Type to search

Interview

พูดคุยกับ “หลุยส์ ภูมินทร์” ซีอีโอผู้อยู่เบื้องหลังความสำเร็จของ eatigo

Share

โลกปัจจุบันนี้ พฤติกรรมผู้บริโภคก็ได้มีการเปลี่ยนแปลงไปตามกาลเวลาและเทคโนโลยีต่างๆ ที่เข้ามีอิทพลต่อการใช้ชีวิตของเรา ยิ่งเป็นความสะดวกสบายที่มาพร้อมกับโอกาสดีๆ แล้วใครจะไม่คว้าไว้ล่ะ วันนี้ Mover เลยอยากจะพาทุกคนไปรู้จักกับ หลุยส์ ภูมินทร์ ยุวจรัสกุล” ซีอีโอผู้อยู่เบื้องหลังความสำเร็จแอพพลิเคชั่นจองร้านอาหารชื่อดังอันดับหนึ่งในกรุงเทพอย่าง eatigo ซึ่งมาพร้อมกับโปรโมชั่นส่วนลดที่จะทำให้มื้อสำคัญของทุกคนกลายเป็นมื้อสุดประหยัด   

eatigo

1 | อะไรคือจุดเริ่มต้นของการทำแอพ eatigo 

สำหรับ eatigo ก็เปิดมาประมาณ 5 ปีได้ครับ มีผู้ก่อตั้งด้วยกันทั้งหมด 4 คน จากหลายๆ ประเทศ สำหรับตัวผมนั้นเริ่มต้นด้วยการทำงานเกี่ยวกับโรงแรมเช่น Agoda หรือ Booking ที่มันก็ค่อนข้างจะโตในระดับหนึ่งแล้วในตอนนั้น ก็เลยเกิดความคิดที่ว่าเวลาคนไปจองโรงแรมผ่านเว็บเหล่านี้ เขารู้ว่าเขาจะได้ราคาที่ดีกว่าการ walk-in เข้าไป แต่สำหรับร้านอาหารจะจองในเว็บ โทรไปจอง หรือ walk-in เข้าไปก็ไม่ได้มีความแตกต่าง เราก็เลยเกิดความคิดที่ว่าจะจองร้านอาหารยังไงให้ได้ราคาที่ดีกว่าหรือถูกกว่า ก็เลยเป็นจุดเริ่มต้นของเราที่เกิดเป็นส่วนลดของแต่ละร้านค้าให้กับลูกค้า

2 | แล้วคุณหลุยส์คิดว่าอะไรคือสิ่งที่ยากที่สุดในการทำงาน แล้วผ่านมันไปได้อย่างไร

ต้องบอกเลยว่าตั้งแต่เริ่มทำ eatigo มาไม่เคยมีช่วงไหนที่ง่ายเลย เพราะขึ้นชื่อว่าเป็นธุรกิจ start up แล้ว มันก็ต้องมีความยากของมันอยู่ เพราะมันเป็นธุรกิจที่ถ้าทำกัน 100 เจ้าจะประสบความสำเร็จแค่ประมาณ 1-2 เจ้าเท่านั้น เพราะฉะนั้นก็เลยมีความยากตั้งแต่เริ่ม เหมือนกับธุรกิจทั่วๆไป ตั้งแต่เริ่มต้นจนมาถึงทุกวันนี้ประมาณ 5 ปีก็จะมีจุดที่ยากๆ อยู่ตลอด แต่ผมรู้สึกโชคดีที่มีทีมที่ดี ทุกคนมีประสบการณ์ในการทำธุรกิจ ทุกอย่างเลยค่อนข้างราบรื่นไปด้วยดี

