Type to search

Business Make A Move

รู้ก่อนเจ๊ง! 3 ประเภทของดอกเบี้ยยอดฮิตที่คุณควรศึกษาให้ดีก่อนที่หนี้จะบานท่วมหัว

Share

คุณคงเคยได้ยินคำที่บอกว่า “เงิน..ไม่ใช่ทุกอย่างในชีวิต” แต่ยังไงก็ตามเราคงปฏิเสธไม่ได้ว่าชีวิตเรานั้นก็ยังจำเป็นต้องดำเนินไปได้ไปข้างหน้าด้วยปัจจัยที่เรียกว่า เงิน  อยู่ดีนั่นแหละ เพราะปัจจัย 4 สิ่งในการดำรงชีวิตเกือบทุกอย่างนั้นล้วนหาต้องใช้เงินหามาทั้งนั้น แต่ด้วยรูปแบบการใช้ชีวิตที่เหมือนจะเน้นหลักการทุนนิยมมากขึ้นจากเมื่อก่อน รวมทั้งยังมีสิ่งเร้าต่าง ๆ เข้ามาช่วยให้เราสามารถได้ทุกอย่างมาง่ายดายมากขึ้น แต่! อาจจะต้องมีข้อตกลงบางอย่างเช่นการต้องนำเงินในอนาคตมาใช้ ซึ่งลำพังจะใช้เงินให้พอไปแต่ละเดือนด้วยค่าครองชีพที่สูงขึ้นๆ ทุกวันก็ว่ายากแล้ว ถ้าต้องเก็บเงินเพื่อนำเงินก้อนนี้ไปใช้หนี้ที่ก่อไว้ในอดีตอีกก็คงจะไม่ง่ายเลย แล้วแบบนี้จะทำอย่างไรกันดี?

คำตอบก็คือการ กู้เงิน” ไงล่ะ! ใช่แล้ว…แต่บนโลกนี้จะมีหรือใครที่จะใจดีมาให้เรากู้เงินฟรี ๆ โดยไม่คิดอะไร ซึ่งคำตอบก็แน่นอนว่าคงไม่มีหรอก สถาบันทางการเงินต่าง ๆ ที่ปล่อยให้เรากู้เงินไปใช้นั้นก็ต้องคิดบวกลบคูณหารค่าความสุขจากเงินในอนาคตมาเป็น ดอกเบี้ย ผ่อนส่งในแต่ละเดือนนั่นเอง แต่ก็อยู่ที่ว่าสินเชื่อแบบไหนจะคิดดอกเบี้ยมากหรือน้อยแค่ไหนเท่านั้นเอง แต่เคยรู้กันหรือไม่ว่า ดอกเบี้ยที่สถาบันการเงินต่าง ๆ เรียกเก็บจากเรานั้นมีวิธีคิดอย่างไร แล้วมันคุ้มหรือไม่ที่เราจะเอาเงินในอนาคตของเรามาใช้เพื่อแลกกับดอกเบี้ยที่เราจะต้องจ่าย วันนี้เราสรุปมาให้อ่านกันแบบเข้าใจง่ายแล้ว

โดยปกติแล้วคนส่วนใหญ่ที่จะเป็นหนี้ก้อนโตก็มีจุดเริ่มต้นมาจากการที่ไม่ประเมินตัวเองแบบตรงไปตรงมา ซึ่งเราอาจจะคิดว่ารายรับต่อเดือนที่เรามีอยู่นั้นพอใช้พอส่งแล้ว แต่ในความเป็นจริงมันอาจจะยังไม่มากเท่าไหร่นัก พอเวลาที่อยากได้อะไรที่มีราคาสูงก็จะเลือกใช้วิธีผ่อนเอา ไม่ว่าจะเป็นโปรที่มีการผ่อน 0% ยาวนาน 10 เดือนหรืออะไรก็แล้วแต่ ทำให้เกิดเป็นหนี้ก้อนแรกทันที

