เปิดใจพ่อค้าขนม โตเกียว ที่มีสไตล์ที่สุดในย่านอารีย์

ถ้าคุณเคยใช้ชีวิตย่าน BTS อารีย์ คุณคงต้องเคยเห็นร้าน ” โตเกียว ” ตรงทางขึ้นบันไดเลื่อนฝั่ง La Villa ร้านโตเกียวที่พนักงานออฟฟิศย่านนี้ต่างติดใจ ทำให้ช่วงเที่ยงๆหรือบ่ายๆนั้น เรียกได้ว่าทำไม่ทันกันเลยทีเดียว แต่หลังจากเกิดการจัดระเบียบทางเท้าใหม่ในตอนนี้ ร้านโตเกียวร้านนี้จะเป็นอย่างไร

วันนี้ Mover จึงขอพาผู้อ่านทุกคนมาพบกับบทสัมภาษณ์ของคุณ วิศรุต มีชัย หรือ อาบัง เจ้าของร้าน โตเกียว ที่มีสไตล์ที่สุดในย่านอารีย์และพหลโยธิน ด้วยแป้งบางกรอบและไส้ต่างๆที่เต็มเปี่ยมไปด้วยคุณภาพ คุ้มค่าคุ้มราคามากจริงๆครับ ไม่ว่าจะเป็นไส้ใข่ ไส้กรอก และไส้หวาน บวกกับสไตล์การแต่งตัวที่พนักงานออฟฟิศบางคนยังต้องยอมแพ้ เพราะดูดีมีสไตล์เกินกว่าคนขายโตเกียวทั่วไป พร้อมเปิดใจทั้งเรื่อง Marketing และ Style การใช้ชีวิต การแต่งตัว รวมถึงแง่มุมต่างๆอีกมากมายในการทำงานและใช้ชีวิตที่คุณอาจไม่เคยรู้มาก่อน

THE BEGINNING OF TOKYO MAN

ต้องบอกว่าผมเป็นลูกค้าประจำอยู่นานสำหรับโตเกียวเจ้าดังย่านอารีย์ แต่หลังจากมีข่าวการจัดระเบียบทางเท้าอย่างจริงจังเมื่ออาทิตย์ที่แล้ว ร้านโตเกียวในตำนานของผมก็ได้หายไปอย่างไร้ร่องรอย จนเวลาผ่านเลยไปสามวัน ขณะกำลังออกไปกินข้าวกลางวัน ผมก็เหลือบไปเห็นรถเข็นที่คุ้นเคย นั่นก็คือพี่โตเกียวเจ้าประจำนั่นเอง จึงได้มีโอกาสเชิญมาพูดคุยและสอบถามเกี่ยวกับเรื่องราวต่างๆของพี่อาบัง ตั้งแต่เริ่มต้นอาชีพขายโตเกียว จนถึงเหตุการณ์หลังการจัดระเบียบทางเท้าที่เกิดขึ้นเมื่อเร็วๆนี้

 Mover  ทำไมพี่ถึงมาขายโตเกียวล่ะครับ?

พอผมเรียนจบม.6 ผมก็ลองไปสมัครงานโรงงานแถวชลบุรีดู ก็ทำไปได้ปีกว่า แต่ช่วงปี 49 กับ 50 เศรษฐกิจมันไม่ค่อยจะดีครับ ก็เลยตัดสินใจลองเข้ามาหาญาติที่กรุงเทพดู เผื่อจะมีงานให้ทำ ญาติๆก็เลยแนะนำให้ลองขายโตเกียวดูครับ จริงๆมันเริ่มมาจากเครือญาติครับ คือที่บ้านผมที่ต่างจังหวัดเขาซื้อสูตรมาทำขายกันครับ

ฟังดูเหมือนง่าย แต่มันไม่ได้จบแค่ทำตามสูตรที่ซื้อมาหรอกนะครับ เพราะพี่อาบังได้ปรับสูตรให้ลงตัวกับที่ลูกค้าชอบ โดยการสังเกตจากที่ลูกค้าสั่งเพราะส่วนใหญ่จะสั่งแบบกรอบๆ ก็ปรับปรุงกันมาเรื่อยๆ  นอกจากนั้นไส้ต่างๆพี่โตเกียวคนนี้ก็ทำเองเช่นกัน ซื้อหมูสับมาผัดกับซอสและกระเทียมเอง ไส้หวานก็ทำเองทั้งหมด ทำให้รสชาติของโตเกียวร้านนี้อร่อยไม่เหมือนใคร