eatigo

3 | มีปัญหาที่พบเจอบ่อยๆ ระหว่างการทำงานบ้างไหม

เอาจริงๆ แล้วปัญหาที่เจอบ่อยก็ไม่ต่างกับพวกธุรกิจทั่วๆ ไป ยิ่งเป็น start up แล้วด้วย ก็อย่างที่บอกคือมันก็มีความยากของมัน อย่างช่วงแรกๆ ที่เริ่มทำก็อาจจะเป็นปัญหาเกี่ยวกับเรื่องความรู้ความสามารถของพนักงาน ซึ่งตอนแรกเราก็อยากจะได้พนักงานที่มีความสามารถสูง แต่เราก็ไม่มีงบที่เพียงพอที่จะจ้างเขาได้ทั้งหมด ดังนั้นพอมาถึงจุดนี้ได้ ผมก็ค่อนข้างพอใจกับสิ่งที่เราเป็นวันนี้ อย่างตอนที่เพิ่งเปิด ก็เริ่มที่ไทยเป็นที่แรกและก็มีสาขาที่สิงคโปร์ควบคู่ไปด้วย เราคิดว่าถ้าอยากจะเป็นเบอร์หนึ่งของเอเชีย จะทำแค่ประเทศที่กำลังพัฒนาอย่างเดียวไม่ได้ ต้องทำในประเทศที่พัฒนาแล้วด้วย จนถึงทุกวันนี้ผมก็ได้ขยายไปถึง 6 ประเทศแล้ว ซึ่งก็อยู่ในจุดที่ธุรกิจถูกพิสูจน์แล้วว่าเป็นโปรเจคที่สามารถประสบความสำเร็จในระดับนึงนะ สิ่งที่ตั้งใจและพยายามทำตอนนี้คือให้บริการคลอบคลุมมากกว่า 6 ประเทศ และเราก็อยากจะเป็นเบอร์หนึ่งของเอเชีย

4 | วัฒนธรรมองค์กรของ eatigo เป็นอย่างไร แล้วส่งผลต่อการทำงานมากน้อยแค่ไหน

อย่างที่บอกเราอยู่ในการทำงานยุคใหม่ ไม่ต้องมาเข้างานตรงเวลา ออกงานตรงเวลา อยู่ในยุคที่มันสามารถยืดหยุ่นกันได้ พนักงานสามารถแสดงความคิดเห็นส่วนตัวได้มากขึ้น เพราะว่าการที่จะให้ธุรกิจโตนั้นไม่ใช่การที่เจ้านายจะต้องมาบอกว่าต้องทำอะไรๆบ้าง ทุกอย่างต้องเกิดจากการที่พนักงานคิดได้เอง ส่วนใหญ่วัฒนธรรมของเราคืออยากจะให้ทุกคนเข้าถึงกันได้ ไม่ต้องมีระบบอะไรกันมากเพราะมันจะทำให้ช้า และอีกอย่างก็คือบุคลากรในบริษัทก็มีคนไทยอยู่ 40 เปอร์เซ็นต์ ต่างชาติ 60 เปอร์เซ็นต์ ก็จะได้ฝึกภาษากันไปด้วย

5 | เป้าหมาย ณ ปัจจุบันของ eatigo คืออะไร

แพลนก็คือทำทุกวันนี้ให้ดีที่สุดมากกว่า อย่างล่าสุดที่มี Tripadvisor มาร่วมลงทุนกับเราก็ทำให้เงินลงทุนเพิ่มขึ้น ก็อย่างที่บอกว่าเราอยากจะเป็นเบอร์หนึ่งของเอเชีย ในขณะเดียวกันก็ตั้งเป้าหมายเกี่ยวกับอัตราการเติบโตของบริษัทที่เพิ่มขึ้น 4-7 เท่าทุกปีๆ และก็อยากให้มีบริการของเราในหลายๆ ประเทศให้ได้มากที่สุด นี่ก็คือเป้าหมายที่ดูอยู่ในอนาคตเนื่องจาก start up ทุกอย่างมันเปลี่ยนไปเร็วมากเลย 5 ปี มันเป็นเวลาที่ยากมาก พยายามจะทำแบบปีต่อปีมากกว่า ณ ตอนนี้สำหรับประเทศไทย เราก็ทำได้ค่อนข้างดี