ดังนั้นหนี้ก้อนแรกที่มักจะเกิดขึ้นก็คงจะหนีไม่พ้นจาก บัตรเครดิตหรือบัตรกดเงินสดที่คนทั่วไปมักจะเอาไว้กดเงินสดออกมาหมุนในยามที่หาเงินไม่ทัน ส่วนหนี้ก้อนที่สองมักจะมากับการซื้อรถยนต์ ซึ่งเป็นหนี้ในระยะยาว 3-7 ปีในอัตราดอกเบี้ยที่ไม่น้อยเลยทีเดียว และสุดท้ายกาลเวลาผ่านไปหนี้ก้อนใหญ่ที่สุดก็จะมาในรูปแบบของบ้าน ที่ต้องมาเป็นภาระพันผูกไปอีกเป็นนานหลายสิบปี ทีนี้เรามาดูกันตามลำดับดีกว่าว่าหนี้ก้อนใหญ่ที่เราพูดถึงมาทั้ง 3 อย่างนั้น ถ้าคำนวนดี ๆ แล้วดอกเบี้ยที่จ่ายออกไปจะเป็นจำนวนเท่าไร่และคุ้มค่าหรือไม่

1 | ดอกเบี้ยจากบัตรกดเงินสด / บัตรเครดิต

1.1 | บัตรกดเงินสด

ในบรรดาสินเชื่อที่บุคคลทั่วไปจะหามาได้อย่างถูกกฎหมายและจับต้องได้โดยไม่ต้องรอเงินเดือนสูงนัก ก็ต้องอยู่ในรูปแบบที่เรียกกันว่าบัตรกดเงินสด เพราะพนักงานเงินเดือนธรรมดาอาจจะไม่จำเป็นต้องถึงหลักหมื่นก็สามารถสมัครบัตรเหล่านี้ได้ การมีสลิปเงินเดือนก็เหมือนเป็นใบเบิกทางให้คุณได้มีโอกาสใช้เงินในอนาคต รูดซื้อสิ่งของที่คุณอยากได้หรือถ้าเงินขาดมือก็ยังสามารถกดมาแก้ใช้ได้ทันที ซึ่งฟังแล้วอาจจะดูสวยหรูดูดี แต่รู้หรือไม่ว่าด้วยความง่ายในการทำบัตร มันกลับต้องแลกมาด้วยอัตราดอกเบี้ยที่สูงเสียดฟ้า บางธนาคารก็เริ่มเก็บดอกเบี้ยกันอยู่ที่ 24 – 28% ต่อปีกันเลยทีเดียว!

แต่ในตอนนี้วงเงินที่แต่ละแบงก์จะอนุมัติต้องอยู่ภายใต้มาตรการที่ธนาคารแห่งประเทศไทยกำหนดเริ่มใช้ตั้งแต่ 1 ก.ย. 2560 เป็นต้นมา ให้ผู้ที่มีเงินเดือนต่ำกว่า 30,000 บาท จะได้รับอนุมัติวงเงินไม่เกิน 1.5 เท่าของเงินเดือน และใครที่มีเงินเดือนสูงกว่า 30,000 บาท จะได้รับอนุมัติวงเงินไม่เกิน 5 เท่าของเงินเดือน และจำกัดว่าแต่ละคนต้องถือบัตรประเภทนี้ได้ไม่เกิน 3 ใบเท่านั้น! 

ซึ่งนี่ถือเป็นข้อดีเพราะไม่อย่างนั้นแล้ว ถ้าเรามีวงเงินที่ไม่จำกัด มีบัตรให้รูดเต็มมือไปหมดแบบเมื่อก่อนนั้น จากการรูดซื้อของราคาเพียงหลักหมื่นก็อาจจะโดยดอกเบี้ยบานไปจนแตะหลักแสนแบบไม่รู้ตัว 