และเมื่อถามว่าทำไมถึงไม่ขายแถวบ้านจะได้เดินทางสะดวก เพราะพี่แกก็มีบ้านอยู่ที่ต่างจังหวัด พี่อาบังแกก็ให้เหตุผลว่า “แถวบ้านผมมีคนขายโตเกียวเยอะเหมือนรถเมล์สาย 8 เลยครับ” จึงเป็นสาเหตุให้ต้องมาขายไกลถึงย่านอารีย์

THE SECRET LIFE OF TOKYO MAN

อีกหนึ่งสิ่งที่สงสัยมาตั้งแต่เด็กคือ ทำโตเกียวยากรึเปล่า? พี่อาบังเล่าให้ฟังว่า เขาต้องฝึกอยู่นาน แรกๆจะต้องตามญาติที่ขายอยู่ก่อนแล้วไปขายด้วยไปลองทำในช่วงที่ลูกค้าไม่เยอะ และได้แผลกลับบ้านไปทุกวัน

 Mover   แล้วพี่ฝึกนานไหมครับกว่าจะทำให้คล่องขนาดนี้?

ใช้เวลาเป็นปีครับกว่าจะทำได้ ทำโตเกียวก็เหมือนเล่นกีต้าร์ล่ะครับ ต้องอดทนและฝึกฝน เพราะว่ามันไม่ใช่แค่หมุนให้เป็นวงกลม แต่มันต้องคุมไฟ ต้องทำอะไรหลายๆอย่างไปพร้อมกัน โดยเฉพาะการคุมไฟเป็นเรื่องสำคัญมากครับ เพราะถ้าไฟแรงไปก็ไหม้ ถ้าเบาไปก็ไม่สุกลูกค้าก็รอนาน เป็นเรื่องสำคัญมากๆ

เห็นไหมครับว่ากว่าจะมาเป็นร้านโตเกียวเจ้าถิ่นในย่านอารีย์ไม่ง่ายเลย แต่ก็เป็นการลงทุนที่คุ้มค่าเพราะทุกวันนี้ ในช่วงเที่ยงและบ่ายซึ่งเป็นเวลาพักของพนักงานออฟฟิศย่านอารีย์ พี่อาบังขายโตเกียวได้มากถึง 200 ชิ้น ต่อชั่วโมงเลยทีเดียว  เรียกได้ว่าเกิดมาเพื่อเป็นคนขายโตเกียวจริงๆ

 Mover แล้วพี่คิดว่าพี่จะขายโตเกียวไปอีกนานแค่ไหนครับ?

ถ้าไม่โดนให้ย้ายที่ขายผมก็คิดว่าจะขายไปอีกสัก 10 ปี แต่พอมีเรื่องจัดระเบียบขึ้นมาผมก็เริ่มคิดว่าอาจจะไม่ถึง 10 ปีแล้ว ผมคงรอจังหวะหาลู่ทางที่จะไปต่อได้ อาจจะเป็นค้าขายอย่างอื่น แต่คงจะเป็นที่บ้านที่อำนาญเจริญ แต่จะเป็นอะไรก็ยังตอบไม่ได้ครับ ก็ดูๆไปก่อน อาจจะสัก 5 – 6 ปีจากนี้ เพราะผมยังมีภาระหนี้สินต้องจัดการอยู่

ราคาก็เป็นอีกหนึ่งสิ่งสำคัญต่อการขายของ เพราะผมเคยเจอร้านแถวมหาวิทยาลัย ขายชิ้นเล็กอันละ 7 บาท ซื้อไม่ลงเลยจริงๆ แต่สำหรับโตเกียวร้านนี้ ราคาเริ่มต้นที่ 3 บาทเท่านั้น และแพงสุดที่ราคา 10 บาทสำหรับอันใหญ่ และต้องบอกเลยว่าร้านนี้ขายมาตั้งแต่ราคาอันละ 1 บาท 9 ปีที่ผ่านมามีการปรับราคามา 3 รอบเท่านั้น ส่วนที่ว่าทำไมที่อื่นถึงขายแพง พี่อาบังให้เหตุผลว่ามันแล้วแต่ทำเล เพราะว่าทำเลทองค่าที่ก็จะแพง หรือบางที่เขาอาจจะไม่มีคู่แข่ง คนซื้อไม่มีทางเลือก เขาก็ขายราคานั้นได้ ซึ่งคนซื้ออย่างเราๆคงต้องทำใจยอมรับราคากันต่อไป