6 | แล้วอะไรเป็นจุดแข็งสำคัญของ eatigo ที่ทำให้เติบโตได้ขนาดนี้

ธุรกิจของเราเป็นบริการจองร้านอาหารพร้อมส่วนลด ซึ่งมันก็สามารถแก้ไขปัญหาให้กับร้านค้าบางร้านที่ช่วงกลางวันอาจจะมีโต๊ะว่าง และส่วนลดพวกนี้ก็ทำให้ลูกค้าสนใจที่จะเข้าไปจองร้านอาหารกันมากขึ้น มันก็เป็นการทำการค้าแบบ win-win situation คือลูกค้าได้ส่วนลด และร้านค้าก็ได้ลูกค้าเข้าร้านมากขึ้น ผมคิดว่าเนี่ยแหละเป็นจุดเด่นของเรา

7 | พูดถึงการที่ Tripadvisor เข้ามาร่วมลงทุนด้วยสักหน่อยว่ามีที่มาอย่างไร

ก่อนหน้านี้เราเป็นบริษัทในเอเชียประเทศแรกที่ Tripadvisor เข้ามาร่วมลงทุน จะสังเกตว่าเขาจะมีธุรกิจอยู่ที่อเมริกา ออสเตรเลีย และยุโรปอยู่แล้วครับ แต่ว่าทวีปที่เขาไม่มีจริงๆ นั่นก็คือเอเชีย เขาอยากจะลงทุนในบริษัทที่เหมือนเป็นเรือธงสามารถนำพาธุรกิจของเขามาครอบคลุมเอเชียได้ คล้ายๆ เรือธงที่เขาจะเชื่อและสามารถนำธุรกิจของเขามาครอบคลุมในเอเชียได้ อย่างตอนที่ทาง Tripadvisor เข้ามา เขาก็ดูไว้หลายๆ บริษัท สุดท้ายก็เลือกที่จะให้ Eatigo เป็นเรือธง เพื่อขยายธุรกิจให้มากที่สุดเท่าที่เป็นไปได้ และการที่มี Tripadvisor เข้ามา มันค่อนข้างมีประโยชน์ในการที่จะช่วยเหลือในเรื่องคู่แข่งด้วย เพราะเรามี Partner ค่อนข้างที่จะใหญ่ทำให้คู่แข่งอาจจะต้องระมัดระวังในแข่งขันกับเรามากขึ้น

8 | ในอนาคตมีแผนการที่จะแตกไลน์ธุรกิจไปในด้านอื่นๆไหม

ในตอนนี้ Eatigo เป็นธุรกิจอาหาร ซึ่งจริงๆ ธุรกิจอาหารมันไม่ได้มีแค่การจองอย่างเดียว และด้วยการลงทุนล่าสุดที่ได้มาก็อาจจะเปิดโอกาสให้บริษัทได้ดูนอกจากเรื่องการจองร้านอาหาร ก็มี Food Ecosystem ด้วย ขณะเดียวกันเราก็ต้องดูว่า Ecosystem จะมีอะไรบ้าง เป็นอาหารอย่างเดียวหรือเปล่า อย่างที่บอกครับว่าเราทำบริษัท เราก็พยายามศึกษาดูว่ามีช่องทางไหนบ้าง เพราะสุดท้ายแล้วบริษัทต้องโต 4-7 เท่า เราจะกลับมาตรงนี้ตลอด เพราะฉะนั้นก็ไปดูว่า ถ้าเกิดว่าอัตราการเติบโตมันเริ่มช้าลง มันมีธุรกิจตัวไหนมั้ยที่มันจะสามารถนำรายได้ขึ้นมาและทำให้อัตราเติบโตของบริษัทคงที่