1.2 | บัตรเครดิต

สำหรับกลุ่มลูกค้าที่มีฐานเงินเดือนสูงขึ้นมาสักหน่อย ส่วนใหญ่สถาบันทางการเงินจะให้พนักงานบริษัททำบัตรเครดิตได้ง่าย ๆ อนุมัติรวดเร็ว หากมีเงินเดือนเกิน 15,000 บาทขึ้นไป และจะให้วงเงินที่สามารถใช้ได้ตามนโยบายที่ธนาคารแห่งประเทศไทยได้ประกาศออกมาเริ่มบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 1 ก.ย. เช่นกันดังนี้

  • รายได้ต่ำกว่า 30,000 บาท / เดือน ได้วงเงินไม่เกิน 1.5 เท่าของรายได้

  • รายได้ 30,000 – 50,000 บาท / เดือน ได้วงเงินไม่เกิน 3 เท่าของรายได้

  • รายได้ 50,000 บาท / เดือนขึ้นไป ได้วงเงินไม่เกิน 5 เท่าของรายได้

โดยที่ไม่มีการจำกัดจำนวนบัตรเครดิตที่สามารถถือได้แต่อย่างใด และในตอนนี้อัตราดอกเบี้ยก็ถูกกำหนดให้ลดลงมาจากเมื่อก่อนจากที่ไม่เกิน 20% ต่อปีให้เหลือ 18% ต่อปีแล้ว

อย่างที่ทราบกันอยู่แล้วว่าด้วยข้อดีของการมีบัตรเครดิตนั้นก็มีมากมายเช่นสามารถซื้อของที่เราอยากได้ทันที โดยบางทีสินค้าก็มีโปรผ่อน 0% ให้อุ่นใจได้ขั้นนึเช่น 0% 10 เดือน เราก็จะได้แบ่งจ่ายไปสบาย ๆ นานถึง10 เดือนโดยไม่ต้องเสียดอกเบี้ยอะไรเพิ่ม หรือบางคนใช้รูดสำหรับโปรโมชั่น Cash Backที่ให้เราได้รับเงินคืนเป็นสัดส่วนตามราคาของที่รุดซื้อไป ซึ่งถ้าเราใช้เงินสดจ่าย ก็จะไม่ได้ส่วนลดตรงนี้ หรืออีกรูปแบบหนึ่งที่คนรักการเดินทางมักชอบใช้กันก็บัตรที่ร่วมกับสายการบินต่าง ๆ เพราะเมื่อใช้รูดซื้อของไป เราก็จะได้สะสมไมล์ไปแลกเป็นบริการเสริมองสายการบินได้อีกต่อหนึ่ง

ตัวอย่างเช่น บัตรเครดิตซิตี้ แคชแบ็ก แพลตตินั่มของ Citibank ได้ร่วมกับร้าน Boots และ Watsons ที่จะได้รับเงินคืนเข้าบัตร 5% ทุกครั้งที่ใช้จ่ายผ่านบัตรเครดิตนี้ (จำกัดเงินคืนไม่เกิน 2,000 บาท / รอบบัญชี) และแต่ละบัตรก็จะมีโปรโมชันดีแบบนี้ให้คุณเลือกอีกมากมาย การใช้จ่ายผ่านบัตรนั้นถ้าจะมองว่าคุ้มค่า ก็ถือว่าเป็นข้อดีถ้าคุณใช้จ่ายอย่างมีสติและรู้จักใช้โปรโมชันต่าง ๆ ให้เกิดประโยชน์สูงสุด