พี่อาบังยังบอกอีกว่า สมัยที่ขายอันละบาทก็โดนคนดูถูกมาตลอด มาถามว่าเมื่อไหร่จะรวย เมื่อไหร่จะมีเงินเก็บ แต่พี่อาบังก็ไม่อยากขึ้นราคาหรือว่าลดปริมาณและคุณภาพของโตเกียวที่ร้านเพราะว่าไม่อยากเอาเปรียบคนซื้อ

เทคนิคอีกอย่างที่พ่อค้าทุกคนต้องมีคือความจำ ลูกค้าคนไหนสั่งอะไร ใครมาก่อนใครมาหลัง ต้องจำให้ได้ทั้งหมด พี่อาบังเล่าให้ฟังว่า ลูกค้าส่วนใหญ่เขาก็จะรู้คิวของตัวเอง เพราะพี่เขาก็จะบอกลูกค้าใหม่ตลอดว่ามีกี่คิวก่อนหน้าเขา ส่วนมากลูกค้าก็จะกะเวลาได้ ก็จะไปทำอย่างอื่นก่อนแล้วค่อยเดินกลับมาเอา หรือว่าบางคนก็อาจจะตัดสินใจได้ว่าจะรอหรือไม่รอดี แต่ส่วนใหญ่ก็จะรอเพราะที่ร้านไม่ได้ใช้เวลานานมากในการทำ ส่วนใครสั่งอะไรกี่ชิ้น พี่อาบังบอกว่า มันขึ้นอยู่กับประสบการณ์กับสมาธิ แรกๆก็ต้องถามลูกค้าบ่อยๆ เพื่อความแน่นอน แต่พอทำมาสักพักก็จะจำได้ดีขึ้นเอง

THE OTHER SIDE OF TOKYO MAN

เห็นว่าพี่เขาขายโตเกียวเกือบทุกวันแบบนี้ พี่เขาก็มีวันพักผ่อนนะครับ บางทีก็ไปเดินสวนรถไฟบ้าง แต่ส่วนมากพี่เขาจะไปไหว้พระ ทั้งวัดในกรุงเทพและต่างจังหวัด พี่อาบังไปหมด แถมโตเกียวแมนคนนี้ยังแต่งตัววัยรุ่นและฮิปเตอร์สุดๆ

 Mover  สมัยวัยรุ่นพี่คงแต่งตัวแนวสุดๆเลยใช่ไหมครับ?

ผมก็ยังไม่แก่นะครับ (หัวเราะ) จริงๆผมเคยใส่นะครับ พวก Taywin Adidas และ Onitsuka Tiger แต่ใส่มาขายของแล้วมันพัง ผมเลยเปลี่ยนมาใส่รองเท้าธรรมดาแทนครับ

พี่อาบังยังบอกอีกว่าพี่แกก็ไม่ได้มีสไตล์หรืออะไรมากมาย คิดแค่ว่าจะมาขายของ ถ้าแต่งตัวให้มันเรียบร้อยสักนิดก็คงดี เมื่อก่อนผมจำได้ว่าเคยเห็นพี่เขาใส่เอี๊ยมด้วยนะครับ เท่สุดๆ

THE CRISIS OF STREET FOOD

ดูเหมือนว่าชีวิตการขายโตเกียวของพี่อาบังจะประสบความสำเร็จ แต่ว่าจริงๆแล้ว วิกฤติเศรษฐกิจรวมถึงเหตุการณ์ต่างๆที่เกิดขึ้นขณะนี้ก็ส่งผมต่อร้านโตเกียวในตำนานแห่งนี้ไม่ต่างจากร้านอื่นๆเลย แต่พี่เขาก็ปรับตัวจนสามารถอยู่ได้จนถึงทุกวันนี้

 Mover   เศรษฐกิจช่วงนี้ก็ไม่ค่อยดี พี่ได้รับผลกระทบอะไรบ้างไหมครับ?

