“Ars longa, vita brevis” “ศิลปะยืนยาว ชีวิตสั้น” หลาย ๆ คนคงจะเคยได้ยินประโยคนี้กันมาแล้ว และจะดีแค่ไหนหากเราทำให้ตัวเราและศิลปะเติบโตไปพร้อม ๆ กันได้?
‘รอยสัก’ เองก็เป็นศิลปะที่มีความเป็นมาอย่างยาวนาน ซึ่งเสน่ห์ของศิลปะประเภทนี้อยู่ตรงที่ ตัวเรานั่นแหละคือ Canvas ชั้นเลิศ ทุกลวดลายอันมีที่มา จะเติบโตไปพร้อมผู้สัก พร้อมบอกเล่าความเป็นตัวตนได้เป็นอย่างดี
หลาย ๆ คนอาจกำลังคิดไม่ตก ใจก็อยากสักแต่ไม่รู้จะสักอะไรดี เลือกลายไม่ถูกบ้าง กลัวจะเบื่อบ้าง วันนี้ Mover จึงมานำเสนอ 13 ประเภท ‘รอยสัก’ แบบจัดเต็ม ใครที่สนใจจะจะแต่งเติมเรื่องราวผ่านรอยหมึกเหล่านี้ห้ามพลาดเด็ดขาด!
#1 Tribal
เริ่มต้นกันด้วย ‘Tribal Tattoo’ หรือ รอยสัก สไตล์ชนเผ่า ที่ได้ชื่อว่าเป็นรอยสักที่เก่าแก่ที่สุดในประวัติศาสตร์ เชื่อกันว่ามีจุดกำเนิดมาจากชาวโพลีนีเซียน หรือชนเผ่าที่อาศัยอยู่ตามหมู่เกาะ เช่น Tahiti, Samoa, Hawaii, New Zealand เป็นต้น
ซึ่งลวดลายของรอยสักแบบ Trible นี้เน้นไปที่วัฒนธรรมความเป็นมาของแต่ละชนเผ่า ธรรมชาติ บอกเล่าสถานะทางสังคม หรือสักไว้ปกป้องคุ้มครองตัวเอง เช่น รอยสัก แบบ Samoa เส้นใหญ่ เน้นไปที่การบอกเล่าความอดทน เพราะการสักนั้นเจ็บมาก เนื่อจากใช้ฟันของสัตว์แทนเข็ม ผู้สักต้องค่อย ๆ ตอกลงบนผิวหนัง แถมต้องสักให้เสร็จภายในครั้งเดียวอีกด้วย
“รอยสักแบบ Moari จะเน้นไปที่พระอาทิตย์ หรือความอุดมสมบูรณ์”
“รอยสักแบบ Hawaii จะเน้นไปที่รูปเต่า ดอกไม้ และรูปทรงของคลื่น”
ปัจจุบันนี้เกิดเป็นรอยสักที่เรียกว่า Modern Tribal Tattoo ซึ่งเกิดจากการดัดแปลง Tribal Tattoo นั่นเอง
#2 Celtic
พูดถึงรอยสักจากชนเผ่าต่าง ๆ ไปแล้ว จะไม่พูดถึง ‘Celtic’ ก็คงไม่ได้ เพราะมันเป็นที่นิยมเอามาก ๆ และเชื่อว่าเราต่างก็คุ้นเคยกันดีสำหรับ ‘Celtic Arm Band’ รอยสักที่นิยมสักบริเวณรอบแขนหรือขา แต่จริง ๆ แล้วรอยสักที่ส่งตรงมาจากฝั่งหมู่เกาะอังกฤษประเภทนี้มีอะไรมากกว่านั้น
โดยรูปทรง Celtic เป็นลายสักเกลียวประสานไขว้ซ้อนกันของนักรบโบราณ มีความหมายถึงการส่งสาร และการเดินทางระหว่างโลกและสวรรค์ แถมยังเป็นเครื่องหมายไว้อาลัยบนหลุมศพของนักรบด้วย ใครอยากดูเท่ ห้าวหาญอย่างนักรบ อย่าลืมเลือกรอยสัก Celtic ล่ะ
#3 Old School / American Traditonal