9 | eatigo เห็นอะไรในตลาดอินเดีย ถึงได้เลือกที่จะรวมตัวกับบริษัท Ressy 

ใน 5 ประเทศที่เรามีอยู่ อินเดียจะเป็นประเทศที่ค่อนข้างจะมีความแตกต่างในเรื่องเชิงวัฒนธรรมและพฤติกรรมผู้บริโภคที่แตกต่างกัน ตอนนั้นทางบริษัทก็เลยได้ไป acquire บริษัทที่ชื่อ Ressy มาซึ่งเขาได้ทำร้านอาหารอยู่แล้ว ซึ่งพวกเราคิดว่าการที่จะไปเริ่มจ้างพนักงานนับตั้งแต่หนึ่งใหม่ มันอาจจะเป็นเรื่องที่ค่อนข้างยาก  เลยคิดว่าจะเป็นลักษณะที่จะไป acquire บริษัทเขาขึ้นมา เพื่อให้เขาเป็นฐานในการเจริญเติบโต และเราก็อยากจะรู้ด้วยว่าการที่เริ่มธุรกิจแบบนับหนึ่งหรือการที่เราไปซื้อบริษัทมามันมีข้อแตกต่างกันยังไง ก็ต้องลองทดสอบไปหลายๆแบบดู ณ ตอนนี้เราเปิดมาแค่ 6 ประเทศเท่านั้นเอง ยังอยู่ในช่วงที่สามารถลองผิดลองถูกได้ ก็เลยอยากจะลองครับ

10 | มีแผนการจะขยายตลาดไปในประเทศเพื่อนบ้านไหม

มีครับ ช่วงนี้ก็มีแพลน อย่างที่ได้เงินมาส่วนนี้ก็จะแบ่งเป็นสองส่วนที่ต้องทำ ก็คือขยายไปประเทศเพื่อนบ้านแต่ก็อยู่ในเอเชียแปซิฟิก อย่างที่สองก็คือว่าเราจะทำให้ Head Quater เพราะเมื่อก่อน Head Quater เราก็จะดูแค่ 6 ประเทศ เราต้องสร้างให้ Head Quater ดูแลได้เป็น 10 ประเทศ

11 | คุณหลุยส์มองบริษัทตัวเองในอีก 5 ปีว่าเป็นอย่างไร เติบโตไปอีกแค่ไหน 

อย่างที่บอกว่า 5 ปีมันยาวนานมากสำหรับธุรกิจ Start up ณ ตอนนี้ เรามีเป้าของแต่ละปี แต่ละปีที่ค่อนข้างชัดเจนว่าทุกปีเราต้องโตประมาณ 4 – 7 เท่า เราต้องโตให้ได้ เราไม่รู้หรอกว่า ณ วันนั้น จะมีโอกาสอะไรเข้ามา แต่เรารู้ว่าถ้าสามารถโตได้ในอัตรานี้ทุกๆปีแล้วโอกาสก็จะเข้ามาเอง ถึงบอกไปตอนนี้ก็ไม่รู้อยู่ดีว่าจะเกิดอะไรขึ้น แต่ถ้าเรารู้ว่าเราสามารถโตได้ในอัตราเท่านี้ โอกาสก็จะเข้ามาเอง

12 | คิดว่า Eatigo มีโอกาสเป็น Unicorn ของวงการ Start up ไทยไหม

จริงๆแล้วต้องถามอย่างนี้มากกว่าว่าในการทำธุรกิจไซส์ขนาดนี้ มันไม่ใช่ว่าทางเลือกเราอยากจะเป็นหรือเปล่า เราจะต้องพิสูจน์ให้ได้ว่าเราจะเป็นอยู่แล้ว ในมุมมองของนักลงทุนครับ เพราะว่าเขาก็อยากจะลงทุนในบริษัทที่สามารถเป็น Unicorn ได้ ฉะนั้น ถ้าเกิดว่าทางนักลงทุนเขาอยากให้เราเป็น Unicorn เราก็ต้องสามารถที่จะโชว์ตัว Roadmap ของเราเนี่ยว่าเราสามารถเป็น Unicorn ได้เหมือนกัน  เป็นได้ไม่ได้ก็อีกเรื่อง แต่ทางเราก็จะทำทุกๆอย่างที่ทำได้อยู่แล้ว เพราะอย่างที่บอกว่าถ้ามันโต 4-7 เท่าเรื่อยๆอย่างนี้ วันนึงมันก็ต้องถึง แต่ว่าเราพยายามไม่มองไกลเกินไป พยายามทำวันนี้ให้ดีที่สุด