ก็ตามสภาพแหละครับ เมื่อก่อนผมขายดีมาก อยู่หน้าโรงเรียนขายได้เป็นพัน แต่มันก็เป็นเรื่องของพฤติกรรมลูกค้าด้วย เด็กรุ่นใหม่ไม่ค่อยกินกันแล้วครับ หรือบางทีผู้ปกครองเด็กก็รีบกลับ ไม่ก็อยากให้ลูกกินข้าวมากกว่า ไม่เหมือนสมัยก่อน พ่อแม่เด็กรู้ว่าหน้าโรงเรียนมีขายโตเกียวก็จะซื้อไว้รอลูก เด็กๆสมัยก่อนก็ชอบ แต่สมัยนี้ผมว่าเด็กๆติดขนมขบเคี้ยวมากกว่า

ถึงยอดขายที่ร้านจะลดลง แต่พี่อาบังก็ยังคงขายราคาเดิมในปริมาณที่เท่าเดิม ไม่มีอะไรแตกต่างจากเมื่อก่อน พี่อาบังบอกว่าเคยคิดจะเพิ่มไส้ให้หลากหลายมากขึ้น แต่ก็กลัวว่าจะขายไม่หมด ถ้าเหลือก็จะเป็นภาระเพราะมันเก็บไม่ได้นาน จากที่จะได้กำไรก็อาจจะเป็นติดลบ ส่วนเรื่องการจัดระเบียบทางเท้าที่เป็นประเด็นอยู่ในขณะนี้ พี่อาบังก็แสดงความคิดเห็นว่า อยากให้ไปจัดการคนที่เห็นแก่ได้มากกว่า คนไม่ดีมันก็มีอยู่ทุกที่ พวกที่เห็นแก่ตัว ชอบล้ำเส้น มันก็มีไม่ใช่ไม่มี แต่เปอร์เซ็นต์คนดีมันมีมากกว่าเลยอยากให้จัดการตรงนี้มากกว่า และพี่เขาก็ไม่ได้ดื้อดึงที่จะขายต่อนะครับ เพราะเมื่อขายที่เดิมไม่ได้ พี่เขาก็ปรับตัวรับกับสถานการณ์ได้ดีพอสมควร

 Mover   แล้วหลังจากที่โดนจัดระเบียบไป พี่มีวิธีการปรับตัวอย่างไรบ้างครับ?

ปกติผมจะเข้าไปขายหน้าโรงเรียนแค่วันหรือสองวัน แต่ตอนนี้ก็เปลี่ยนมาเป็นทุกวันเพราะเด็กๆก็ ก่อนที่โรงเรียนจะเลิกผมก็เข็นขายในซอยแถวนี้วนไปเรื่อยๆ ก็พอขายได้อยู่ครับ ค่อยๆปรับกันไป

สุดท้ายนี้ พี่อาบังก็ยังฝากถึงทุกคนที่อยากจะเริ่มต้นทำธุรกิจว่า อยากทำอะไรก็ให้ลงมือทำเลย เพราะตอนแรกพี่เขาก็ไม่ได้ทำโตเกียวได้ดีขนาดนี้ กว่าจะหมุนแป้งได้ มือไหม้มือพองไปก็นาน แต่ทำอะไรก็ต้องใช้ความอดทน ต้องกล้าที่จะลอง และสิ่งสำคัญก็ต้องมีทุนนี่แหละครับ ประกอบกันถึงจะประสบความสำเร็จได้ในโลกยุคนี้

ไม่ธรรมดาเลยใช่ไหมล่ะครับทั้งมุมมองเรื่องธุรกิจหรือการใช้ชีวิตของคนขายโตเกียวร้านนี้ สำหรับใครที่สนใจอยากจะทดสอบรสชาติของโตเกียวสุดแนวร้านนี้ ติดต่อได้ที่เบอร์ 084-830 -6019 แต่ว่าต้องขอสงวนสิทธิ์ไว้สำหรับผู้ที่อาศัยอยู่ในย่าน BTS อารีย์ พหลโยธินซอย 4 และ 6 เท่านั้นนะครับ


บทความนี้เรียบเรียงขึ้นโดย ทีมงาน MOVER

mover.in.th@gmail.com


บทความนี้เรียบเรียงขึ้นโดย ทีมงาน MOVER

mover.in.th@gmail.com