เรียกได้ว่าเป็นรอยสักคลาสสิคกันเลยทีเดียวสำหรับ Old School เพราะมีความเป็นมาตั้งแต่ยุคเดินเรือ ช่วงต้นศตวรรษที่ 20 เน้นภาพ 2 มิติ ลายเส้นใหญ่ ชัด ไม่ซับซ้อน และใช้สีน้อย โดยลวดลายกล่าวถึงชีวิตบนเรือของกลาสี ทหาร ความรัก วัฒนธรรมหรือสถานที่แปลกใหม่ที่ไปพบเจอ และสิ่งต่าง ๆ ล้วนมีความหมายลึกซึ้งทั้งสิ้น เช่น สมอเรือ หมายถึง เครื่องยึดเหนี่ยวจิตใจ , นกนางแอ่น หมายถึง การหวนคืน , หัวกระโหลกหรือความตาย หมายถึง ความไม่แน่นอนในทะเล
#4 New School
มี Old School ก็ต้องมี New School ซึ่งไม่ได้มีความเกี่ยวข้องกันเลยกับชีวิตกะลาสี หรือความรัก โดยรอยสักจะมีรูปทรงทันสมัยขึ้น การ์ตูนวาดได้หลายสไตล์ 3 มิติ ดูมีความ extreme และแน่นอน ใช้สีสันมากมายและฉูดฉาด
#5 Realistic
ตามชื่อเลยครับ กับรอยสักที่ ‘เหมือนจริง’ จนหลอกเราให้เชื่อได้เลยว่านั่นน่ะไม่ใช่แค่รอยสัก แต่เป็นสิ่งที่ ‘ผิว’ ของคุณเป็นอยู่แล้วจริง ๆ โดยคุณสามารถนำรูปอะไรก็ได้ไปให้ช่างสักเขารังสรรออกมาได้เลย แต่เลือกช่างสักดี ๆ นะครับ อย่าสนที่ราคาถูก ไม่งั้นอาจผิดหวังได้ เพราะของแบบนี้ต้องใช้ประสปการณ์และความชำนาญมากทีเดียว
#6 Irezumi
‘Irezumi’ หรือรอยสักแบบญี่ปุ่นที่เราคุ้นเคยกันดีจากเรื่องยากุซ่านั่นแหละครับ โดยลวดลายที่เรามักพบกันก็เช่น ปลาคาร์ฟ สายน้ำ ดอกซากุระ ซามูไร หน้ากาก และภูตผีต่าง ๆ ซึ่งจริง ๆ แล้วรอยสักนี้เป็นรอยสักเชิงศิลปะ มีคุณค่าทางจิตวิญญาณและเป็นตัวบ่งบอกสถานะ แต่ดันถูก stereotype ซะใหม่ กลับกลายเป็นสัญลักษณ์แห่งการลงโทษและอาชญากรในญี่ปุ่นไปซะได้
เทคนิคการสักของญี่ปุ่นก็ง่าย ๆ ครับ คล้ายกับเทคนิคการทำภาพพิมพ์ของญี่ปุ่นครับ ใช้อุปกรณ์แกะสลัก กับหมึก Nara ink ที่สามารถเปลี่ยนเป็นสีฟ้าอมเขียวได้เมื่ออยู่ใต้ผิวหนัง โดยถ้าสักด้วยวิธีดั้งเดิมจะเจ็บมาก แถมใช้เวลานานเป็นปี ๆ และใช้เงินเยอะด้วยครับ เห็นไหม ง่ายสุด ๆ !
#7 Thai
การสักยันต์ในประเทศไทยมีมาตั้งแต่สมัยโบราณ ผู้ชายสมัยก่อนจะสักยันต์ด้วยเหตุผลทางเวทมนต์คาถาเพื่อความแข็งแกร่งของจิตใจและความอยู่ยงคงกระพัน แต่จริง ๆ จะเรียกว่าเป็น Thai Tattoo เลยก็คงจะไม่ถูกต้องนัก เพราะการสักยันต์นั้นมีต้นกำเนิดมาจากประเทศกัมพูชา ภาษาขอมในการลงคาถา ส่วนยันต์ที่เราคุ้นเคยกันก็เช่น ยันต์เก้ายอด ยันต์ห้าแถว เป็นต้น
#8 Geometric
รอยสักประเภทรูปทรงพริ้ว ๆ ผ่านไปแล้ว ก็ถึงคิวของรอยสักแบบมินิมอลอย่าง ‘Geometric’ กันบ้าง โดยรอยสักชนิดนี้เน้นความเรียบง่ายเป็นหลักและโดยมากใช้หมึกสีดำ ใช้รูปทรงเรขาคณิต ขีด จุด และลายเส้นแบบต่าง ๆ มาประกอบกันเป็นลวดลาย
#9 Quote