13 | แล้วภาพรวมของวงการ Start up ในประเทศไทยในสายตาของคุณหลุยส์นั้นเป็นอย่างไร 

ผมรู้สึกดีใจนะที่ในวงการ Start up มีการตื่นตัวกันมากขึ้น เพราะเชื่อว่าความรู้ความสามารถของคนที่ทำ Start up มันไม่ได้อยู่ในวงการ Start up อย่างเดียว สังเกตว่าพวกองค์กรใหญ่ๆ พวก SCG Ogilvy หรือว่าพวกแบงค์จะมาหาพวกพนักงานที่มีประสบการณ์ Start up เพราะเราเชื่อว่ามันเป็นวิธีการทำงานใหม่ๆที่มันสามารถเร่งอัตราการเติบโตได้ แต่ถ้าเกิดเปรียบเทียบกับประเทศเพื่อนบ้าน ความเป็นจริงก็คือว่าเราก็ยังมีความรู้และประสบการณ์สู้ต่างชาติไม่ได้ ถูกไหม ในเมื่อประเทศอื่นเขาอาจมี Unicorn กันเยอะแยะแล้วแต่เรายังไม่มี ฉะนั้นถึงเราจะมีคนที่มีความรู้ในเชิงทฤษฎี Start up ค่อนข้างเยอะ แต่อาจจะขาดคนที่มีความรู้ทฤษฎีปฏิบัติ คนที่ทำได้จริง มาถึงวันนี้ eatigo อาจจะเป็น Start up แนวหน้าของประเทศ การที่เรามาถึงตรงนี้แล้ว ก็ต้องแชร์ความรู้ สิ่งที่มีไปให้ Start up รุ่นใหม่ๆที่กำลังจะเข้ามาด้วย เพราะว่าจริงๆการทำ Start up มันไม่ใช่มีแค่ทฤษฎีเพียงอย่างเดียว มันอาจจะต้องมีความรู้ในการทำด้วย พูดก็เป็นอีกเรื่องหนึ่งปฏิบัติมันก็เป็นอีกเรื่องหนึ่ง  ผมคิดว่า ณ ตอนนี้ คนที่เข้าใจความยากของ Start up ยังมีไม่เยอะ แต่ว่าวันนึงมันก็จะถึง จะต้องเริ่มจากสักที่ ถ้าเทียบกับประเทศอื่นแล้ว gap ระหว่างทฤษฎีกับปฏิบัติของเรายังค่อนข้างเยอะอยู่ แต่ก็คิดว่ามาถูกทางแล้ว อาจจะต้องเอาคนที่เคยทำมาแล้วเข้ามาเพื่อปลูกฝังพื้นฐานในเรื่องปฏิบัติ

14 | ส่วนตัวคุณหลุยส์มีการจัดการเวลาในเรื่องของการทำงานกับชีวิตส่วนตัวอย่างไร (Work-life-balance) 

จริงๆแล้วมันเป็นอย่างนี้ บริษัทช่วง 3 ปีแรกจะยุ่งมาก แต่ก็ถือว่าเป็นเรื่องปกตินะ ชาเลนจ์มาก เพราะพนักงานน้อย ทุกอย่างมันต้อง hand on แต่พอบริษัทมันเริ่มโตขึ้น เราในฐานะที่เป็นผู้ก่อตั้ง เป็นกรรมการ จะพยายามไม่ไปยุ่งกับงานของพนักงานมากเกินไป เพราะแต่ละคนที่เราจ้างมาก็มี ความรู้ ความสามารถ ถ้าเราไปทำแทนเค้า เราจะจ้างเขาไปทำไม  ผมจะดูในเรื่องของการระดมทุนว่าเราจะพัฒนาธุรกิจไปทางไหนมากกว่า ฉะนั้นถามถึงเรื่องความยุ่ง สมัยก่อนอาจจะต้องเข้าไปลงไม้ลงมือเยอะ แต่ตอนนี้เราอาจจะเป็นกลยุทธิ์กันมากขึ้น จริงๆ คนที่เป็นเจ้าของกิจการ ข้อเสียเปรียบก็คือว่าคุณไม่สามารถเปลี่ยนงานได้ถ้าธุรกิจมันไม่ดี แต่ถ้าเราเป็นลูกน้อง วันนึงกลับบ้านไป เรามีสิทธิที่จะเปลี่ยนงาน ถ้างานมันเครียดมาก เราอยากจะเปลี่ยนงานเมื่อไรก็ได้ ฉะนั้นปัญหาทุกๆ อย่างที่เข้ามาถ้าลูกน้องไม่สามารถจัดการกันได้ เจ้าของกิจการก็ต้องจัดการให้ได้ และความยากของมันก็จะมีมากขึ้นเรื่อยๆ ความเครียดก็จะอยู่เท่าเดิม ฉะนั้นวันเสาร์ อาทิตย์ ค่อนข้างสำคัญ ต้องหาอะไรทำที่มันรีแลกซ์ บางคนบอกว่า Weekend ก็ต้องไปเที่ยวต่างจังหวัด ชอบถ่ายรูปก็ไปถ่ายรูป ชอบร้องเพลง แต่สำหรับผมเลือกใช้เวลาส่วนตัวกับการเล่นเกมสักชั่วโมง สองชั่วโมง เพราะเราทุกคนมีจุดรีแลกซ์ที่ต่างกันไป

