“สิ้นเดือนเหมือนสิ้นใจ” คำ ๆ นี้เราเชื่อว่ามนุษย์เงินเดือนทุกคนคงต้องประสบพบเจอกันมาบ้างไม่มากก็น้อย เพราะเมื่อไหร่ก็ตามที่ย่างก้าวเข้าสู่ช่วง 1 สัปดาห์สุดท้ายของเดือนหรือที่สั้น ๆ ว่าช่วง “สิ้นเดือน” นั้นเป็นอันต้องรู้สึกเหมือนโลกใบนี้กำลังจะขาดออกซิเจนในการหล่อเลี้ยงร่ายกาย แต่จะทำอย่างไรล่ะถ้ายังไม่อยากสิ้นใจ MOVER จะพาทุกคนไปเปิดกลยุทธ์ฝ่าวิกฤตสิ้นเดือน มหันตภัยร้ายของชาวออฟฟิศไปด้วยกัน
#1 | วางกลยุทธ์ด้วยสูตร 40 / 40 / 20
เริ่มต้นพิชิต วิกฤติสิ้นเดือน ด้วยการวางกลยุทธ์แบบรุกฆาตซึ่งจะมีสูตรอยู่ว่า แบ่งเป็นค่าใช้จ่ายจำเป็น(40%) ค่าใช้จ่ายประจำวัน(40%) และเงินออม(20%) โดยส่วนแรกที่เป็นค่าใช้จ่ายประจำนั้นจะถูกนำไปใช้จ่ายหนี้ต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็น ค่าบัตรบีทีเอส, ค่าโทรศัพท์, หรือค่าบัตรเครดิตให้เรียบร้อย ในขณะที่ส่วนที่สองจะเป็นส่วนที่เราจะต้องใช้ในการดำเนินชีวิตให้รอดจนถึงเดือนหน้า ซึ่งส่วนนี้แหละที่สำคัญเพราะเราจำเป็นต้องซอยเงินออกเป็นกองย่อย ๆ อีก 4 ส่วน แต่ละส่วนคือเงินที่เราจะใช้ในแต่สัปดาห์ ดังนั้นเราจำเป็นจะต้องรู้ก่อนว่าในแต่ละวันเราใช้เงินเฉลี่ยแล้ววันละกี่บาท และอย่าลืมคิดเผื่อถึงค่าใช้จ่ายในการสังสรรค์หรือให้รางวัลตัวเองรวมอยู่ในนี้ไปด้วยเลย ส่วนเงินก้อนสุดท้ายนั้นเราแนะนำให้เก็บลืมไปเลยครับ อย่าไปแตะต้องมันถ้าไม่จำเป็น เพราะเงินส่วนนี้จะมีประโยชน์ในยามเจ็บป่วยหรือฉุกเฉินในอนาคตได้
#2 | ใครๆก็เป็น MasterChef ได้
บางครั้งเมื่อเรารุกไปแล้วอาจจะเพลี้ยงพล้ำได้ ดังนั้นเราลองปรับมาตั้งรับและเสริมแนวรับให้มั่นคงยิ่งขึ้นในการฝ่าวิกฤตครั้งนี้ด้วยการลองทำอาหารไปกินเองที่ออฟฟิศดูบ้าง ถึงแม้จะเข้าใจได้ว่าบางคนอาจจะทำเป็นแค่มาม่าหรือไข่ดาว แต่ลองดูครับเริ่มจากสิ่งง่าย ๆ เช่นแซนวิสในมื้อเช้า หรือเมนูคลีน ๆ อย่างอกไก่นึ่งกับผักลวกและไข่ต้มก็ช่วยให้อิ่มอร่อยได้ในมื้อเที่ยง ส่วนเครื่องดื่มราคาแพงนั้นก็อาจจะต้องลด ๆ ลงมาบ้าง ไม่ต้องถึงกับเลิกแบบหักดิบ แต่ลดจากทุกวันไปวันเว้นวันก็สามารถประหยัดไปได้อีกหลายบาท แถมช่วยให้ยังไม่ต้องออกไปเดินหาหรือต่อแถวซื้ออาหารให้วุ่นวาย เหงื่อไหลในตอนพักเบรกอีกด้วย
#3 | ป๋าได้ แต่อย่าป๋าบ่อย
บางคนอาจจะชอบเอาใจสาว ๆ ด้วยการทำตัวป๋าซื้อขนมติดไม้ติดมือมาฝากทุกครั้งไป นั่นก็ถือเป็นการทำคะแนนที่ดีครับ แต่สุดท้ายแล้วถ้ามากไปมันก็จะกลายเป็นเราที่ต้องมานั่งหน้าซีดเป็นไก่ต้มต้อนรับฤดูกระเป๋าแห้งตั้งแต่ยังไม่สิ้นเดือนก็เป็นได้ ดังนั้นถ้าไม่อยากให้เจอปัญหานี้บอกเลยว่าคุณต้องงดการอาการใจป๋าลงบ้าง ทำได้แต่อย่าทำบ่อยเป็นดีที่สุดครับ ทั้งนี้ก็ยังรวมถึงพวกนัดปาร์ตี้แฮงค์เอาท์ชาวออฟฟิศด้วยเช่นกัน เอาที่พอดีไม่ต้องถึงเงินออมมาช้เป็นเงินฟุ่มเฟือยจะดีที่สุด
#4 | เปลี่ยนไลฟ์สไตล์พิชิตความอยู่รอด