เดี๋ยวนี้หันไปทางไหนก็เจอแต่ Quote หรือคำคมคูล ๆ เต็มโซเชี่ยลไปหมด ยอดไลค์ยอดแชร์พุ่งทั้งในอินสตาแกรมและเฟซบุ๊ค นี่เลยเป็นอีกหนึ่งรอยสักที่สาวกมินิมอลห้ามพลาด เพราะสามารถบ่งบอกความเป็นตัวเองผ่านตัวอักษรที่สักลงบนร่างกายได้อย่างสวยงาม
หลาย ๆ คนเลือกรอยสักประเภทนี้มาประดับตัวเพราะสามารถอธิบายถึงตัวตนได้ในประโยคสั้น ๆ และความสะอาดตาของ Quote ก็เป็นจุดเด่นสำคัญ อีกทั้งเรายังสามารถสนุกกับการเลือกฟ้อนท์ การจัดวาง หรือบางคนอาจใส่รูปประกอบเพิ่มอีกด้วย
#10 Pattern
ถ้าพูดถึงรอยสักแบบ Pattern พูดง่าย ๆ คือให้นึกถึงลาย Henna แบบอินเดียนั่นแหละครับ ซึ่งลวดลายก็จะมีความสมมาตร ชดช้อย โดยสามารถต่อเติมลายสักไปเรื่อย ๆ ได้เหมือน Henna เลย
“ลาย Mandala หรือ Tibetan Tattoo”
#11 Blackout
เป็นรอยสักที่เน้นการถมสีดำลงบนพื้นที่ขนาดใหญ่ เช่น หัวไหล่ แขน อก หรือแผ่นหลัง โดยจะใช้รูปทรงหลากหลายผสมกับการถมดำ แล้วแต่สไตล์ของตัวคนที่สัก เช่น ใครชอบแบบถมดำเพียว ๆ อาจจะสักแบบ Band รอบแขนหรือขา หรือเลือกผสมลายอื่น ๆ เช่น Geometric
#12 Watercolor
เป็นเทรนด์ใหม่ที่น่าจับตามองมาก ๆ สำหรับการสักที่ได้แรงบันดาลใจมาจากการกระจายตัวของสีน้ำ โดยช่างที่สักออกมาได้สวยเนี่ยต้องมีชั่วโมงบินสูงพอดู แค่ลงสีน้ำกับพู่กันว่ายากแล้ว พอมาเป็นรอยสักนี่ เทียบระดับความยากกันไม่ติดเลย
#13 African / Scarification
ข้อนี้เป็นข้อแถมครับ แต่จะเรืยกว่าเป็นรอยสักก็ไม่ถูกต้องซะทีเดียว เพราะ ‘African tattoo’ นี่คือศิลปะแห่งการสร้างลวดลาย ‘นูนต่ำ’ ลงบนผิวกายโดยปราศจากสีสัน ซึ่งสามารถบอกถึงความอดทน สถานะ และชนเผ่าของตัวเอง โดยจะทำการสักโดยการใช้วัตถุปลายแหลมกรีดผิวหนังเพื่อให้เกิดเป็นคีลอยด์ โดยผู้ชายจะนิยมสักเพื่อบ่งบอกว่าเขาได้เข้าสู่ความเป็นชายหนุ่มโดยสมบูรณ์แล้วนั่นเอง
ปัจจุบันรอยสักประเภทนี้กำลังเป็นที่นิยมสำหรับสายโหดที่ต้องการรอยสักที่แตกต่างจากคนทั่วไป โดยเปลี่ยนเป็นการเลาะหนังออกเพื่อสร้างลวดลายต่าง ๆ เจ็บหน่อยแต่รับรองแผลหายออกมาแล้วสวยคุ้มเจ็บแน่นอน
จบลงไปแล้วสำหรับสไตล์และไอเดียรอยสักทั้ง 13 ประเภทที่ Mover หวังว่าจะเป็นแรงบันดานใจให้หลายคนออกไปสักตามที่ฝันกันซักที ทุกวันนี้ยังมีหลายคนในสังคมเราที่ยังเหมารวมว่าคนมีรอยสักเป็นคนไม่ดี และมีอีกหลายองค์กรที่ไม่อนุญาติให้ผู้มีรอยสักเข้าร่วม แต่ถ้ามองว่านี่คือศิลปะ และเปิดใจมองตัวตนของผู้สักแล้ว รับรองว่าคนมีศิลปะประเภทนี้จะเพิ่มขึ้นแน่นอนครับ!
บทความนี้เรียบเรียงขึ้นโดย ทีมงาน MOVER
mover.in.th@gmail.com