แต่แน่นอนว่าทุกอย่างล้วนมีข้อดีก็ต้องมีข้อเสียเป็นเรื่องธรรมดา เพราะหากคุณใช้จ่ายโดยรูดเต็มวงเงินโดยที่ไม่มีโปรผ่อน 0% แล้วดันไม่สามารถเคลียร์รายจ่ายได้ครบหมดตามจำนวนเต็มที่รูดไว้ เราก็จะโดนดึงเข้าสู่วังวนแห่งการเป็นหนี้โดยอัตโนมัติตามเรทที่เค้าแจ้งเราไว้ ซึ่งนั่นก็คือ 18% จัดว่าเป็นเรทที่สูงมากเมื่อเทียบกับดอกเบี้ยที่ได้จากการที่เราฝากธนาคาร ยังไม่นับส่วนที่เราหักจ่ายเป็นขั้นต่ำในแต่ละเดือน เพราะยอดส่วนที่เหลือทั้งหมดก็จะกลายเป็นเงินต้นทันทีและคิดทบไปเรื่อย ๆ จนกว่าจะปิดหนี้ได้ นี่แหละที่ทำให้บางคนรูดจนเพลินมือ รู้ตัวอีกทีมีหนี้บัตรเครดิตเหยียบแสน จนต้องใช้วิธีเอาบัตรนั้นรูดมาโปะบัตรนี้ เอาบัตรนี้มาปิดบัตรนั้นวนกันไปมา หาทางออกไม่ได้ซักที ดังนั้นเราขอสรุปสั้น ๆ ง่าย ๆ เลยว่า “บัตรเครดิตมีไว้ใช้ได้ แต่ต้องจ่ายให้ครบจบเป็นเดือน ๆ ไปจะดีที่สุด”

2 | ดอกเบี้ยรถยนต์

ต้องทำความเข้าใจกันก่อนว่าดอกเบี้ยรถยนต์ค่อนข้างจะมีเรทที่หลากหลายแล้วปัจจัยอื่น ๆ ประกอบเช่นรุ่น แบรนด์ ระยะเวลาการผ่อน และเงินดาวน์ ซึ่งทั้งนี้ก็อาจจะยืดหยุ่นได้อีกตามโปรโมชัน เช่นถ้าคุณวางเงินดาวน์ค่อนเยอะ (มากกว่า 40% ขึ้นไป) ก็จะมีโอกาสต่อรองดอกเบี้ยให้ต่ำลงกว่าปกติ หรือถ้าคุณไม่ได้ซีเรียสว่าจะต้องเป็นรุ่นใหม่ล่าสุดเท่านั้น การเลือกรถรุ่นโฉมเก่าในช่วงที่กำลังจะมีรถโฉมใหม่เปิดตัวออกมา ก็จะทำให้คุณได้ดอกเบี้ยถูกและของแถมอีกเพียบ เพราะทางศูนย์รถก็ต้องการผลักดันรถรุ่นเก่าที่สต็อกไว้ให้ขายได้เยอะที่สุด

คุณอาจสามารถต่อรองขอดอกเบี้ย 0% เลยก็เป็นไปได้ แต่ดอกเบี้ยรถจะเป็นการคิดดอกเบี้ยแบบคงที่ นอกจากว่าผ่อนไป ๆ แล้วคุณจะมีปัญหาต้องมีการมารีไฟแนนส์รถ เพื่อเลือกสินเชื่อที่ให้ดอกเบี้ยต่ำกว่าดอกเบี้ยที่คุณผ่อนอยู่ตอนนี้ ซึ่งก็ต้องพิจารณากันให้ถี่ถ้วนอีกทีว่าวิธีไหนที่จะช่วยให้คุณเบาภาระหนี้สินลงไปได้ แต่จุดที่ต้องจำให้ขึ้นใจก็คือ ดอกเบี้ยรถเป็นดอกเบี้ยที่คงที่ และคิดตั้งแต่วันแรกที่คุณเซ็นชื่อตกลงซื้อรถด้วยดอกเบี้ยนั้น ๆ 

ดังนั้นไม่ว่าคุณจะเอาเงินไปโปะเพิ่มดอกเบี้ยก็จะเป็นเงินก้อนเดิม ไม่ใช่ลดเงินต้นแล้วจะได้ลดดอกเบี้ยเหมือนกู้ซื้อบ้าน ดังนั้นก่อนที่คุณจะตกลงซื้อรถซักคัน ต่อรองเรื่องดอกเบี้ยให้ดี ให้ถูกที่สุดเท่าที่คุณจะต่อรองได้ เพราะเงินดอกเบี้ยก้อนนั้น จะอยู่คงทนติดตัวคุณอาจจะไปอีกนานเท่าที่คุณตกลงเซ็นสัญญากับทางไฟแนนซ์รถที่คุณซื้อนั่นเอง