ต้องพยายามเตือนตัวเองเสมอว่าในแต่ละวันเราใช้เงินไปเท่าไรแล้ว ถ้ามันใกล้ลิมิตกับงบที่เราแบ่งไว้ต่อวันเมื่อไหร่ ก็ควรจะงดซื้อของกินฟุ่มเฟือยได้แล้ว นอกจากจะมีเงินเหลือเก็บแล้วยังดีต่อสุจภาพในระยะยาวอีกด้วย หรือถ้าไม่เหนือบ่ากว่าแรงนั้น ลองปรับวิถีชีวิตบางอย่างเช่น ตอนที่เราทานข้าวกลางวันก็ลองเลือกทานเมนูที่ให้พลังงานหรืออยู่ท้องไว้อย่างข้าวเหนียว เส้นหมี่ขาว หรือกับข้าวจำพวกแกงจืดก็จะช่วยให้เราอิ่มได้นานอยู่เหมือนกัน แต่ถ้าหิวจริง ๆ ลองลองใช้วิธีดื่มน้ำเปล่าดูครับ ช่วยแก้อาการหิวและดีต่อสุขภาพสุด ๆ
#5 | แพลน A B C D
เพราะชีวิตเรานั้นไม่ได้ทางเลือกอยู่แค่ทางเดียว เช่นการเดินทาง บางสถานที่ถ้าไม่ได้ไกลกันมาก ลองเปลี่ยนจากการนั่งรถเป็นการเดินก็จะยิ่งดี เพราะนอกจากจะลดค่าใช้จ่ายในแต่วันลงได้แล้วยังเป็นการออกกำลังกายได้อีกด้วย หรืออย่างแอพพลิเคชั่นในการเรียกรถต่าง ๆ นั้น ปกติแล้วจะมีโปรโมโค้ดออกมาให้เราใช้กันเป็นประจำอยู่แล้ว ก็ลองมาคำนวนดูว่าวิธีไหนจะประหยัดและสะดวกที่สุด หรือถ้าเป็นไปได้ลองวางแผนเรื่องของเวลาเอาไว้ด้วยก็จะดี เช่น ออกจากบ้านเช้าขึ้นกว่าเดิมหรือออกจากออฟฟิศให้ไวขึ้น เพื่อให้เรามีเวลาในการเดินไปยังปลายทางหรือบ้านได้ แต่ยังไงก็ลองใช้ดุลพินิจด้วยนะ ไม่ใช่มีนัดกับลูกค้าแต่ไม่อยากเสียเงินค่าเดินทางเพิ่มเลยเลือกเดินไปแทน แต่ผลคือทั้งไปสายทั้งเหงื่อท่วมตัว แบบนี้ก็อาจจะไม่ไหว
#6 | Promo Code
การใช้ชีวิตสิ้นเดือนในยุคดิจิทัลแบบนี้นั้นอาจไม่ได้น่ากลัวอย่างที่คิด เพราะเดี๋ยวนี้บรรดาร้านค้าร้านอาอาหารต่าง ๆ นั้นจะมีการแจกสิทธิ์พิเศษมากมายอยู่แล้วไม่ว่าจะเป็น Rabit Line Pay ที่สามารถใช้แต้มสะสมมาแลกเป็นขนมเครื่องจากร้านอาหารในห้างได้ หรือแอพพลิเคชั่นอย่าง Now , Line Man, Grab และ Grab food นั้นก็มีโปรโมชั่นออกมาอย่างสม่ำเสมอ ยิ่งถ้าคุณยังไม่เคยลองใช้ เราบอกเลยว่าสิทธิ์ผู้ใช้ครั้งแรกนั้นคุ้มสุด ๆ ยังไม่หมดเพียงเท่านี้ เพราะสิทธิ์จากเครือค่ายโทรศัพท์อย่าง True Black Card, Dtac Reward และ AIS serenade ก็ยังมีดีลเด็ดช่วยให้รอดชีวิตในช่วงสิ้นเดือนแบบนี้ได้เหมือนกัน หรือแม้แต่สถาบันการเงินอย่าง SCB ก็ยังมีสิทธิ์พิเศษสำหรับลูกค้าที่ใช้แอพพลิเคชั่น SCB Easy ด้วย เรียกได้ว่าถ้าลองหากันดี ๆ แล้ว บางวันเราอาจจะไม่ต้องควักเงินสักบาทเดียวเลยก็ได้
#7 | ยิ่งหาได้มาก ยิ่งใช้ได้เยอะ
ถ้าทุกคำแนะนำที่ผ่านมามันยากเกินไปสำหรับการใช้ชีวิตในช่วง “สิ้นเดือน” เมื่อไม่สามารถปรับลดอะไรได้ไปมากกว่านี้อีกแล้ว ทางเดียวที่จะแก้ได้ก็คือต้องหาเงินให้ได้มากตามไปด้วยเช่นกัน อย่างงานฟรีแลนด์เดี๋ยวนี้ก็มีมากมายหลากหลายสายงาน ลองหาสิ่งที่ใช่และสามารถสร้างรายได้อย่างมีความสุข เพื่อให้เกิดบาลานซ์ชีวิตและจำนวนเงินที่เราสามารถใช้ได้อย่างมั่นคง มั่นคั่ง และยั่งยืน วิธีนี้ก็ถือว่าเป็นอะไรที่น่าลองเหมือนกัน