15 | ฝากถึงคนรุ่นใหม่ที่สนใจอยากทำ Start up

คิดว่าจะต้องรับมือ เตรียมตัวเตรียมใจกับความยากว่ามันมีโอกาสสูงมากในการล้มเหลว อย่างตัวทีมของพี่ ไม่ได้กินเงินเดือนมาตั้ง 26 เดือน ฉะนั้นต้องถามตัวเองก่อนว่ามีความพร้อมที่จะต้อนรับความเสี่ยงที่จะเข้ามาไหม แต่ถ้ายากแค่ไหนก็จะทน ก็ลองดูได้ครับ เพราะคิดว่าต่อให้ธุรกิจประสบความสำเร็จหรือไม่สำเร็จ แต่ที่สำคัญที่สุดก็คือประสบการณ์ที่จะได้เรียนรู้กับมันมากกว่า ความรู้ที่เราได้ มันจะอยู่ติดตัวกับเราตลอดไป ไม่ว่ายังไงก็ลองทำดูครับ

16 | สุดท้ายนี้ MOVER อยากให้คุณหลุยส์ฝากแอพ eatigo กับคนอ่านของเราสักหน่อย

ครับ ก็สำหรับคนที่ไม่เคยลองใช้แอพ eatigo ผมก็อยากให้ลองดูเพราะว่าส่วนลดกับร้านอาหารที่เรามีอะไรพวกนี้เป็นที่น่าดึงดูดมาก แล้วก็ใช้ง่ายแค่เปิดแอพพลิเคชั่น กดปุ๊ปจองปั๊ป บางที่ส่วนลด ดีลดีๆ อยู่ตรงหน้าแล้วไม่อยากให้มองผ่านไปครับ 

ไม่ง่ายเลยกว่า Eatigo จะสามารถมาไกลได้ขนาดนี้และกลายเป็นแอพที่ใครต่อใครให้ความสนใจ แน่นอนว่าคุณหลุยส์ได้ผ่านอะไรมามากมายคงเกินกว่าที่พวกเราทุกคนจะจินตนาการได้ สุดท้ายนี้ Mover จึงอยากจะฝากถึงทุกคนที่มีความคิดจะริเริ่มอะไรใหม่ๆ หรือลงทุนธุรกิจใดๆก็ตาม ไม่ว่ามันจะยากสักแค่ไหน จะสำเร็จหรือไม่ อยากให้อดทนและลองดูสักครั้ง เพราะบางทีผลกำไรที่สำคัญที่สุดของการลงทุนครั้งนี้อาจจะไม่ใช่เงินตราแต่เป็นประสบการณ์ที่เราจะได้เก็บเกี่ยวในช่วงเวลาหนึ่ง เหมือนที่คุณหลุยส์ได้ก้าวผ่านจุดนั้นมาแล้วเช่นกัน


บทความนี้เรียบเรียงขึ้นโดย ทีมงาน MOVER

mover.in.th@gmail.com
Tags