ส่วนเรื่องที่ว่าแล้วเราจะรู้ได้อย่างไรว่า กองทุน ไหนทำกำไรได้เยอะหรือน้อยในปีที่ผ่านมา เขาจะดูกันที่ค่า NAV (Net Asset Value; มูลค่าทรัพย์สินสุทธิ) ของแต่ละกองทุน
NAV = (มูลค่าทรัพย์สินตามราคาตลาด + ผลตอบแทนสะสม + เงินสด) – ค่าใช้จ่ายต่าง ๆ และหนี้สินของกองทุนรวม
ดังนั้นยิ่งกำไร เงินปันผลเยอะ และต้นทุนต่ำ ค่า NAV ก็ยิ่งสูงตอนขายคืนก็เป็นสิ่งที่สะท้อนให้เห็นว่าจากประวัติการลงทุนครั้งก่อน ๆ ที่ผ่านมา กองทุนรวมนั้นได้กำไรสูงตามไปด้วยนั่นเอง โดยที่ปกติแล้วถ้าจะเลือกลงทุนกับกองทุนรวมไหน นักลงทุนก็มักจะเปรียบเทียบผลการดำเนินการย้อนหลัง โดยอาจจะดู 3 เดือน 6 เดือน 1 ปี 3 ปี 5 ปี ย้อนหลัง หรือใครอยากดูยาวไปอีก ก็ดูตั้งแต่จัดตั้งกองทุนขึ้นมาเลยก็ได้ เอาตัวเลขมาวิเคราะห์ดูว่า ผลกำไรระยะสั้น ระยะยาว กองทุนที่เราสนใจอยู่มีความสม่ำเสมอไหม ส่วนใหญ่ได้กำไรหรือขาดทุน และกำไรหรือขาดทุนมากน้อยแค่ไหน เหมาะกับตัวเราหรือไม่ ซึ่งข้อมูลเหล่านี้ สามารถศึกษาได้จากหนังสือชี้ชวนเสนอขายหน่วยลงทุนของแต่ละกองทุนอยู่แล้ว คุณก็ลองไปเลือกหยิบเอกสารของแต่ละกองทุนมา และนำข้อมูลมานั่งทำการบ้าน นั่งวิเคราะห์เปรียบเทียบกันให้ดี ก่อนจะเอาเงินที่เราอุตส่าห์หามาด้วยน้ำพักน้ำแรง เอาไปให้ใครก็ไม่รู้ลงทุนก็ต้องคิดให้ดี วิเคราะห์ให้รอบด้าน จำไว้เสมอว่า “การลงทุนในกองทุนรวมเป็นการอำนวยความสะดวกให้นักลงทุนเท่านั้น ส่วนหน้าที่และความรับผิดชอบในการตัดสินใจและรับความเสี่ยงยังเป็นของนักลงทุนเช่นเดิม”
เมื่อวิเคราะห์จนถี่ถ้วน มีเงินพร้อมจะเริ่มต้นลงทุนแล้วก็อย่ารอช้าติดต่อเปิดบัญชีและเริ่มซื้อหน่วยลงทุนตามที่คุณต้องการได้เลย ขั้นตอนก็ไม่ยุ่งยาก เข้าไปติดต่อที่เคาท์เตอร์ แล้วยื่นเอกสารต่าง ๆ ตามที่เจ้าหน้าที่บอก ได้แก่ สำเนาบัตรประชาชน, สำเนาทะเบียนบ้าน, สำเนาบัญชีเงินฝากของธนาคารที่เป็นตัวแทนขายกองทุนนั้น ๆ เมื่อเปิดบัญชีซื้อขายหน่วยลงทุนแล้ว สมัยนี้ยิ่งซื้อขายหน่วยลงทุนกองทุนรวมง่ายขึ้นไปอีก โดยทำผ่าน Application ในมือถือก็ยังได้ จะซื้อจะขายฉับไวทันใจเพียงแค่ปลายนิ้วสัมผัส