3 | ดอกเบี้ยบ้าน

บ้านถือเป็นหนี้ก้อนใหญ่ที่สุดและจะอยู่กับเราแบบยาวนานสุด ๆ เช่นกัน เพราะสินเชื่อบ้านจะให้เราผ่อนได้สูงสุดถึง 30 ปีเลย ซึ่งส่วนใหญ่แล้วแต่ละสถาบันทางการเงินเค้าจะจัดโปรโมชั่นดอกเบี้ย 3 ปีแรกให้น่าดึงดูดใจ แต่หลังจากผ่านปีที่ 3 ไปก็จะเป็นอีกเรทที่สูงขึ้นสักหน่อย เพราะสินเชื่อบ้านจะสามารถรีไฟแนนซ์โดยไม่โดนค่าปรับ แต่คุณรู้หรือไม่ว่าถ้าคุณซื้อบ้านหลังละ 2 ล้านบาท ระยะเวลากู้ 30 ปี ดอกเบี้ยเฉลี่ย 7.50% ต่อปี ธนาคารจัดมาให้คุณผ่อน 14,000 บาท/เดือน

เมื่อคุณผ่อนแบบนี้ไปเรื่อย ๆ จนครบ 30 ปี เงินที่คุณผ่อนไปทั้งหมด จะเป็น 5 ล้านบาท เรียกได้ว่าทบกันเป็นเท่าตัว เท่านี้คุณก็คงจะเห็นถึงพลังของคำว่า ดอกเบี้ย กันแแล้วใช่มั้ยครับ? ซึ่งเคล็ดลับที่จะทำให้คุณผ่อนบ้านได้หมดเร็วและช่วยประหยัดดอกเบี้ยได้ในระดับหลักแสนนั้นก็คือการจ่ายเงินผ่อนเพิ่มเพื่อตัดเงินต้น โดยอาจจะเพิ่มเดือนละหลักพันบาท เช่นจากที่ปกติผ่อนเดือนละ 14,000 เพิ่มเป็นผ่อนเดือนละ 16,000 บาท วิธีการนี้จะช่วยให้คุณประหยัดดอกเบี้ยไปได้หลายแสนเลยทีเดียว เพราะการคิดดอกเบี้ยบ้าน ไม่ได้คิดเป็นดอกเบี้ยคงที่เหมือนดอกเบี้ยรถ แต่เป็นรูปแบบการลดต้นลดดอกนั่นเอง

thekinfolkhome.com

มาถึงตรงนี้เชื่อว่าหลายคนน่าจะพอนึกภาพออกแล้วใช่ไหมว่า รอบตัวมนุษย์เงินเดือนอย่างเรา ๆ นั้นถูกรายล้อมไปด้วยสิ่งล่อลวงมากมายที่จะจูงเราไปสู่การนำเงินในอนาคตไปใช้ แถมยังมีสถาบันการเงินที่ยื่นมือมาช่วยให้เราเป็นเจ้าของในสิ่งที่อยากได้ง่ายขึ้นไปอีก แต่ต้องแลกกับการผลักภาระไปทิ้งไว้ในอนาคตด้วย ดังนั้นสุดท้ายแล้วก็คงต้องขึ้นอยู่กับเพื่อน ๆ ทุกคนว่าจะควบคุมและเตือนสติตัวเองได้มากแค่ไหน เพราะการนำเงินในอนาคตมาใช้ก็มีทั้งข้อดีข้อเสียตามที่กล่าวไป ยังไงก็ขอให้มีความสุขกับการใช้ชีวิตแบบปราศจากหนี้ครับ


บทความนี้เรียบเรียงขึ้นโดย ทีมงาน MOVER

mover.in.th@gmail.com
Tags